แรงงานอพยพต่างชาติ (1)

11 ม.ค. 2564 | 00:30 น.

แรงงานอพยพต่างชาติ (1) : คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์


ช่วงระยะนี้ปัญหาติดเชื้อของเจ้าวายร้ายผีน้อย COVID-19 ที่กำลังร้อนแรงอยู่นั้น สาเหตุหลักๆ ก็มาจากแรงงานอพยพจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่ผมเคยเตือนไว้ตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาแล้วว่า ให้ระวังเพราะในประเทศเมียนมาจะมีผู้คนที่ติดเชื้อเยอะมาก การเดินทางของเชื้อโรคระบาด มันไม่ได้เลือกญาติดีกับใครทั้งนั้น เมื่อมีการอพยพหนีภัยเข้ามาในประเทศไทย มันย่อมติดตามผู้คนมาด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย

อีกอย่างที่ทำให้เราต้องลำบากในการจัดการ เพราะชายแดนที่ติดกับประเทศเมียนมา มีความยาว 2,400 กว่ากิโลเมตร และมีช่องทางธรรมชาติมากมาย ที่สามารถหลบหนีเข้ามาได้ และอย่าลืมว่าการเดินทางเข้าสู่สังคมเมืองนั้นง่ายดายยิ่งกว่าปอกกล้วย มันมีหลากหลายช่องทางที่จะสามารถเดินทางเข้ามา เราเองไม่ต้องไปกล่าวโทษใคร ว่าเป็นคนพาเขาหลบหนีเข้ามาหรอกครับ เสียเวลาเปล่า สู้เอาเวลาไปคิดว่าจะปกป้องชีวิตและทรัพย์สิน สุขภาพพลานามัยของประชาชนคนไทยเราจะดีกว่าครับ

ก่อนที่จะไปหาทางแก้ไข เราควรจะรู้จักและเข้าใจ กลุ่มแรงงานอพยพเหล่านี้ก่อนนะครับว่า เหตุใดเขาจึงต้องดั้นด้นมาหางานทำในประเทศไทยเรา ทั้งๆที่ประเทศเขาก็มีการจ้างงานพอควร จริงๆแล้วเหตุจูงใจแรงงานเหล่านี้ มีหลากหลายปัจจัย แต่ปัจจัยหลักคือ “เงินค่าตอบแทน” ตัวเดียวหาใช่ไม่ แรงงานเหล่านี้เขาเข้ามาสู่ประเทศไทยนานนมแล้วครับ หากไม่เกิดปัญหาโรคร้ายนี้ ผู้คนอาจจะไม่ได้ใส่ใจเท่าใดนัก เพราะเราเองก็ไม่เคยคิดว่าเขาจะเข้ามาแย่งงานคนไทยทำ เพราะงานที่เขาทำอยู่ในขณะนี้ พูดตรงๆ คนไทยเราเองก็เริ่มจะไม่ค่อยมีใครอยากจะทำเท่าไหร่แล้ว

 

ตามหลักการแล้ว แรงงานที่เกิดขึ้นจากการจ้างงานในประเทศนั้น เริ่มจากประเทศที่กำลังพัฒนา เขาจะเริ่มมีการทดแทนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ด้วยการส่งเสริมการลงทุนให้นักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศ เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต ดังนั้นในยุคเริ่มต้น แรงงานภาคการเกษตรก็จะหลั่งไหลเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม เมื่อประเทศเริ่มพัฒนาไปในทิศทางที่เจริญขึ้น ค่าครองชีพก็จะเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ อัตราการจากแรงงานก็จะเริ่มสูงขึ้นในทิศทางเดียวกัน และด้วยปัจจัยนี้ จะส่งผลให้ประชาชนในประเทศก็จะต้องดิ้นรนหาทิศทางที่ดีกว่าเดิม เพื่อจะได้ค่าแรงที่สูงขึ้น แรงงานภาคการเกษตรก็จะหันหน้าเข้าสู่การเป็นแรงงานภาคอุตสาหกรรม

จะเห็นว่าจากเดิมเราจะมีคนต่างจังหวัด เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อมาเป็น “สาวฉันทนา” จากรุ่นสู่รุ่น พอเข้าสู่รุ่นที่สองรุ่นที่สาม นานวันเข้าลูกหลานที่เติบโตขึ้นมา  จากเดิมรุ่นแรกๆ ที่ขายแรงงานแลกค่าแรงที่พอเพียงแค่ความเป็นอยู่เท่านั้น เพราะรุ่นแรกๆไม่ได้รับการศึกษาที่ดีพอ เขาจึงรู้ว่า หากคิดที่จะลืมตาอ้าปากได้  “การศึกษา” เท่านั้นที่จะช่วยเขาได้ เขาจึงต้องดิ้นรนหาเงินเพื่อส่งเสียให้รุ่นถัดไป ได้รับการศึกษาที่ดีขึ้น เพื่อถีบตัวเองให้มีชีวิตที่เป็นอยู่ดีขึ้น เขาจะไม่ยอมให้รุ่นลูกรุ่นหลานเป็นเช่นเดียวกับเขา

​​​​​​​เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงได้เห็นเด็กรุ่นหลัง ที่ผมมักจะพูดเสมอว่า คนรุ่นหลังนั้นเกิดมามีบุญวาสนาดีแท้ พ่อแม่สนับสนุนให้ได้เล่าเรียนสูงๆ ไม่เหมือนรุ่นพวกผม ที่ต้องดิ้นรนกันเอง ดังนั้นเมื่อเด็กเติบโตด้วยความรู้ความสามารถ เขาก็จะไม่ยอมทำงานที่ต่ำต้อยด้อยค่าเด็ดขาด เมื่อเป็นเช่นนี้ สนามแห่งการงานภาคอุตสาหกรรม จึงเป็นสวรรค์ที่ตกไปอยู่ในมือของแรงงานต่างชาตินั่นเอง เพราะแรงงานเหล่านี้ เป็นแรงงานไร้ฝีมือด้อยการศึกษา งานอะไรขอให้ได้เงิน เขาจะหนักเอาเบาสู้หมด เราจะไปกล่าวโทษเด็กรุ่นหลังๆไม่ได้หรอกครับ หรือไปกล่าวหาแรงงานต่างชาติที่อพยพเข้ามาก็ไม่ถูกต้องนัก เพราะนี่คือผลพวงจากการพัฒนาประเทศนั่นเองครับ 
       

 

ทีนี้เรามาดูว่าแรงงานจากต่างประเทศเหล่านี้ เขาแบ่งออกมาเป็นกี่ประเภท ผมเคยเล่าไปหลายครั้งแล้วว่า แรงงานสามประเภท อันประกอบด้วยแรงงานตามฤดูกาล แรงงานที่มี MOU หรือที่ถูกต้องตามกฎหมาย และแรงงานผิดกฎหมาย ผมอยากจะเสริมให้อีกนิดว่า แรงงานที่ถูกต้องตามกฏหมายนั้น ตามมาตรา 59  ยังแบ่งออกเป็นประเภทตลอดชีพ ประเภททั่วไป ประเภทผ่านการพิสูจน์สัญชาติและได้รับใบอนุญาตทำงาน ประเภทนำเข้าตาม MOU และได้รับอนุญาตทำงาน ตามมาตรา 62 ที่เข้าตามการส่งเสริมของ BOI ยังมีอีกชุดล่าสุด ตามประกาศมติของคณะรัฐมนตรีลงนามในวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2562 และตามประกาศมติของคณะรัฐมนตรีลงนามในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2563 (รายละเอียดหาอ่านดูเองที่เวปไซต์ของกระทรวงแรงงานนะครับ) ซึ่งแต่ละประเภทที่กล่าวมาทั้งหมด ถ้าเราจำแนกไม่ถูก เราจะหลงทางในการหาทางป้องกันเจ้าวายร้ายผีน้อย COVID-19 ที่ติดตัวมากับแรงงาน และกำลังอาละวาดอยู่ในขณะนี้นะครับ เพราะแต่ละประเภทมีความยากง่ายแตกต่างกันครับ

อย่างไรก็ตาม เมื่อทำความเข้าใจถูกต้องแล้ว อาทิตย์หน้า ขอเชิญท่านติดตามอ่านคอลัมน์นี้ต่อไปสักนิดนะครับ ว่าเราควรจะทำอย่างไรกับปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้อย่างมีประสิทธิ์ภาพและประสิทธิ์ผลครับ