เมื่อจีนเดินหน้า นโยบายลูกสามคน (2)

20 มิ.ย. 2564 | 06:50 น.

เมื่อจีนเดินหน้า นโยบายลูกสามคน (2) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

ตอนที่แล้ว ผมพาท่านผู้อ่านไปเจาะลึกเกี่ยวกับนโยบายลูกคนเดียวที่รัฐบาลจีนใช้แก้ไขปัญหา “ความไม่พอมี ไม่พอกิน” ในห้วงเวลาของการเปิดประเทศระยะแรก ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จในการควบคุมจำนวนประชากรได้เป็นอย่างมาก แต่รัฐบาลจีนก็ต้องเผชิญกับปัญหาและความท้าทายใหม่คู่ขนานกันไป วันนี้เราจะพาไปดูการสานต่อนโยบายดังกล่าวกันในยุคหลังกัน ...

การดำเนินนโยบายลูกคนเดียวของรัฐบาลจีนต่อเนื่องถึงราว 36 ปี ถือได้ว่าเป็นนโยบายวางแผนครอบครัวที่เข้มงวดและต่อเนื่องยาวนานมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลก 

เมื่อผู้หญิงจีนตั้งครรภ์ ครอบครัวชาวจีนต้องผ่านกระบวนการขอรับเอกสารบริการวางแผนครอบครัว และเมื่อคลอดลูกแล้ว ครอบครัวต้องคุมกำเนิดเพื่อให้เป็นไปตามนโยบาย

ในช่วงครึ่งหลังของนโยบายดังกล่าว การดำเนินแคมเปญของภาครัฐที่พยายามเปลี่ยนทัศนคติของครอบครัวชาวจีนให้มีลูกน้อยลง ดูจะมีประสิทธิภาพยิ่ง ส่งผลให้หนุ่มสาวจีนรุ่นใหม่ไม่ต้องการมีลูกมากดังเช่นในอดีต และทำให้จีนขยับเข้าสู่การเป็นสังคมคนแก่ 

ยุคผ่อนคลายนโยบายลูกคนเดียว ... ชีวิตเริ่มอยู่ดีกินดี รัฐบาลจีนตระหนักดีว่า สภาพการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาเชิงโครงสร้างประชากรศาสตร์ และอาจทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอนาคต จึงตัดสินใจผ่อนคลายนโยบายลูกคนเดียวในปลายปี 2011 โดยอนุญาตให้สามี-ภริยาที่ต่างเป็น “ลูกโทน” ของครอบครัวในยุคลูกคนเดียวในหลายพื้นที่ สามารถมีลูกได้สองคน ซึ่งอาจถือเป็นช่วงเปลี่ยนถ่ายจากนโยบาย “ลูกคนเดียว” สู่ “ลูกสองคน”

อย่างไรก็ดี การผ่อนคลายนโยบายในครั้งนั้นไม่สามารถจูงใจให้ชาวจีนมีลูกมากขึ้นได้ตามเป้าหมาย อัตราการเกิดที่มีแนวโน้มลดลงต่อไป ซึ่งส่วนสำคัญเกิดขึ้นจากมุมมองเกี่ยวกับขนาดครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไป และแรงกดดันด้านเศรษฐกิจ 

 

เพียงไม่ถึง 2 ปีหลังจากนั้น รัฐบาลจีนได้ประกาศเดินหน้ายกเครื่องนโยบายลูกคนเดียวอีกระลอก โดยกำหนดเงื่อนไขว่า หากสามีและหรือภริยาคนใดคนหนึ่งเป็น “ลูกคนเดียว” ของครอบครัว สามีภริยาจะสามารถมีลูกได้ 2 คน

แต่ดูเหมือนจำนวนทารกเกิดใหม่ก็ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลจีนกำหนดไว้ โดยจีนมีทารกเกิดใหม่เพิ่มมากขึ้นจากเฉลี่ยปีละ 16 ล้านคน เป็น 17 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นราว 1 ล้านคนต่อปี และเพิ่มสูงขึ้นเพียงเล็กน้อยในระยะยาว

จำนวนทารกเกิดใหม่ดังกล่าวก็อาจไม่มากพอที่จะทำให้โครงสร้างประชากรเปลี่ยน แปลงได้ทันการณ์ หลายฝ่ายจึงพยายามเรียกร้องการกำหนดนโยบาย “ลูกสองคน” เต็มรูป 

นโยบายลูกสองคนเต็มรูป ... การปรับเปลี่ยนนโยบายครั้งใหญ่ ภายใต้อัตราการเกิดที่ต่ำดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญในช่วงนั้นก็ประเมินว่า หากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป ก็คาดว่าจีนจะมีจำนวนประชากรอยู่ที่ 1,453 ล้านคนในปี 2030 และจะเพิ่มขึ้นถึงจุดสูงสุดที่ 1,600 ล้านคนในปี 2040 หลังจากนั้น จำนวนประชากรของจีนจะลดลงเหลือราว 1,385 ล้านคนในปี 2050

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังเริ่มเห็นสถิติที่เป็นอาจเป็นภัยที่น่ากลัวสำหรับสังคมจีนในระยะยาวซึ่งได้แก่ อัตราการหย่าร้างของคู่หนุ่มสาวจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับแต่ปี 2008 และในบางปีอัตราดังกล่าวยังสูงกว่าอัตราการแต่งงานของชาวจีนเสียอีก ซึ่งนั่นหมายความว่า คนจีนมีแนวโน้มที่จะมีลูกน้อยลงเร็วขึ้นอีกด้วยในอนาคต เมื่อจีนเดินหน้า นโยบายลูกสามคน (2)

ในด้านสังคม พ่อแม่ที่เคยผ่านความเหงาของการเป็นลูกคนเดียวต่างเห็นว่า การเปิดโอกาสให้ชาวจีนมีลูกสองคนนับเป็นสิ่งที่ดี แถมยังจะทำให้ลูกมีเพื่อนเล่น สั่งสมประสบการณ์การใช้ชีวิตในสังคม และไม่ทำให้เด็กจีนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นโดนตามใจจนอาจเสียคน

ด้วยเหตุนี้เอง ในเดือนตุลาคม 2015 พรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงประกาศเริ่มกำหนดนโยบาย “ลูกสองคน” ถ้วนหน้า และในทางปฏิบัติ รัฐบาลจีนก็เริ่มให้ทุกครอบครัวสามารถมีลูกได้ 2 คนนับแต่ปี 2016 

แต่การผ่อนคลายนโยบายดังกล่าวก็ได้ผลเพียงระยะสั้น โดยในปี 2016 จีนมีทารกเกิดใหม่ 17.86 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.3 ล้านคนจากปีก่อน แต่อัตราการเกิดลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องระหว่างปี 2017-2020

จีนต้องเผชิญกับทัศนคติของครอบครัวชาวจีนที่เปลี่ยนไปยึดแนวคิด “จิ๋วแต่แจ๋ว” กล่าวคือ หลายคนเห็นว่า การมีลูกเพียงคนเดียวก็มากเพียงพอหรือถึงขนาดว่าไม่ต้องการมีลูกเลยในยุคหลัง ทั้งที่ คนเหล่านี้อาจมีความพร้อมในด้านเศรษฐกิจ อายุ และอื่นๆ 

แรงกดดันด้านเศรษฐกิจและภาระในการเลี้ยงดูลูกคนที่ 2 ให้เติบโตอย่างมีคุณภาพทำให้พ่อแม่รุ่นใหม่ของจีนไม่ต้องการมีลูกเพิ่มเติมอีกคน การมีลูกคนที่ 2 เต็มไปด้วยค่าใช้จ่ายมากกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก พ่อแม่ชาวจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองใหญ่ ต่างมีความกังวลใจว่า ลูกรักอาจจะประสบปัญหาการเลี้ยงดูและการศึกษาที่เหมาะสม 

แถมสังคมจีนช่วงหลังก็เป็นลักษณะครอบครัวรายได้คู่ (Doubled-Income Family) ทำให้เวลาส่วนใหญ่ต้องถูกใช้กับการทำงานนอกบ้าน บางคนก็เหนื่อยเกินกว่าจะมีลูกคนที่ 2 และอาจต้องลาออกจากงานมาดูแลลูกเต็มเวลา ซึ่งจะทำให้รายได้ของครอบครัวลดลง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ คนจีนรุ่นใหม่จำนวนมากไม่ยอมลำบากเพิ่มขึ้นเพื่อนำรายได้มาหาเลี้ยงลูกดังเช่นในอดีตอีกต่อไป

เมื่อนโยบายลูกสองคนก็ยังไม่แรงพอที่จะเพิ่มทารกเกิดใหม่และปรับโครงสร้างประชากรของจีน ทำให้รัฐบาลจีนต้องเริ่ม “โยนหินถามทาง” ที่ประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ สภาที่ปรึกษาประชาชนแห่งชาติ และคณะกรรรมการอื่นได้เริ่มหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นหารือ และหาแนวทางในการ “ปลดล็อก” นโยบายลูกสองคน

นอกจากนี้ ตัวแปรภายนอกที่อยู่นอกเหนือการควบคุมก็ทำให้สถานการณ์ดังกล่าวย่ำแย่ลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอุบัติขึ้นของวิกฤติโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงในวงกว้าง และทำให้ปัญหาชีวิตครอบครัวของชาวจีนซับซ้อนยิ่งขึ้น 

สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ ในปี 2020 คนจีนแต่งงานในอัตราที่ลดลง ขณะที่คู่สามีภริยาก็หย่าร้างกันมากขึ้น 

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน ระบุว่า ในปี 2020 จีนมีจำนวนประชากรรวม 1,439 ล้านคน เพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำ ส่งผลให้จำนวนประชากรจีนในช่วงระหว่างปี 2011-2020 เติบโตช้าที่สุดในรอบหลายทศวรรษ 

ขณะเดียวกัน จำนวนทารกเกิดใหม่ของจีนที่แต่เดิมลดลงอย่างต่อเนื่อง ก็ดิ่งลงอย่างน่าใจหาย โดยจำนวนทารกเกิดใหม่มีอยู่เพียง 12 ล้านคน ซึ่งนับว่าเป็นระดับที่ต่ำสุดในประวัติศาสตร์นับแต่การก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน 

ขณะที่คนจีนมีอายุเฉลี่ยที่ยาวขึ้น ซึ่งทำให้หลายฝ่ายวิตกว่า จำนวนคนวัยทำงานอาจไม่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และโอบอุ้มประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้น  

หากไม่เปลี่ยนนโยบายหรือไม่มีมาตรการที่ชัดเจน จำนวนประชากรจีนคาดว่าจะแตะจุดสูงสุดในปี 2025 จากเดิมที่ประเมินไว้ว่าจะเกิดขึ้นในปี 2040 เร็วขึ้นถึง 15 ปี! รัฐบาลจีนจึงอยู่เฉยไม่ได้แล้ว

จีนจะต้องปรับเปลี่ยนนโยบายวางแผนครอบครัวครั้งใหญ่อีกครั้ง การมีลูกเพิ่มขึ้น และปรับสู่ครอบครัวใหญ่กำลังกลับมา ผมจะขอพาไปติดตามกันในตอนหน้าครับ ...

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,689 วันที่ 20 - 23 มิถุนายน พ.ศ. 2564 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

เมื่อจีนเดินหน้า นโยบายลูกสามคน (1)