เปิดแนวคิด“สี จิ้นผิง”พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน (1)

28 ต.ค. 2563 | 06:56 น.

เปิดแนวคิด “สี จิ้นผิง” ในการสร้างหลักประกันและการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ด้านการศึกษา การมีงานทำ ระบบหลักประกัน และหลุดพ้นจากความยากจน

 

วันนี้ (28 ต.ค.63) พล.ต.ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศ และผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ได้ประมวลและนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับแนวคิดของ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในการสร้างหลักประกันและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน (ตอนที่ ๑ ว่าด้วยการเน้นการศึกษา การมีงานทำ ระบบหลักประกัน และหลุดพ้นจากความยากจน) ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

 

 ๑. ประการแรก ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษา  การสร้างพลังทางการศึกษาเป็นพื้นฐานของการสร้างประเทศที่แข็งแกร่ง การศึกษาต้องมาเป็นอันดับแรก ต้องพัฒนาการศึกษาให้ทันสมัยและเป็นที่พึงพอใจของประชาชน ต้องสืบสานแนวนโยบายด้านการศึกษาของพรรคฯ  ให้การสร้างคนควบคู่กับการสร้างคุณธรรมและจะต้องประสบความสำเร็จ พัฒนาการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพของคน สร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ผลิตบุคลากรที่ได้รับการพัฒนาอย่างรอบด้าน ทั้งคุณธรรม ปัญญา สุขภาพ และสุนทรียภาพ ซึ่งบุคลากรเหล่านี้จะเป็นผู้สืบทอดเจตนารมของการสร้างสังคมนิยมในประเทศต่อไป ยังต้องผลักดันการพัฒนาศึกษาขั้นพื้นฐานในเมืองและชนบนให้มาตรฐานเหมืนกัน ให้ความสำคัญแก่การศึกษาขั้นพื้นฐานในชนบทขั้นสูงสุด จัดการศึกษาก่อนวันเรียน การศึกษาของเด็กพิเศษ และการศึกษาออนไลน์ให้ดี ให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาระดับมัธยมปลาย พยายามให้เยาวชนทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน พัฒนาระบบการศึกษาสายอาชีพและหลักสูตรการอบรมต่างๆ  มีการบูรณาการการศึกษากับอุตสาหกรรมในเชิงลึก


 

 

๒. ประการที่สอง ปรับปรุงคุณภาพการจ้างงานและรายได้ของผู้คน  การมีงานทำถือเป็นหลักประกันสูงสุดในชีวิต ต้องยืนหยัดในเรื่องการมีงานทำเป็นสำคัญ และยืนหยัดในหลักการความกระตืนรืนร้นในการมีงานทำ สร้างการมีงานทำอย่างมีคุณภาพมากขึ้นและในอัตราสูงสุด เปิดหลักสูตรการอบรมด้านอาชีพอย่างกว้างขวาง แก้ไขปัญหาความขันแย้งเชิงโครงสร้างเกี่ยวกับการมีงานทำ ส่งเสริมการสร้างธุรกิจเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการจ้างงาน สนับสนุนด้านการบริการเกี่ยวกับการจัดหางานอย่างรอบด้าน ส่งเสริมให้บัณฑิตจบใหม่ กลุ่มคนหนุ่มสาว และเกษตรกรผู้ใช้แรงงานมีช่องทางหารายได้เพิ่มขึ้นและสร้างธุรกิจจากหลากหลายช่องทางมากยิ่งขึ้น

 

ขจัดอุปสรรคที่จำกัดการเคลื่อนย้ายของแรงงานและบุคลากรในสังคม ให้ทุกคนสามารถพัฒนาตนเองโดยอาศัยความมุมานะและความเพียรพยายามของตนเองได้ พัฒนาระบบร่วมหารือและประสานงานระหว่างรัฐบาล สหภาพ และผู้ประกอบการ สร้างความสัมพันธ์แบบสมานฉันท์กับผู้ใช้แรงงาน  ยึดหลักทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย พัฒนาระบบแบ่งปันปัจจัยหลัก ส่งเสริมการแบ่งรายได้อย่างเหมาะสมและมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยมากยิ่งขึ้น

 

สนับสนุนให้คนขยันและหาเลี้ยงชีพตามกรอบกฎหมายสามารถสร้างความร่ำรวยได้ เพิ่มจำนวนผู้มีรายได้ระดับปานกลางและเพิ่มรายได้ของผู้มีรายได้น้อย จัดระเบียบผู้มีรายได้สูงเกินไปและตัดวงจรการสร้างรายได้อย่างผิดกฎหมาย ให้ครัวเรือนเพิ่มรายได้กันถ้วนหน้าภายใต้การพัฒนาขึ้นของระบบเศรษฐกิจ ให้ผู้ใช้แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้นถ้วนหน้าภายใต้การเพิ่มขึ้นของอัตราการผลิต ขยายช่องทางรายได้ของครัวเรือนและรายได้การคลัง ปฏิบัติตามการจัดสรรใหม่ตามหน้าที่ของรัฐบาล เร่งสร้างระบบบริการสาธารณะที่มีความเท่าเทียมกัน พร้อมกับลดช่องว่างด้านรายได้

 

 ๓. ประการที่สาม สร้างระบบหลักประกันของสังคมให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น มีการวางแผนร่วมกันระหว่างชนบทและเมือง มีอำนาจและหน้าที่ชัดเจน มีความเหมาะสมของหลักประกัน และมีความยั่งยืน โดยรวมประชาชนทุกคนเข้าไปอยู่ในแผนของระบบหลักประกัน พัฒนาระบบประกันพื้นฐานในวัยชราของพนักงานและประชาชนทั้งในเมืองและชนบท เร่งรัดให้เกิดการวางแผนเรื่องการประกันขั้นพื้นฐานสำหรับผู้สูงอายุทั่วประเทศ พัฒนาระบบการประกันสุขภาพขั้นพื้นฐานและระบบประกันสุขภาพสำหรับโรครุนแรงของประชาชนร่วมกันทั้งตัวเมืองและชนบท

 

พัฒนาระบบประกันสำหรับผู้ไม่มีงานทำและผู้บาดเจ็บจากการทำงาน สร้างช่องทางบริการสาธารณะเรื่องระบบประกันสังคมทั่วประเทศ วางแผนงานระบบการให้ความช่วยเหลือทางสังคมทั้งในเมืองและชนบท พัฒนาระบบประกันคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐาน ยึดหมั่นในนโยบายพื้นฐานของชาติว่าด้วยความเท่าเทียมระหว่างหญิงกับชาย คุ้มครองสิทธิตามกฎหมายของเด็กและสตรี พัฒนาระบบการให้ความช่วยเหลือทางสังคม ระบบสวัสดิการสังคม ระบบองค์กรเพื่อการกุศล และระบบสวัสดิการพิเศษสำหรับผู้ปฏิบัติงานที่ต้องเสียสละ เป็นต้น

 

เพิ่มการดูแลเอาใจใส่เด็ก สตรีและผู้สูงอายุที่ยืนหยัดใช้ชีวิตในภูมิลำเนา พัฒนากิจการด้านการสงเคราะห์คนพิการ เพิ่มการให้บริการด้านการฟื้นฟูสุขภาพของคนพิการ ยืนหยัดเรื่องการมีบ้านเพื่อการอยู่อาศัยแทนการมีบ้านเพื่อปั่นราคา เร่งรัดการสร้างระบบบ้านพักอาศัยที่มีความหลากหลายด้านอุปทาน มีหลักประกันหลายด้าน และมีการเช่าและซื้อควบคู่กันไป ให้ประชาชนทุกคนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง

 

๔. ประการที่สี่ การต่อสู้เอาชนะความยากจนอย่างเด็ดขาด การทำให้คนยากจนและคนในพื้นที่แร้นแค้นมีชีวิตที่อยู่ดีกินดีเช่นเดียวกับคนทั่วประเทศนั้นถือเป็นคำมั่นสัญญาที่พรรคฯ ได้ให้ไว้ ต้องระดมพลังของคนทั้งพรรค คนทั้งประเทศ และคนทุกสังคมเพื่อร่วมบรรเทาและขจัดความยากจนอย่างถูกวิธีและตรงเป้าหมาย ยึดมั่นในระบบส่วนกลางเป็นผู้นำ ท้องถิ่นเป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติงาน เพิ่มระบบความรับผิดชอบสูงสุดร่วมกันระหว่างพรรคและรัฐบาล

 

ยืนหยัดในรูปแบบการบรรเทาความยากจนในวงกว้าง เน้นการบรรเทาความยากจนควบคู่กับการสร้างแรงบันดาลใจและการให้ความรู้ ให้เกิดความร่วมมือในเชิงลึกระหว่างภาคตะวันออกและภาคตะวันตกของประเทศ เน้นภารกิจเอาชนะความยากจนในพื้นที่แร้นแค้นที่สุด รับประกันว่าเมื่อถึงปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) ภายใต้มาตรฐานที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน จะทำให้ปัญหาความยากจนในชนบทของประเทศหมดไป จะไม่มีพื้นที่ใดยากจน โดยต้องขจัดความยากจนให้ได้อย่างแท้จริงและทำอย่างจริงจัง

 

บทสรุป แนวคิดของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในการสร้างหลักประกันและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนดังกล่าว เป็นการรายงานต่อที่ประชุมสมัชชาผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนทั่วประเทศครั้งที่ ๑๙ เมื่อวันที่ ๑๘ ต.ค.๖๒ ในฐานะผู้แทนคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ ๑๘ ซึ่งเป็นประชุมสำคัญที่จัดขึ้นในช่วงโค้งสุดท้ายของการสร้างสังคมพอกินพอใช้ในทุกด้าน และเป็นช่วงสำคัญในการเข้าสู่ยุคใหม่ของสังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์ของจีน ภายใต้หัวข้อหลักของการประชุมว่า “ไม่ลืมเจตนาเดิม  ยึดมั่นในพันธกิจ เชิดชูลัทธิสังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์ของจีนอันยิ่งใหญ่ สร้างสังคมพอกินพอใช้ในทุกด้านให้สำเร็จ สร้างสังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์ของจีนในยุคใหม่ ต่อสู้อย่างไม่ลดละเพื่อสานฝันการฟื้นฟูประชาชาติจีนให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง” ซึ่งจะได้นำเสนอการสร้างหลักประกันและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน (ตอนที่ ๒ - จบ) ต่อในวันพรุ่งนี้ครับ