Bitkub Start up หรือ Start Down

20 ม.ค. 2564 | 01:30 น.

Bitkub Start up หรือ Start Down : คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3646 หน้า 13 ระหว่างวันที่ 21-25 ม.ค.2564 By…เจ๊เมาธ์

 

>> โฆษณาใหญ่โตบนป้ายบิลล์บอร์ด ซื้อขายเงินดิจิทัล (คริปโตเคอเรนซี่ ) ของเว็บไซต์ชื่อดัง BITKUB.COM สร้างความปั่นป่วนสะท้านวงการซื้อขายเหรียญดิจิทัล...ทัวร์ลงตั้งแต่ต้นปี เจ๊เมาธ์ขอเกริ่นนิดนะ ก่อนเข้าเรื่องๆ ที่มีต้นเรื่องจากระบบซื้อขาย เด่วดี-เด่วล่ม ตั้งแต่ 2 ม.ค.- 3 ม.ค. ช่วงจังหวะเดียวกับที่เหรียญบิทคอยน์ ทะยานฟ้าขึ้นไป ตีมูลค่าเงินไทย กว่า 1 ล้านบาท ต่อ 1 เหรียญบิทคอยน์ ทำนิวไฮจากก่อนหน้าช่วง 4 ปี ราคาหลักแสน เหลือหลักหมื่น ความร้อนแรงลดลง มาปรอทแตกก็ต้นปีนี้ 2564 นี่ ...ว่ากันว่า มักล่มเวลา เหรียญ ขาขึ้น
 

     เจ้ขอยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ นะ  ปิด server ไม่บอกลูกค้า
 

     ปิด 21:00 ประกาศ 22:30
 

     จากนั้นก็ประกาศว่าเปิด 06:00 น.
 

     แล้วก็เลื่อนเป็น 09:00 น.
 

     พออีก 5 นาที 09:00 น.
 

     เลื่อนเปิดเป็น 10:30 น.
 

     แล้วก้อบอกเลื่อนไม่มีกำหนด
 

     เสียงจากลูกค้า----
 

     อืมมมมม.........
 

     รับผิดชอบยังไงกับพอร์ตลูกค้าเนี่ย แค่ให้ 500-1,000 fee credit เครดิต 30 วัน มันไม่พอนะ ผิดหวังจัง เชื่อว่าหลายคนก็ให้โอกาสมาหลายครั้งแล้ว ครั้งนี้สุดจริง
 

>> ความร้อนแรงของบิทคอยน์ นี่เอง ที่เป็นต้นเหตุให้นักลงทุนแห่เข้ามาซื้อขายใน เว็บดัง BITKUB.COM ทำระบบล่ม แล้วแก้ไขไม่เบ็ดเสร็จ-เด็ดขาด มาเกิดปัญหาซํ้าอีกครั้ง 16 ม.ค.ที่ผ่านมา กลายเป็นเรื่องขึ้นมาอีก เมื่อสำนักงานก.ล.ต.ที่ควบคุมการซื้อขายเว็บไซต์นี้ ดับไฟก่อนกลายเป็นไฟลามทุ่ม ฟันฉับเข้าให้กลางดึกคืนวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา ออกประกาศให้แก้ไขระบบซื้อขาย ป้องกันความเสียหายนักลงทุน ...อันปลั๊กเฉียบพลัน ต้องหยุดทำหน้าที่ซื้อขายคริปโต (เหรียญดิจิทัล ) ทันที

                                                                                     จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ซีอีโอกลุ่มและผู้ร่วมก่อตั้ง Bitkub

 


>> ปัญหาหนึ่งที่ก.ล.ต.ถูกร้องเรียนมาก กลายเป็นประเด็นขึ้นมา คือ นักลงทุนที่เสียหายจากการซื้อขายคริปโต จากระบบที่เด่วดี-เด่วล่ม ที่สำคัญมากคือ ซื้อขายแล้ว เงินไม่เข้า หรือไม่ได้เงินทันที...ความเสี่ยงที่สุดของระบบซื้อขายที่รวมศูนย์กลาง อย่างลักษณะของ BITKUB.COM คือ การรวมกระเป๋าเงินลงทุนของนักลงทุนทุกคน มากองไว้ที่บิทคับ รวมๆ แล้วสินทรัพย์ไม่น้อยกว่า 4,000 ล้านบาท...เมื่อเงินกองโตๆ มากองอยู่ที่เดียว ย่อมตกเป็นเป้าคนที่คิดไม่ดี เจ๊เมาธ์ก็ไม่อยากมองในแง่ร้ายนะว่า จะมีใครพยายามมาแฮกกรุสมบัติหรือมั๊ยนะ...ถ้าระบบป้องกันของบิทคับ ดี ก็แล้วไป แต่ถ้าระบบไม่ดี เด่วล่ม-เด่วดับแบบนี้ เห็นท่าไม่ดี เงินในกระเป๋าเจ๊ ต้องปลอดภัยก่อน ...ถอนการลงทุน รีบเคลมให้เร็ว หนีก่อนโอกาสรอดก่อนค่ะ
 

>> กลับมาที่ตลาดหุ้นไทยกันดีกว่า กำลังเข้าสู่เทศกาลประกาศผลประกอบการ เริ่มต้นจากกลุ่มแบงก์ ที่กลุ่มนี้ต้องมาเร็วกว่ากลุ่มอื่น ...เป็นที่ยอมรับกันว่าปี 63 ที่ผ่านมา เป็นปีที่ยากลำบากของทุกกลุ่มธุรกิจ จากเชื้อไวรัส Covid-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลก การคาดหวังเห็นผลการดำเนินงานที่เป็นบวกโดดเด่นจึงเป็นเรื่องยาก แต่ยังมีหลายกลุ่ม ที่จะได้อานิสงส์จากเชื้อ Covid-19 เช่น หุ้นกลุ่ม นอน-แบงก์, หุ้นในกลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์, หุ้นกลุ่มเครื่องมือแพทย์  ขณะที่กลุ่มหุ้นที่อิงกับวัฏจักรเศรษฐกิจ (Cyclical Stock)  จะไปต่อในปี 64 ได้ คือ กลุ่มปิโตรเคมี, กลุ่มค้าปลีก, กลุ่มบรรจุภัณฑ์ และกลุ่มบริษัทบริหารหนี้เป็นต้น  แม้ว่าเศรษฐกิจต้องใช้เวลาฟื้นตัว 6-12 เดือนนับจากนี้ แต่ราคาหุ้นในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม เริ่มฟื้นตัวตามแนวโน้นของธุรกิจไปแล้ว
 

>> หุ้นร้อน DELTA แม้จะโดนจับขังเข้าแคชบาลานซ์ (วางเงินสดก่อนซื้อ ) หลังโดนยังซ่าส์ไม่หยุด แต่ที่สุดก็ยอมลงไปที่ตํ่าสุดรอบนี้ 526 บาท และทะยานกลับมายืนเหนือ 600 บาท อีกจนได้ ต้องยอมรับกันว่า การเป็นหุ้นฟรีโฟล์ท ตํ่า มีทั้งข้อดี-ข้อเสีย อย่างที่เห็นนี่แหละค่ะ ...แค่เป่าเบาๆ จะให้ปลิวไปทางไหน ขึ้น-ลง ได้หมด
 

>> ข้อเด่นก็เป็นที่เห็นๆ กันอยู่แล้วว่าราคาหุ้นของ DELTA ถูกดันขึ้นมาอย่างง่ายดาย ด้วยปริมาณหุ้นที่มีการซื้อขายอยู่หน้ากระดานน้อยนิด จะดันให้มาร์เก็ตแคปของ DELTA เข้าไปอยู่ในดัชนีคำนวณ SET50 ได้อย่างง่ายดาย ส่วนข้อเสีย ราคาหุ้นที่เคลื่อนที่ได้ง่ายๆ เช่นกัน  


>> CBG ของ “น้าแอ๊ด ยืนยงค์ โอภากุล”  ในที่สุดราคาวิ่งทะลุ  134 บาท สูงสุดตลอดกาลมาเกือบๆ ปี แต่ถ้าถามว่า CBG จะไปต่อได้อีกไกลแค่ไหน ส่วนตัวเจ๊เมาธ์ คงจะพูดลำบาก... ให้นักวิเคราะห์พูดจะเหมาะกว่า เอาเป็นว่านักวิเคราะห์ บล.ทิสโก้ ให้เป้าราคา 139 บาท, บล.หยวนต้า ให้เป้า 152.5 บาท ซึ่งนักวิเคราะห์มองตรงกันว่า นอกจากผลการดำเนินงานงวดปี 63 จะทำได้ดี ในงวดปี 64  ยังดีต่อไปอีก ตามดูได้ค่ะ
 

>> หุ้นแม่ลูก STA และ STGT กลับขึ้นมาแรงอีกครั้ง หลังจากที่ราคาหุ้น ร่วงลงไป จากสาเหตุที่หลายประเทศเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ Covid-19 ทำให้กระแสหุ้นถุงมือยางทางการแพทย์ซาลงไป แต่ STA ไม่ได้มีกลุ่มลูกค้าแค่เพียง STGT ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ผลิตถุงมือยางเท่านั้น ...STA ยังมีลูกค้ายางรถยนต์ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการมาก คำสั่งซื้อล่วงหน้าไปแล้ว 4-5 เดือน อีกทั้งราคายางแท่งก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น
 

>> ขณะที่ STGT ทำธุรกิจผลิตถุงมือยาง ยังมีความต้องการต่อเนื่อง มีคำสั่งซื้อล่วงหน้าไปถึงปี 2566 แม้หากสถานการณ Covid-19 จะคลี่คลาย แต่ความต้องการใช้ถุงมือทางการแพทย์ ยังต้องใช้ ปีนี้กำลังการผลิตถุงมือยางเพิ่มเป็น 3.5 หมื่นล้านชิ้นต่อปี ดังนั้น หุ้นแม่-ลูก คู่นี้ มีโอกาสไปต่ออีกนะคะ โดยเฉพาะทาง STA รายนี้เป็นหุ้นดี พี/อีตํ่า แน่นอนค่ะ
 

>> จังหวะที่หุ้นไรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) หลายแห่ง ได้รับความสนใจจากนักลงทุน ดูเหมือนว่า BCPG ราคาค่อยๆ ขยับขึ้นมาช้าๆ แต่สำหรับเจ๊เมาธ์  มองว่าหุ้นตัวนี้น่าสนใจมาก โดยเฉพาะ 9 เดือนปีที่ผ่านมา มีรายได้ 3,692.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52.93 % จากงวดเดียวกันของปีก่อน 30.71 %  กำไรสุทธิ 9 เดือนอยู่ที่ 1,601.55 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.05 % จากงวดเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่เป้าหมายของ EBITDA ในปี 2564 ตามเดิมคือ มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นไม่ตํ่ากว่า 20% แตะระดับ 3,500-3,600 ล้านบาท และตั้งเป้าการเติบโตของ EBITDA เฉลี่ยต่อปีที่ 13-15 % ไปจนถึงปี 2568 ซึ่งนั่นก็หมายความว่า BCPG ยังมีโอกาสโตได้อีกมากนั้นเองค่ะ
 

>> เตรียมตัวกันเนิ่นๆ นะคะ สำหรับใครที่ต้องการจองหุ้น OR วันอาทิตย์ที่ 24 ม.ค.นี้ เข้าไปที่เว็บไซต์ 3 แบงก์ หรือ ถ้าไม่กลัวโควิด-19 เดินไปที่ธนาคารไทยทั้ง 3 แห่ง “กรุงเทพ-กรุงไทย-กสิกรไทย” จองมาก-จองน้อยตามกำลังทรัพย์  ได้หมดทุกคน ขั้นตํ่า 300 หุ้น เหลือมาก-น้อย ค่อยมาเฉลี่ยกันไป…