“ม็อบ”เพิ่มความเสี่ยง ฉุดเศรษฐกิจไทย

28 พ.ย. 2563 | 05:10 น.

“ม็อบ”เพิ่มความเสี่ยง ฉุดเศรษฐกิจไทย : บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3631 หน้า 13 ระหว่างวันที่ 29 พ.ย.-2 ธ.ค.2563

ดัชนีชี้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง นับแต่เริ่มคุมการระบาดเชื้อโควิด-19 และคลายล็อกให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทะยอยกลับมาเปิดดำเนินการ ตัวเลขจีดีพีไทยไตรมาส 3 ขยายตัวที่ -6.4% ต่อเนื่องจากไตรมาส 2 ที่ดิ่งลงถึง -12.1% จึงปรับคาดการณ์เติบโตจีดีพีไทยทั้งปี 2563 จากเดิม -7.8%  เป็น -6% โดยแรงเหวี่ยงการฟื้นตัวจะต่อเนื่องถึงปี 2564 ที่จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ 4 %

 

ปัจจัยบวกที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ทั้งมาตรการกระตุ้นของรัฐ อาทิ โครงการคนละครึ่ง ที่มีกระแสตอบรับปลุกการจับจ่าย การปรับตัวของราคาพืชผลการเกษตรฟื้นตัว ภาคการส่งออกมีสัญญาณบวก รวมถึงความสำเร็จการวิจัยวัคซีนโควิด-19  ส่งผลต่อถึงตลาดหุ้น การลงทุนถ้าใช้ได้จะทำให้กระแสการจับจ่ายกลับมาดีมากขึ้น และส่งผลให้เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นได้

           

ท่ามกลางปัจจัยบวก เศรษฐกิจไทยก็กำลังเผชิญความเสี่ยง กรณีการชุมนุมของกลุ่มมวลชนคณะราษฎร ที่นัดหมายชุมนุมเป็นระยะต่อเนื่องมากว่าหนึ่งเดือนนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า ปัจจุบันมองว่ายังไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แต่จุดสำคัญอยู่ที่ผู้ชุมนุมมีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องติดตามใกล้ชิด และย้ำว่าที่สำคัญคือ ต้องไม่มีการปะทะ

         

“ที่ผ่านมายังไม่มีความรุนแรงปรากฏ แต่ความวุ่นวายใจยังมีอยู่ ทำให้เศรษฐกิจไทยโตได้ไม่เต็มที่ หากยกระดับและมีความรุนแรงเมื่อใด ก็จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าทันที จากเดิมคาดจะฟื้นช่วงไตรมาสสองปี 2564 หากสถานการณ์ยืดเยื้อรุนแรงขึ้นอาจส่งผลให้ไปฟื้นตัวช่วงหลังของปี 2564 ได้”

สอดคล้องกัน นายสมประวิณ มันประเสริฐผู้บริหารสายงานวิจัย และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ก็ชี้ว่า การฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยรอบนี้จะฟื้นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยจีดีพีจะกลับมาเป็นบวกในไตรมาส 2 ปี 2564 โดยมีการลงทุนภาครัฐและการส่งออกเป็นหัวรถจักรเศรษฐกิจ แต่ปัจจัยการเมืองอาจดึงการเติบโตของจีดีพีลงได้ 0.6-1.1% โดยรอบนี้จะกระทบการตัดสินใจลงทุน ซึ่งส่งผลกระทบระยะยาว เพราะเป็นเรื่องความเชื่อมั่น

           

นับเป็นครั้งที่สองแล้วสำหรับเหตุรุนแรงถึงขั้นใช้ปืนและวัตถุระเบิดในการชุมนุมคณะราษฎร ครั้งแรกในการชุมนุมหน้าอาคารรัฐสภาเกียกกาย ล่าสุดที่แยกรัชโยธิน ฝั่งตรงข้ามอาคารธนาคารไทยพาณิชย์ แม้ยังจำกัดอยู่ในแวดวงกลุ่มการ์ดหรือผู้ดูแลความปลอดภัยให้ผู้ชุมนุม แสดงว่ามีการพกพาอาวุธเข้าร่วมการจัดชุมนุมทางการเมือง และเพิ่มความเสี่ยงการยกระดับความรุนแรงในการชุมนุมครั้งต่ๆ ไป

           

เราเห็นว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องบำบัดทุกข์บำรุงสุข ในการดำเนินคดีต่างๆ อย่างฉับไว ยุติธรรม เสมอหน้า ขณะเดียวกันผู้จัดการชุมนุมต้องประสานตำรวจอย่างใกล้ชิด จัดชุมนุมในพื้นที่จำเพาะ วางระบบดูแลความปลอดภัย สามารถคัดกรองผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคน ดูแลให้การชุมนุมเป็นไปอย่างสันติปราศจากอาวุธอย่างแท้จริง เพื่อหยุดการพลัดสู่หล่มความรุนแรง ที่จะก่อความสูญเสียให้ผู้คน และฉุดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่จะส่งผลกระทบในวงกว้าง