ตารางชีวิตของมนุษย์สูงวัย

18 มิ.ย. 2564 | 21:20 น.

ตารางชีวิตของมนุษย์สูงวัย : คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ชีวิตคนเราย่อมหนีไม่พ้นเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งนั้น เชื่อว่าทุกท่านย่อมทราบกันดี เพียงแต่นิยามของช่วงชีวิตที่สำคัญของแต่ละวัยของคนนั้นแตกต่างกันออกไป บางท่านก็มองว่า “วัยเยาว์” ซึ่งเป็นวัยที่ต้องเรียนรู้และเป็นวัยที่ไร้เดียงสานั้นสำคัญที่สุด บางท่านก็อาจจะมองว่า “วัยหนุ่มสาว” ที่เริ่มตั้งตัวและสร้างครอบครัวนั้นสำคัญที่สุด บางท่านอาจจะมองว่า “วัยกลางคน”นั้นสำคัญ เพราะครอบครัวเริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้ว อยากจะทำอะไรก็สามารถทำได้ เพราะเงินก็เริ่มมีแล้ว ร่างกายก็อยู่ในวัยที่แข็งแรง สามารถเดินเหินไปไหนมาไหนได้ตามใจปรารถนา บางท่านก็อาจจะมองว่าช่วง “วัยชรา” ซึ่งเหล่าลูกๆได้ตั้งตัวกันหมดแล้ว เริ่มมีหลานให้ชื่นใจแล้ว เป็นวัยที่สำคัญที่สุด บางท่านอาจจะมองว่า “วัยบั้นปลาย” เป็นวัยที่สำคัญที่สุด เพราะลูกหลานจะเริ่มเติบโตกันหมดแล้ว วันเวลาที่เหลืออยู่ของตัวเองก็จะกินจะนอนกันเสียเป็นส่วนใหญ่ ทั้งหมดทั้งมวลก็อยู่ที่มุมมองของแต่ละท่านนะครับ

ในความคิดของผม ผมคิดว่าทุกช่วงชีวิตล้วนแล้วแต่มีความสำคัญทั้งสิ้น เพราะทุกช่วงเปรียบเสมือนโซ่ทุกข้อที่จะต้องร้อยติดต่อกัน หากโซ่ข้อใดข้อหนึ่งเสียหาย ย่อมทำให้โซ่เส้นนั้นไม่สมบูรณ์แน่นอน ดังนั้นทุกช่วงทุกตอนจะส่งผลถึงบั้นปลายของชีวิตทั้งนั้นครับ ผมโชคดีที่มีครอบครัวที่สมบูรณ์ เพราะเริ่มจากตัวผมเอง ที่คุณพ่อ-คุณแม่ผมท่านมองการไกลแบบทื่อๆซื่อๆ เพราะท่านไม่ได้รับการศึกษามา จึงส่งให้ผมได้รับการศึกษาแบบจีนตั้งแต่ประถมจนถึงมัธยมปลาย ส่วนปริญญาตรี-โท เป็นการใฝ่รู้ของตัวผมเอง และประสบการณ์ส่วนตัวของผม ทำให้ผมถ่ายทอดส่งต่อมาที่บุตรชายทั้งสามคนของผม ซึ่งถึงแม้เส้นทางชีวิตของผม ยังคงต้องเดินต่อไปอีกยี่สิบ-สามสิบปี แต่ผมก็อดที่จะเชื่อมั่นไม่ได้ว่า ผมจะได้ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ในโลกนี้อย่างมีความสุขที่สุดคนหนึ่งอย่างแน่นอนครับ

เรามาดูชีวิตบั้นปลายของคนญี่ปุ่นกันบ้าง ตามที่ผมได้เล่าให้ทุกท่านอ่านในตอนที่ผ่านมา ถึงบ้านพักคนสูงวัยในเมืองซึสึกะ จังหวัดมิเอะ ประเทศญึ่ปุ่นมาแล้ว ครั้งที่ผ่านมาเล่าถึงการดูแลผู้สูงวัยทางด้านร่างกายและทางด้านจิตใจ ก่อนอื่นต้องเข้าใจสังคมของชาวญี่ปุ่นก่อน ในวัยที่ยังไม่โตเต็มที่ ทุกคนต่างตั้งตารอคอยฉลอง “วันเจริญวัย”หรือภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “เซเหง็นจึกี” ความหมายคือทุกคนเมื่ออายุครบยี่สิบปี ในวันที่ 15 มกราคม ของทุกปี จะเป็นวันเฉลิมฉลองความเป็นผู้ใหญ่กัน หลังจากพ้นวันนั้นไปแล้ว คุณก็คือผู้ใหญ่เต็มตัวแล้ว ก็จะต้องดูแลรับผิดชอบตัวเอง เริ่มตั้งแต่รายได้ต่างๆ คุณจะต้องเสาะหามาเอง เวลาที่อยู่ที่บ้านพ่อแม่ คุณจะต้องช่วยแบ่งเบาภาระของทางบ้าน มีบางบ้านอาจจะต้องจ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟ ค่าอาหาร เรียกว่าค่าอยู่ค่ากินทุกอย่าง คุณต้องมีส่วนร่วมด้วยนั่นเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้ความเป็นครอบครัวจะไม่ค่อยเหมือนชาวตะวันออก หรือสังคมของคนจีนเลย เลยทำให้พอแก่ตัวลง ผู้สูงอายุมักจะอาศัยอยู่กันเองตา-ยาย ไม่มีลูกหลานมาคอยใส่ใจเท่าที่ควร หรืออาจจะเป็นเพราะวัฒนธรรมและสังคมที่จะต้องดิ้นรน ด้วยสภาพทางเศรษฐกิจ ทำให้ทุกคนต้องดิ้นรนเอาตัวรอดให้ได้ ผู้สูงอายุในสังคมญี่ปุ่นจึงเริ่มมีปัญหาในบั้นปลายของชีวิต เพราะหากตา-ยายคนใดคนหนึ่งจากไป คนที่เหลืออยู่ก็จะโดดเดี่ยวเดียวดายมาก เฮ้อ......ผมไม่อยากเป็นคนแก่ญี่ปุ่นเลยครับ

อย่างไรก็ตาม พอเข้าสู่ยุคปี 2000 รัฐบาลญี่ปุ่นได้เล็งเห็นปัญหาของผู้สูงอายุ เพราะมักจะมีข่าวให้เห็นเสมอว่า มีผู้สูงอายุเสียชีวิตในบ้านมานาน กว่าจะมีผู้พบเห็นครับ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้เริ่มโครงการ “คัยโกเฮาส์”หรือบ้านพักผู้สูงอายุ ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ ก็มีบ้านพักคนชราอยู่แล้ว แต่รัฐบาลทำเอง พอโครงการใหม่ รัฐบาลได้เปิดช่องให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการประกอบกิจการ ช่วงแรกของการประเดิมโครงการนี้ ได้ดำเนินการก่อตั้งที่กรุงโตเกียว ปรากฎว่ามีผู้สูงอายุสมัครเข้ามาพักอาศัยจำนวนมาก รัฐบาลจึงได้เปิดให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างอิสระมากขึ้น ในปี 2010 ที่ผมได้ไปดูงานของโรงเรียนผู้บริบาลผู้สูงอายุ ที่ตั้งอยู่ที่เมืองซึสึกะ ที่คุณอีบิซัง เพื่อนผมเป็นเจ้าของอยู่ ก็เริ่มมีเอกชนกระโดดเข้ามาก่อตั้งกันเยอะมากแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้สูงอายุ ในยุคนั้นการสมัครจองเข้าไปพักอาศัย จะต้องมีการสัมภาษณ์และสืบประวัติกันละเอียดยิบก่อน ใช่ว่ามีเงินแล้วจะเข้าไปอาศัยได้ แต่หลังๆมาเมื่อไม่กี่ปีมานี้ Supply เริ่มมากขึ้น เริ่มมีการแข่งขันทางด้านบริการกันมากขึ้น ใครที่ปรับตัวได้ก่อน ก็สามารถรองรับผู้สูงอายุได้อย่างเต็มที่ ส่วนเจ้าไหนชื่อเสียงไม่ดี ก็ไม่ค่อยมีผู้สูงอายุต้องการจะไปอยู่ด้วย ตามหลักการตลาดนั่นแหละครับ

อาทิตย์นี้ผมได้เอาตารางชีวิตของมนุษย์ทั่วไปมาให้ท่านได้อ่าน ท่านที่มีอายุสูงขึ้น อาจจะมองเห็นตามผม ท่านที่อายุยังไม่ย่างก้าวเข้าสู่ขบวนการส.ว.(สูงวัย) อาจจะมองไม่ออก ไม่เป็นไรครับ ผมเชื่อว่าสักวันท่านจะมองเห็นเอง ท่านอาจจะมองเห็นเหมือนผมว่า ญี่ปุ่นยังโชคดีที่มีรัฐบาลช่วยให้เกิดบ้านพักผู้สูงวัยมารองรับผู้สูงอายุ ผมคิดว่าสักวันหนึ่งประเทศไทยจะต้องเดินเข้าสู่สังคมที่คล้ายๆประเทศญี่ปุ่น ที่มีบ้านพักคนวัยเกษียณ ที่น่าเข้าไปอาศัยอยู่ในบั้นปลายของชีวิตเช่นกัน สัปดาห์นี้คงจะหมดหน้ากระดาษแล้ว ยังไปไม่ถึงไหนเลย ไว้สัปดาห์หน้าเราจะยังคงอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นต่อไป และตอนต่อๆไปผมจะนำเอาบ้านพักผู้สูงอายุในประเทศต่างๆ เช่นใต้หวัน สาธารณรัฐประชาชนจีน สิงค์โปร์ เป็นต้น มาเล่าสู่กันฟังนะครับ โปรดติดตามกันต่อไปนะครับ