จากนี้ไปจะทำมาหากินอะไรดี?

19 เม.ย. 2564 | 00:20 น.

จากนี้ไปจะทำมาหากินอะไรดี? : คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ผมจั่วหัวเรื่องวันนี้แรงมาก ซึ่งเป็นคำถามที่ผมได้รับมาจากแฟนคลับที่เป็นชาวเมียนมา ที่มีภูมิลำเนาอยู่ทีเมืองปะเต็ง รัฐอิยะวดี ซึ่งถามผ่านมาทางอาจารย์เปิ้ล ซึ่งชาวเมียนมาท่านนี้เคยทำอาชีพรับเหมาก่อสร้างอยู่แถบนิคมอุตสาหกรรมลันตาย่า อีกทั้งยังเช่าร้านค้าให้ภรรยาทำการค้าอยู่ที่นั่นด้วย เรียกว่าทุ่มทุนทั้งชีวิต แต่พอเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้มีการประท้วงอาริยะขัดขืนขึ้น ทางฝั่งของ SAC ได้เริ่มมีการปราบปรามอย่างรุนแรงในเมืองย่างกุ้ง และได้มีการเผาโรงงานของชาวจีนที่นิคมอุตสาหกรรมลันตาย่า จึงมีการล้อมปราบและปะทะกันรุนแรงมากที่นั่น ชาวบ้านที่เป็นคนจากต่างจังหวัดที่อาศัยที่นั่นทำมาหากิน จึงได้อพยพกลับบ้านเกิดกันหมด สภาพจึงเป็นอย่างที่พวกเราเห็นในข่าวนั่นแหละครับ 

สำหรับแฟนคลับท่านนี้ ผมขออนุญาตไม่ต้องเอ่ยชื่อเขานะครับ เป็นอันว่าหมดเนื้อหมดตัวกลับบ้านเกิด สิ่งที่ตามมาพร้อมคำถามจึงมีอย่างที่เห็นละครับ หากการปราบปรามจบสิ้นไปแล้ว เขาจะทำมาหากินอะไรดี เขาจึงมีคำถามมาหลายข้อ เป็นต้นว่า 1. ชาวต่างชาติจะยังสนใจมาลงทุนที่เมียนมาอีกหรือไม่? 2. คนเมียนมาจะทำธุรกิจอะไรดีที่น่าจะพออยู่ได้ หรือจะค้าขายกับชาวต่างประเทศได้อีกหรือไม่? 3. ถ้าปัญหาทางด้านการเงิน-การธนาคารได้รับการแก้ไข ธุรกิจจะกลับมาเหมือนเดิมอีกหรือไม่? 4. ปัญหาที่ชาวเมียนมาโดยเฉพาะ SME ขาดแคลนคือ เทคโนโลยี่ด้านการผลิต แล้วเขาจะลงทุนอะไรที่มีศักยภาพพอที่จะตอบโจทย์ด้านการตลาดในอนาคตได้? โอ้โห!!!! หลากหลายคำถามมากที่เขากังวลใจ ผมเองต้องออกตัวก่อนนะครับว่า ผมไม่ใช่ผู้วิเศษหรือผู้เชี่ยวชาญที่จะตอบคำถามได้ แต่ผมจะเอาประสบการณ์ที่ได้รับและได้เคยเจอะเจอมาในช่วงก่อนๆมาเล่าสู่กันฟัง หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับเขาบ้างนะครับ

วันนี้สภาพการณ์ของประเทศเมียนมา แตกต่างกับเมื่อสามสิบปีก่อนโดยสิ้นเชิง ตลาดในประเทศและการพัฒนาของประเทศก็ไม่ได้เหมือนอดีต ความต้องการบริโภคสินค้าของประชาชนก็ได้แปรเปลี่ยนไป การแข่งขันในปัจจุบันก็รุนแรงกว่าในยุคอดีตเยอะ ดังนั้นถ้าจะนำเอาอดีตที่ผมสามารถสร้างแบรนด์สินค้าได้สำเร็จ มาเป็นรูปแบบหรือตัวอย่างในการดำเนินธุรกิจ ผมคิดว่าน่าจะไม่เหมาะสมหรือเปล่าครับ เพราะฉนั้นขอท่านผู้อ่านอย่าได้เอาสิ่งที่ผมทำมาไปเป็นแบบอย่างทั้งหมดไม่ได้นะครับ ประเดี๋ยวจะลำบากกัน ขอเตือนด้วยความหวังดี แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แฟนคลับชาวเมียนมาถามมา ผมก็จะลองนำเสนอดู ว่าควรจะนำไปทำอย่างไรในการที่จะเอาตัวรอดในอนาคตอันใกล้นี้ได้บ้าง จากการคาดการณ์และความคิดของผมเองล้วนๆนะครับ ท่านแค่คิดตามและต้องตัดสินใจด้วยตัวเองอีกทีนะครับ
       

หลังจากที่สถานการณ์ความไม่สงบจบลง ผมคาดว่าตลาดในประเทศเมียนมา จะกลับเข้าสู่สภาพเดิมนั้นยากมาก น่าจะเป็นความท้าทายของผู้บริหารประเทศเมียนมาอย่างมาก เพราะการลงทุนจากต่างประเทศ จะเหลือแค่ประเทศจีนกับประเทศไทยบางส่วนที่เขาเข้าไปลงทุนแล้วเท่านั้น ส่วนประเทศอื่นๆนั้นจะลดลงตามแรงกดดันของการแซงชั่นจากประเทศฝั่งตะวันตก  ส่วนนักลงทุนในประเทศเมียนมาเองก็จะต้องดิ้นรนช่วยตนเองให้มากๆ และอาจจะต้องอาศัยเงินทุนที่มีอยู่ในมือ นำมาลงทุน ดังนั้นด้านการลงทุน จะส่งผลให้นักลงทุนรายใหญ่ในประเทศเมียนมาบางส่วน ต้องเปลี่ยนแปลงความคิดอย่างแน่นอน

นักลงทุนหน้าใหม่ภายในประเทศเมียนมาเอง ก็จะมีเพิ่มขึ้นจากเดิมบ้างแต่ไม่มาก ซึ่งผมมองไปที่เศรษฐีต่างจังหวัด แถบรัฐกระฉิ่นและรัฐฉานเป็นหลัก เพราะบุคคลดังกล่าวนี้ ช่วงที่ผ่านมาได้สะสมเอาเงินทองที่ได้จากการทำธุรกิจด้านซื้อ-ขายทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ ไปเก็บไว้ที่ตัวเองน่าจะเยอะมาก เพราะตามความคิดของผม พฤติกรรมของคนเหล่านี้ ไม่นิยมฝากเงินไว้กับธนาคาร แต่เขาจะเก็บเป็นเงินหยวนจีน เงินบาทไทย เงินดอลร์ล่าสหรัฐ เพรชนิลจินดา หยกและทองคำ แต่หลังจากเหตุการณ์สงบลง เมื่อทุกอย่างเข้าสู่สภาพที่ดีขึ้น ผมเชื่อว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ ที่เป็นดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของประเทศเมียนมา จะต้องหล่นลงอย่างรุนแรง ตามด้วยอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลจ๊าดของเมียนมา จะต้องหล่นลงไปอีกเยอะ ในความคิดของผม น่าจะได้เห็น 1700 Ks  : 1 US$ ดังนั้นจะเป็นโอกาสทองของเศรษฐีท้องถิ่น ที่เขามีเงินเก็บเยอะๆ หันมาสะสมความมั่งคั่งด้านนี้กันอีกรอบ เพราะต้องไม่ลืมว่า ในปีค.ศ. 2000-2010 ราคาอสังหาริมทรัพย์ในเมียนมา ก้าวกระโดดขึ้นไป 700 %กว่า คนที่ตกขบวนรถไฟเที่ยวนั้น เขาจะรู้ว่าควรจะทำอะไรในเที่ยวนี้ครับ

หันมามองคนที่เบี้ยน้อยหอยน้อยบ้าง คนเหล่านี้เขาจะเอาตัวรอดหรือพลิกตัวอย่างไร ให้ได้เป็นเศรษฐีใหม่ ในมุมมองของผม ผมคิดว่าเป็นไปได้ยากมากๆ เราเอาเรื่องการอยู่ให้รอดก่อน ตามหลักการบริหารแล้ว “ถ้าเพิ่มยอดขายไม่ได้ ก็ต้องลดค่าใช้จ่าย” หรืออีกนัยยะหนึ่งคือ ถ้าเราหากำไรมาจุนเจือตนเองไม่ได้ เราก็จะต้องประหยัดเข้าไว้ อย่ามีการขาดทุนนั่นเอง ทางที่อยู่รอดปลอดภัย คือต้องใช้ทฤษฎีพอเพียงของพระองค์ท่านในหลวงรัชกาลที่ 9 ของเรานั่นแหละดีที่สุด อีกประการหนึ่งที่ผมเชื่อว่าการสะสมทรัพย์สมบัติได้ดีที่สุด คือการเอาทรัพยากรในพื้นที่ของตนเองมี มาแปรรูปเป็นสินค้าจำเป็นต่อชีวิต แล้วนำเอาออกมาขายในราคาที่ชาวบ้านชาวช่องพอรับได้ เพื่อเก็บสะสมกำไรไปครับ นี่น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดนะครับ
     

ท่านอย่าได้ไปคาดหวังต่อการดึงนักลงทุนจากต่างประเทศไปร่วมทุนเลยครับ ท่านจะเสียเวลาเปล่า เพราะเขาอาจจะต้องคิดหนัก แต่หากท่านมีเพื่อนชาวต่างประเทศที่เขามีสายสัมพันธ์ที่ดี ก็จะลองดูก็ได้ ไม่เสียหาย ส่วนเรื่องเงินทุนจากสถาบันการเงินหลักในประเทศเมียนมา ผมคิดว่าการปล่อยกู้จะยากนิดนะครับ คงต้องกลับไปมองดูอดีตที่ผ่านมาเมื่อปี 2000 นั่นแหละครับ ในยุคนั้นการกู้เงินจากธนาคารพานิชย์ในเมียนมา แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยครับ

ส่วนในเรื่องของเทคโนโลยี่ที่จะตามกันไม่ทัน ผมมีความเชื่อว่าคนเมียนมาเอง ที่มีความชำนาญด้านวิศวกรรมศาสตร์มีอยู่มากมาย ที่ผ่านมายี่สิบปีมานี้ ชาวเมียนมาได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของโลกมาแล้ว ดังนั้นจะไม่มีทางที่จะเหมือนในยุคอดีตแน่นอน อีกอย่างหนึ่ง ความต้องการบริโภคของตลาดที่เปลี่ยนไป คนที่รู้ดีที่สุดและได้เปรียบมากที่สุดในประเทศ ก็คือคนท้องถิ่นนั่นแหละครับ ผมคิดว่าผมคงจะให้ความคิดเห็นได้แค่นี้แหละครับ ท่านลองไปตีโจทย์ให้แตกดูนะครับ หวังว่าท่านจะเป็นผู้ที่โชคดีในอนาคตอันใกล้นี้ครับ