เราชนะ "เฮลิคอปเตอร์ มันนี่" 2.5 แสนล้าน เดิมพันเยียวยาเศรษฐกิจ

15 ม.ค. 2564 | 00:10 น.

มาตรการ “เราชนะ” เฮลิคอปเตอร์ มันนี่ 2.5 แสนล้าน เดิมพันครั้งสำคัญรัฐบาล เยียวยาเศรษฐกิจ

เราชนะ มาตรการเยียวยาบรรเทาผลกระทบประชาชนจากโควิด-19 รอบใหม่ ที่ กระทรวงการคลังกำลังจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 19 มกราคม 2564 ถือเป็นมาตการ อัดฉีดเงิน ที่นักเศรษฐศาตร์เรียกว่า “เฮลิคอปเตอร์ มันนี่” ก้อนใหญ่ราว 2.1-2.5 แสนล้านบาท ครอบคลุมประชาชนกว่า 30-35 ล้านคน เพื่อเยียวยาเศรษฐกิจไทยรอบ 2

 

แน่นอนว่าเงินที่จะนำมาใช้ ในการเยียวยามาตรการ “เราชนะ” ครั้งนี้จะมาจากเงินกู้ตามพ.ร.ก.กู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท

 

ขณะที่เงินกู้ที่เหลืออยู่ในขณะนี้ประมาณ 4.7 แสนล้านบาท แบ่งเป็น เงินกู้สำหรับโครงการการแพทย์และสาธารณสุข 31,118 ล้านบาท เงินกู้สำหรับการเยียวยา 206,446 ล้านบาท และเงินกู้สำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 260,589 ล้านบาท 

 

เมื่อดูรายละเอียดใน พ.ร.ก.กู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท มาตรา 4 และ มาตรา 5 จะพบข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้

 

มาตรา 4 ให้การกู้เงินตาม พระราชกำหนดนี้ เป็นการกู้เงินตามมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 

 

มาตรา 5 เงินกู้ตามพระราชกำหนดนี้ จะนำไปใช้เพื่อการอื่นนอกจากการดังต่อไปนี้มิได้

 

(1) เพื่อแก้ไขปัญหาการะบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

 

(2) เพื่อช่วยเหลือเยียวยาและชดเชยให้แก่ภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจกการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 

 

(3) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 

 

แผนงานหรือโครงการใช้จ่ายเงินกู้เพื่อการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดนี้

มาตรา 6 การกู้เงินตามพระราชกำหนดนี้ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติเท่าที่จำเป็น โดยคำนึงถึงขีดความสามารถของรัฐในการชำระหนี้คืนประกอบด้วย ทั้งนี้ การกู้เงินเพื่อการตามมาตรา 5(1) และ (2) ให้มีมูลค่ารวมกันไม่เกินหกแสนล้านบาท และเพื่อการตามมาตรา 5(3) ให้มีมูลค่ารวมกันไม่เกินสี่แสนล้านบาท

 

เราชนะ  "เฮลิคอปเตอร์ มันนี่" 2.5 แสนล้าน เดิมพันเยียวยาเศรษฐกิจ

 

 

ในกรณีจำเป็น คณะรัฐมนตรีจะมีมติให้นำวงเงินกู้เพื่อการตามมาตรา 5(2) มาใช้ เพื่อการตามมาตรา 5(1) ก็ได้ 

 

ในกรณีจำเป็นอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ คณะรัฐมนตรีจะมีมติให้นำวงเงินกู้เพื่อการตามมาตรา 5(3) มาใช้เพื่อการตามมาตรา 5(1) และ (2) เพิ่มเติมก็ได้ แต่เมื่อรวมวงเงินกู้ ทั้งหมดต้องไม่เกินหนึ่งล้านล้านบาท

 

นั่นหมายความว่า มีกรอบการใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ไว้อย่างชัดเจนว่า เงินกู้ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อโครงการการแพทย์และสาธารณสุข  เมื่อรวมกับการเยียวยาแล้วมีมูลค่ารวมกันไม่เกิน 6 แสนล้านบาท 

 

แต่หากเงินกู้ทั้ง 2 ก้อนดังกล่าวมีไม่เพียงพอ ครม.สามารถโยกเงินกู้เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและ สังคมมาใช้สำหรับการเยียวยาได้ แต่เมื่อดึงมาแล้วไม่สามารถนำกลับไปใช้ในการฟื้นฟูได้

 

แน่นอนว่าถ้าดูจากวงเงินกู้เพื่อการเยียวที่เหลือจำนวน 206,446 ล้านบาท คงไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้สำหรับการเยียวยาในมาตรการ “เราชนะ” จำเป็นที่จะต้องดึงเงินกู้เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่เหลือราว 2.6 แสนล้านบาทเข้ามาเติมอย่างน้อยราว 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้วงเงินสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมเหลืออยู่ 2 แสนล้านบาท

 

จึงมีคำถามตามมาว่า เงินกู้จำนวนดังกล่าวเพียงพอที่จะใช้สำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ภายหลังการระบาดของโควิดหรือไม่ หากไม่พอรัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งถือเป็นอีกโจทย์ที่หนักอื้งของรัฐบาล

 

การเยียวยาพิษโควิดรอบ 2 ครั้งนี้ โดยเฉพาะมาตรการ “เราชนะ” จึงนับเป็นเดิมพันครั้งสำคัญของรัฐบาล 

 

ที่มา: คอลัมน์ถอดสูตรคุย  โดย  บรรทัดเหล็ก หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,645 หน้า 10 วันที่ 17 - 20 มกราคม 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รมว.คลังเคลียร์ชัดผู้ถือบัตร "บัตรคนจน” ทุกคนได้สิทธิ์ “เราชนะ” เยียวยา 3,500 บาท

คลัง ดึงเงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ เยียวยา"เราชนะ"

ต่อลมหายใจศก. กำ 6 แสนล้านสู้ เพิ่มเงินคนละครึ่ง-จ่าย 3,500 “เราชนะ”

“บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” 14 ล้านคน เฮรับเงินเยียวยา 2 เด้ง 4,000 ต่อเดือน

ประกันสังคมมาตรา 33 คือใครบ้าง อดลงทะเบียนรับเงินเยียวยา“เราชนะ” 3,500