ทำไม“เหมาไถ” เป็นหุ้นที่มีมูลค่าสูงสุดในตลาดหุ้นจีน  

02 ก.ย. 2563 | 04:50 น.

ทำไม“เหมาไถ”เป็นหุ้นที่มีมูลค่าสูงสุดในตลาดหุ้นจีน คอลัมน์ลวดลายมังกร โดย... มาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,606 วันที่ 3 - 5 กันยายน พ.ศ. 2563

 

บริษัทเหมาไถ (Kweichow Moutai) ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล้าขาวจีนอันดับหนึ่ง กลายเป็นหุ้นที่มีมูลค่าทางการตลาด (market capitalisation) มากที่สุดในตลาดหุ้นจีน เอ แชร์ โดยมีมูลค่าล่าสุดกว่า 2.2 ล้านล้านหยวน หากนักลงทุนซื้อหุ้นตัวนี้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 9 เท่าคิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยร้อยละ 55 ต่อปี 

 

ถ้านับรวมหุ้นจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกงด้วยแล้ว หุ้นบริษัทเหมาไถจะมีมูลค่าอยู่อันดับที่สาม เป็นรองก็เพียงหุ้น Alibaba และ Tencent และนั่นย่อมหมายถึงว่าหุ้นเหมาไถเป็นหุ้นเครื่องดื่มที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก จึงเป็นคำถามที่น่าสนใจว่าทำไมหุ้นเหมาไถที่จัดอยู่ในกลุ่มสินค้าบริโภคประเภทที่ไม่จำเป็น (discretionary consumption) และเป็นกลุ่มเศรษฐกิจแบบเก่า จึงสามารถมีมูลค่าแซงหน้าหุ้นจีนเกือบทุกตัวโดยเฉพาะในปีนี้ที่มีผลกระทบจากโควิด

 

มีความขลังของแบรนด์ - เหล้าขาวหรือ baijiu เป็นเหล้าที่นิยมในทุกชนชั้นของจีน แบรนด์เหมาไถถือกำเนิดมาตั้งแต่สมัยราชวงค์ชิง และได้รับการยกให้เป็นเครื่องดื่มแห่งชาติตั้งแต่ปี ค.ศ. 1951 ในงานเลี้ยงรับรองที่สำคัญย่อมขาดเหล้าขาวเหมาไถไม่ได้ ล่าสุดปีนี้ brandz.com ได้ประเมินมูลค่าของแบรนด์เหมาไถไว้ที่ 54 พันล้านเหรียญสหรัฐ จัดเป็นอันดับที่ 18 ของร้อยแบรนด์ระดับโลก และเป็นอันดับ 3 ในบรรดาแบรนด์จีนด้วยกันเอง (เป็นรอง Alibaba และ Tencent)   

ทำไม“เหมาไถ” เป็นหุ้นที่มีมูลค่าสูงสุดในตลาดหุ้นจีน  

 

ด้วยความขลังและเก่าแก่ของแบรนด์เหมาไถนี้เอง ทำให้บริษัทสามารถกำหนดราคาขายที่สูงกว่าเหล้าขาวอื่นๆ เป็นเท่าตัว และมีคุณค่าเป็นของสะสมกัยอย่างแพร่หลายอีกด้วย ผู้บริหารได้กำหนดกลยุทธ์วางตำแหน่งสินค้าเหล้าเหมาไถให้มีความหลากหลายราคา ตามระดับดีกรีของเหล้า (ขั้นต่ำ 53 ดีกรี) ระยะเวลาการบ่ม รวมถึงการออกแบรนด์รองเพื่อจับกลุ่มลูกค้าในวงกว้างมากขึ้น ดังนั้น น่าจะเป็นการยากที่จะหาแบรนด์สินค้าบริโภคใดๆ ในโลกนี้ ที่จะมาเทียบชั้นกับแบรนด์ของเหมาไถได้ในแง่ของเรื่องราวความเป็นมา การยอมรับของผู้บริโภค ตลอดจนฐานผู้บริโภคที่แนบแน่น 

 

มีความพิเศษลอกเลียนแบบไม่ได้ – เป็นที่กล่าวกันว่าเหล้าเหมาไถมีรสชาติพิเศษลอกเลียนแบบไม่ได้ เนื่องจากต้องอาศัยทรัพยากรการผลิต โดยเฉพาะคุณสมบัติของน้ำจากบริเวณฐานที่ตั้งของบริษัท ซึ่งอยู่มณฑลกุ้ยโจวเท่านั้น ดังนั้น เหล้าขาวเหมาไถจึงมีความขาดแคลนเป็นธรรมชาติ โดยเฉพาะในรุ่นที่มีระยะเวลาบ่มนาน เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่บริษัทสามารถกำหนดราคาสูงกว่าคู่แข่งอื่นได้ ทั้งนี้ ประเทศจีนมีเหล้าขาวอย่างน้อยกว่าร้อยแบรนด์


 

 

มีความเป็นตัวแทนของการยกระดับการบริโภคของกลุ่มคนชั้นกลาง – หุ้นบริษัทเหมาไถได้รับความนิยมจากนักลงทุนท้องถิ่นและนักลงทุนต่างชาติ เพราะการบริโภคเหล้าเหมาไถเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของการยกระดับการบริโภคของกลุ่มชนชั้นกลางในจีน ที่มีกว่า 400-500 ล้านคน เหล้าเหมาไถถือว่าเป็นเหล้าที่มีราคาสูง ประชาชนทั่วไปจะบริโภคเฉพาะในโอกาสพิเศษ จึงคาดการณ์ว่าหากเศรษฐกิจจีนยังคงเติบโตต่อไป และมีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเข้าสู่การบริโภคไปด้วยแล้ว การบริโภคเหล้าเหมาไถก็จะสามารถเติบโตต่อเนื่องในระยะยาว และมีโอกาสปรับราคาขายขึ้นได้เรื่อย ๆ ด้วย  

 

เป็นที่น่าสังเกตว่าผลประกอบการของบริษัทเหมาไถในครึ่งปีแรกของปีนี้ยังคงมีการเติบโตที่ดีท้าทายผลกระทบโควิด โดยยังคงมียอดขายเติบโต 11% ปีต่อปี แสดงถึงความแข็งแกร่งของแบรนด์ตลอดจนการฟื้นตัวของการบริโภคในระดับกลางถึงสูงในประเทศจีน 

 

นอกจากนี้ ผู้บริหารบริษัทยังได้แสดงความสามารถในการจัดระเบียบช่องทางการจำหน่ายโดยเพิ่มสัดส่วนการขายทางตรงมากขึ้นและควบคุมค่าใช้จ่าย นำไปสู่อัตรากำไรที่ดีขึ้น จึงเป็นเหตุให้ราคาหุ้นบริษัทเหมาไถได้ทะยานขึ้นสู่จุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 


อนึ่ง ผู้อ่านสามารถอ้างถึงบทความลวดลายมังกรเรื่อง “เข้าใจโครงสร้างตลาดหุ้นจีนก่อนลงทุน” เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2563 เพื่อเข้าใจถึงโครงสร้างพื้นฐานของตลาดหุ้นจีนได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เข้าใจโครงสร้างตลาดหุ้นจีนก่อนลงทุน

 

หมายเหตุ: ความเห็นในบทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรที่ผู้เขียนสังกัดอยู่แต่อย่างใด ผู้อ่านสามารถแสดงความเห็นได้ที่ facebook: manop sangiambut

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: มีประสบการณ์เกี่ยวกับการลงทุนและการเงินในประเทศจีนกว่า 15 ปี ในอดีตเคยเป็นนักวิเคราะห์หุ้นจีน เอ แชร์ และข้าราชการกระทรวงการคลัง จบการศึกษาปริญญาตรีด้านสารสนเทศการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท MBA มหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน สหรัฐอเมริกา