ถอดรหัส “ประท้วงปฏิรูปภาคเกษตรอินเดีย”

20 ม.ค. 2564 | 07:37 น.

“ทำไม!! เกษตรกรอินเดียประท้วง” รัฐบาลตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 เป็นต้นมา และถือได้ว่าเป็น “การประท้วงที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของอินเดีย”

 

ถอดรหัส “ประท้วงปฏิรูปภาคเกษตรอินเดีย”

การประท้วงเริ่มมาจากเกษตรกรในรัฐปัญจาบ (Punjab) และรัฐหรยาณา (Haryana) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของอินเดีย และมีพื้นที่ติดกับกรุงนิวเดลี ทั้งสองรัฐนี้มีเศรษฐกิจมาจากภาคเกษตรเป็นหลัก  และเป็น 2 ใน 10 รัฐของอินเดียที่มีการปลูกข้าวมากที่สุด (ผลผลิตข้าวเรียงตามลำดับมากไปน้อยคือ เบงกอลตะวันตก อุตระประเทศ ปัญจาบ ทมิฬ นาฑู อุตระประเทศ พิหาร ฉัตตีสครห์ โอริสา อัสสัม และหรยาณา)

 

 ทั้งสองรัฐปลูกข้าวทั้ง “Basmati” (ปลูกมากในรัฐที่ติดกับภูเขาหิมาลัย ได้แก่ ปัญจาบ อรุณาจัลประเทศและหรยาณา สำหรับรัฐของอินเดียที่ติดกับภูเขาหิมาลัยคือรัฐทางตอนเหนือ และรัฐ  7 สาวน้อย  ได้แก่ รัฐอัสสัม นากาแลนด์ รวมไปถึงเบงกอลตะวันตก) และปลูกข้าว “Non Basmati”  ที่เป็นข้าวขาวทั้งเมล็ดสั้นและยาว ในปี 2563 อินเดียผลิตข้าวทั้งหมด 116 ล้านตัน ส่งออกข้าวบาสมาติ 5 ล้านตัน ส่งออกข้าวที่ไม่ใช่บาสมาติ 8 ล้านตัน คิดรวมเป็น 10% ของผลผลิตทั้งหมด แสดงว่าอินเดียผลิตข้าวเพื่อบริโภคภายในประเทศ 90%

 

ช่วงหลายปีที่ผ่านมาการส่งออกข้าวที่ไม่ใช่บาสมาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก  3 ล้านตันเป็น 8 ล้านตัน (เพราะรัฐบาลอินเดียอนุญาตให้ส่งออกตั้งแต่ปี 2554) และแซงหน้าข้าวบาสมาติ โดยเฉพาะข้าว “Ponni Rice” ที่เป็นข้าวนุ่มและส่งไปขายทั่วโลกทั้งอาเซียน ตะวันออกกลาง ยุโรปและสหรัฐฯ ข้าว Ponni ชนิดนี้เกิดเป็น “คดีในชั้นศาล” เพราะบริษัทมาเลเซียเอาไปทำแบรนด์และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นของตนเองภายใต้ชื่อว่า “Taj Mahal และ Faiza Ponni” ทำให้หน่วยงาน APEDA ของอินเดียและ Tamil Nadu Agricultural University ฟ้องศาล สุดท้ายศาลมาเลเซียตัดสินให้ฝ่ายอินเดียชนะคดีเมื่อปี 2553

 

ถอดรหัส “ประท้วงปฏิรูปภาคเกษตรอินเดีย”

 

การประท้วงของเกษตรกรครั้งนี้ก็เพื่อต่อต้าน “กฎหมายเกษตร 3 ฉบับ” ที่ผ่านทั้งสภาล่าง (Lok Sabha : โลกสภา) เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2563 และผ่านสภาสูง (Rajya Sabha :ราชยสภา) เมื่อ 20 ก.ย. 2563  โดยรัฐบาลอินเดียบอกว่านี้คือ  “การปฎิรูปภาคเกษตรกรรมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร” จะทำให้เกษตรกรขายผลผลิตทางการเกษตรให้กับผู้บริโภคและเอกชนได้โดยตรง หลังจากประท้วง 2 เดือนในรัฐปัญจาบและหรยาณา เกษตรกรได้เคลื่อนตัวเพื่อไปประท้วงใหญ่ใน “กรุงนิวเดลี” ภายใต้สโกแกนว่า “Dilhi Chalo (มุ่งหน้าสู่เดลี)” ทำให้มีเกษตรกรประท้วงเพิ่มขึ้นตามลำดับเป็น 2-3 แสนคนและได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอินเดียมากมายและกลุ่มผู้ประกอบการขนส่งอีกด้วย

 

สถานะการณ์ล่าสุดขณะนี้คือ “ศาลสูงสุดอินเดีย” สั่งชะลอการบังคับใช้กฎหมายทั้ง 3 ฉบับ และให้มีการตั้ง “คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ” เพื่อหาทางออก (ก่อนหน้านี้มีการเจรจามาแล้ว 9 ครั้งแต่ตกลงกันไมได้) การประท้วงรอบนี้เป็นการรวมตัวของเกษตรกรอินเดียทุกกลุ่มเพราะเกษตรกรคิดว่าได้รับผลกระทบจากกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ การประท้วงของเกษตรในปี 2563 ถือเป็นการประท้วงรัฐบาลอินเดียติดต่อกันเป็น “ครั้งที่ 2 และปีที่ 2 ติดต่อกัน” ครั้งแรกเป็นการประท้วง “กฎหมายสถานะพลเมือง ปี 2562” ที่ไม่ให้สัญชาติอินเดียกับคนที่นับถือศาสนาอิสลามที่อาศัยในอินเดีย

 

หันมาดู “ความสำคัญของภาคเกษตรกรรมของอินเดีย” กันหน่อยครับ อินเดียมีพื้นที่ทำการเกษตรมากที่สุดในโลก 1.2 พันล้านไร่ โดยในปี 2562 ภาคเกษตรกรรมของอินเดียคิดเป็นร้อยละ 17% ของ GDP ลดลงจาก 40% จากปี 2503 (จีนเหลือ 7%) ภาคเกษตรสามารถจ้างงานได้ถึงร้อยละ 60 ของประชากร (จีนเหลือ 40%) ผลผลิตเกษตรหลายชนิดของอินเดียติดอันดับโลก อันดับหนึ่งคือนมโคและกล้วย อันดับสองคือข้าว ข้าวสาลี อ้อย ผัก ฝ้าย และมะเขือเทศ เป็นต้น โดยมีครัวเรือนเกษตรจำนวน 90 ล้านครัวเรือน และมีครัวเรือนในชนบท 150 ล้านครัวเรือน เกษตรกรร้อยละ 70 ถือครองที่ดิน 1 เฮกตาร์ (6.25 ไร่) ในแต่ละปีอินเดียมีผลผลิตทางการเกษตรอาหาร 285 ล้านตัน

 

 “ทำไมรัฐบาลอินเดียจึงต้องออกกฏหมายปฏิรูปภาคเกษตร” เพราะ 1.ในแต่ละปีอินเดียต้องใช้เงินอุดหนุนภาคเกษตรทั้งปุ๋ย ไฟฟ้าและชลประทานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเพิ่ม 8 เท่า (ระหว่างปี 1991 ถึง 2007) 2.รัฐบาลอินเดียใช้เงินในการเข้าแทรกแซงตลาดและช่วยกระจายสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นจาก 2% เป็น 5% ระหว่างปี 1990 ถึง 2000 3.การบริหารจัดการผักและผลไม้เกิดความสูญเสียผักและผลไม้ถึง 30%

 

ถอดรหัส “ประท้วงปฏิรูปภาคเกษตรอินเดีย”

 

สำหรับกฏหมายปฏิรูปเกษตรกรรมไล่เรียงดังนี้ครับ 1.กฏหมายพาณิชย์และการค้าของเกษตรกร (The Farmers' Produce Trade and Commerce (Promotion and Facilitation) Act สาระสำคัญหลักคือให้เกษตรกรมีช่องทางในการจำหน่ายสินค้าเกษตรโดยตรงให้กับบริษัทเอกชน โดยไม่ต้องมาพึ่งพิงตลาดของรัฐบาล (Mandi) ที่บริหารโดยหน่วยงานของรัฐ “APMC” รวมถึงส่งเสริมให้เกษตรกรขายผ่านช่องทางออนไลน์ และที่สำคัญไม่ต้องเก็บค่าธรรมจากตลาด Mandi ตามกฎหมายฉบับนี้ก็เพื่อให้การค้าสินค้าเกษตรเป็น  “แบบตลาดเสรี (Free Market)” ซึ่งดูแล้วน่าจะมีประโยชน์กับเกษตรกร แต่ "ทำไมค้าน" เกษตรกรมองว่าจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรรายใหญ่ เพราะมีความพร้อมในการจัดการสินค้าเกษตรทั้งการขนส่งและคลังเก็บสินค้า นอกจากนี้การค้าแบบตลาดเสรี เกษตรกรายย่อยไม่พร้อมที่จะยอมรับความเสี่ยงด้านราคาที่ผันผวน

 

2.กฏหมายประกันราคาและบริการเกษตร (Farmers (Empowerment and Protection) Agreement of Price Assurance and Farm Services Act) สนับสนุนให้เกษตรกรทำเกษตรพันธะสัญญา (Contract Farming) โดยหลักการน่าจะดี “ทำไมค้าน” เกษตรกรกังวลว่าจะทำให้ภาคเอกชนเข้ามาครอบงำภาคเกษตร เพราะเกษตรส่วนใหญ่มีความรู้น้อยตามบริษัทเอกชนไม่ทัน

 

และ 3. กฏหมายสินค้าจำเป็น (Essential Commodities (Amendment) Act) เป็นการจำกัดอำนาจของรัฐฯ ในการจัดการสต๊อกสินค้าเกษตร โดยสามารถทำได้ในกรณีเกิดภาวะสงครามและข้าวยากหมากแพงเท่านั้น มีดึงสินค้าสำคัญออกมาจากกฏหมายฉบับนี้คือกลุ่มธัญพืช หอม มะเขือเทศ และสินค้าน้ำมัน “ทำไมค้าน” เพราะนั้นเท่ากับว่าบริษัทเอกชนสามารถสร้าง “ความต้องการเทียม” โดยการเก็บกักตุนสต๊อกสินค้าเกษตรเพื่อให้ราคาขึ้น และจะทำให้เกิด “ตลาดมืด” ผมพบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในอินเดียสะท้อนให้เห็นว่าเกษตรกรติดกับการช่วยเหลือของภาครัฐฯ และ 2.การเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน มีความจำเป็นก่อนให้ใช้กฏหมาย ครับ