ถอดรหัส ม็อบคณะราษฎร จาก "Lennon Wall" สู่ "ราษฎรสาสน์"

08 พ.ย. 2563 | 23:00 น.

คอลัมน์ถอดสูตรคุย : ถอดรหัส ม็อบคณะราษฎร จาก "Lennon Wall" สู่ "ราษฎรสาสน์"

 

ถึงนาทีนี้คงต้องยอมรับว่าการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร 2563 เป็นการลอกแบบการชุมนุมมาจากม็อบฮ่องกงมาใช้ในการเคลื่อนไหวแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น การปักหมุดคณะราษฎร 2563 กลางท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 ก็เป็นรูปแบบเดียวกับการปีนขึ้นไปปักป้ายขนาดใหญ่บนยอดเขาที่เรียกว่า “ไลอ้อนร็อค” รวมไปถึงการนำ Lennon Wall ที่ม็อบฮ่องกงเคยใช้มาประยุกต์เป็น "ราษฎรสาสน์"

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2557 การประท้วงของคนหนุ่มสาวในฮ่องกง ได้มีการปีนเขาที่เป็นยอดที่สูงที่สุดของฮ่องกงชื่อ “ไลอ้อนร็อค” ปักป้ายขนาดใหญ่ขนาด 28 เมตร มีรูปร่มที่เป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหว และมีข้อความเรียกร้องว่า “ฉันต้องการสิทธิในการเลือกตั้งอย่างแท้จริง” (I want real universal suffrage) 

หลังจากภาพป้ายที่ไลอ้อนร็อคแพร่กระจายออกไป ได้มีการทํา แผ่นป้ายจําลองขนาดต่างๆ ด้วยข้อความเดียวกัน คําขวัญของการรณรงค์ได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวางจากคนกลุ่มต่างๆ 

“ไลอ้อนร็อค” เป็นสัญลักษณ์ของชีวิตคนชั้นล่างที่หลบหนีออกมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ เพื่อตั้งรกรากชีวิตใหม่ในฮ่องกง และคนเหล่านี้อาศัยอยู่ในพื้นที่ด้านล่างของภูเขา ภูเขานี้เป็นตัวแทนของทัศนคติทางสังคมว่า “เราทําได้”

ต่อมาในการต่อสู้ในเดือนพฤษภาคม 2562 ก็มีความพยายามติดตั้งแผ่นป้ายขนาดใหญ่ ขนาด 15x3 เมตร ที่ภูเขาไลอ้อนร็อคอีกครั้ง เพื่อรณรงค์ต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ในครั้งนี้แผ่นป้ายมีข้อความว่า “ต่อต้านกฎหมายส่งไปจีนอันชั่วร้าย” (oppose the evil send-to-China law) และต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ปลดแผ่นป้ายนี้ออก

ต่อมาในเดือนมิถุนายน กลุ่มผู้ประท้วงได้ติดแผ่นป้ายใหม่ และมีข้อเรียกร้องว่า “ปกป้องฮ่องกง” (ข้อความในภาษาจีน) และ “สู้เพื่อฮ่องกง” (ในภาษาอังกฤษ) อันเป็นสัญญาณสนับสนุนการต่อสู้ของนักศึกษาฮ่องกง

แผ่นป้ายที่ไลอ้อนร็อคกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ใหญ่ของการต่อสู้ทางการเมืองที่ฮ่องกอีกครั้ง

ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย การชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร 2563 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 ได้จัดชุมนุมที่ท้องสนามหลวง เพื่อแสดงออกทางการเมือง โดยได้จัดทำหมุดคณะราษฎร 2563 เป็นหมุดทองเหลือง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 11.6 นิ้ว ฝังที่ท้องสนามหลวง ฝั่งถนนหน้าพระลาน เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2563 เลียนแบบ “ไลอ้อนร็อค” ฮ่องกง 

ท้องสนามหลวง ถูกใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ, สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี พระราชพิธีกาญจนาภิเษก พ.ศ.2539 รวมทั้งงานพระเมรุมาศและพระเมรุของพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป

หากพลิกประวัติศาสตร์การเมืองไทยจะพบว่า ณ ท้องสนามหลวงแห่งนี้ได้ต้อนรับนักกิจกรรมทางการเมืองของไทยมาแล้วมากมาย จนกลายเป็นสัญลักษณ์เชิงการเมือง 

เนื่องจาก “สนามหลวง” มีพื้นที่กว้างขวาง ทั้งยังตั้งอยู่ใกล้กับสถานที่สำคัญๆทางการเมือง ทั้งทำเนียบรัฐบาล และรัฐสภา “สนามหลวง” จึงถูกใช้เป็นสถานที่นัดชุมนุมของกลุ่มการเมืองต่างๆ ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา

เหตุการณ์ประวัติศาสตร์การชุมนุมครั้งสำคัญ  เช่น เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ที่กลุ่มนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยใช้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 

ทั้งยังถูกใช้เป็นพื้นที่ชุมนุมก่อนเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมืองที่เรียกว่า พฤษภาทมิฬ เมื่อปี 2535 รวมถึงเป็นที่ชุมนุมของ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขับไล่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2549 

กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก็ใช้พื้นที่สนามหลวงในการชุมนุมอยู่หลายครั้ง เช่น ในปี 2552 ใช้เป็นที่ปักหลักของกลุ่มผู้ชุมนุมก่อนเคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาล และเมื่อปี 2557 กลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. ใช้จัดชุมนุมขับไล่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

การชุมนุมในฮ่องกงในปี 2562 ยังมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อีกอย่าง นั่นคือ การสร้างนําเอาคาร์ดบอร์ดขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า Lennon Wall มาติดตั้ง และให้คนเขียนข้อความถึงรัฐบาลฮ่องกงลงบนแผ่นโน้ต และนําไปติดบนบอร์ด โดยบอร์ดนี้ตั้งอยู่ในย่านที่จอแจของเมืองบริเวณสะพานเกาลูน 

Lennon Wall เป็นกิจกรรมต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่กรุงปราก และเรียกสิ่งนี้ว่า “กําแพงเลนนอน” ซึ่งมีผู้คนเป็นจํานวนมากมาร่วมกันเขียนข้อความ และใช้กระดาษโน้ตสีต่างๆ จนกลายเป็น “กําแพงหลากสี” และหลังจากเริ่มติดตั้งจุดแรกแล้ว บอร์ดข้อความดังกล่าวก็กระจายไปหลายจุดที่สําคัญของเมือง แม้กระทั่งบริเวณชานเมือง 

Lennon Wall หรือกําแพงเลนนอน เริ่มต้นที่กรุงปราก เป็นกําแพงที่มีนักเขียนข้อความที่ผนังกําแพงใช้เขียนข้อความต่างๆ เพื่อแสดงอารมณ์ความรู้สึก (หรือที่เรียกกันว่า “graffiti”) โดยพวกเขาเริ่มจากการเขียนข้อความเพื่ออุทิศให้แก่จอห์น เลนนอน 

ในช่วงปลายทศวรรษที่1980 กําแพงนี้เป็นมากกว่าการเขียนข้อความถึงเลนนอน เริ่มถูกใช้เขียนข้อความในการต่อต้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์ และข้อความมีความรุนแรงมากขึ้น จนกลายเป็น “กําแพงแห่งความหงุดหงิด” ของฝ่ายรัฐ การตั้งกําแพงเลนนอนนี้มีการใช้ในการประท้วงของ “ขบวนการร่ม” ที่ฮ่องกง

แต่มีคนบางส่วนพยายามที่จะทำลายกำแพงนี้ เช่น กรณีนักศึกษาสองคนที่เฝ้ากำแพงถูกทำร้าย แต่ก็มีผู้คนเป็นจำนวนมากออกมาให้กำลังใจกลุ่มนักศึกษาที่เฝ้ากำแพง Lennon Wall

ล่าสุดการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร วันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 เคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมไปสำนักพระราชวัง เพื่อยื่นราษฎรสาสน์ถึงสถาบัน โดยมีการทำตู้ไปรษณีย์วางเอาไว้ เพื่อให้ผู้ชุมนุมนำข้อเรียกร้องไปใส่