“รัฐบาลลุงตู่” กับเหตุปัจจัย ไฟสงครามการเมือง

21 ก.ค. 2563 | 12:40 น.

“รัฐบาลลุงตู่” กับเหตุปัจจัย ไฟสงครามการเมือง : คอลัมน์ข้าพระบาท ทาสประชาชน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3594 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 23-25 ก.ค.63 โดย... ประพันธุ์ คูณมี 

“รัฐบาลลุงตู่”

กับเหตุปัจจัย

ไฟสงครามการเมือง

 

     จากการเฝ้าติดตามสถานการณ์บ้านเมือง นับแต่เหตุการรัฐประหารยึดอำนาจ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 กระทั่งถึงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป เปลี่ยนถ่ายอำนาจจากรัฐบาลทหารไปสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือ "ลุงตู่" คนเดิมเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง บริหารบ้านเมืองมาร่วมปีเศษ ต่อเนื่องจากการเป็นายกรัฐมนตรี ด้วยการรัฐประหารรวมถึงปัจจุบันก็ 6 ปี 2 เดือนแล้วนั้น
 

     แม้หัวหน้า คสช.และ นายกฯลุงตู่ จะพยายามคืนความสงบสุขให้ประชาชน ทำบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อย แก้สารพัดปัญหาที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ทิ้งค้างไว้ รวมไทยฝ่าวิกฤติโควิด ตั้งใจทุ่มเททำงานแก้ปัญหาเศรษฐกิจ พัฒนาประเทศด้วยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ด้านการคมนาคม ขยายเส้นทางรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง ขยายท่าเรือขนาดใหญ่ ประมูลสร้างสนามบินพาณิชย์แห่งที่ 2 ที่อู่ตะเภา ริเริ่มเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และใช้นโยบายประชารัฐ เพิ่มสวัสดิการแก่ประชาชนต่างๆ มากมายเพียงใด หรือใช้ความสามารถระดมแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ สร้างสามัคคีขอความร่วมมือกับประชาชน แก้วิกฤติโควิด-19 ทำให้ประเทศรอดพ้นมาได้ด้วยเสียงชื่นชมจากทั่วโลกก็ตาม

     แต่ทำไมรัฐบาลลุงตู่ ยังมีประชาชนและคนรุ่นใหม่อีกจำนวนไม่น้อย จงเกลียดจงชังรัฐบาล "ลุงตู่" และนายกฯ แบบไม่เผาผี พยามยามรวมตัวออกมาตะโกนด่า ขับไล่ ทุกวัน ก่อขบวนเป็นคลื่นบนน้ำใต้น้ำ จุดประกายโหมไฟทางการเมือง เพื่อนำไปสู่การโค่นล้มขับไล่ให้ออกไปจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้ได้
 

     นี่จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่รัฐบาลลุงตู่ต้องทำความเข้าใจ ค้นให้พบถึงต้นตอของปัญหา เพราะการก่อเกิดการเคลื่อนไหวของผู้คนที่ออกมาชุมนุมเช่นนี้ และมีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยมิเกรงกลัวต่ออำนาจรัฐและกฎหมายของบ้านเมือง ไม่ยอมรับและไม่เคารพในความเป็นนายกรัฐมนตรีของลุงตู่แต่อย่างใด แม้คนจำพวกนี้จะยังสะเปะสะปะไร้ทิศทาง หากตั้งหลักสรุปบทเรียน ปรับขบวนตัวเองได้ การเคลื่อนไหวอาจพัฒนาไปสู่ "สงครามการเมือง" เหมือนในอดีตที่ผ่านมาได้ ถ้ารัฐบาลแก้ไขไม่ถูกจุดเกาไม่ถูกที่คัน ความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทย อาจกลับมาหลอนประชาชน เขย่าประเทศอีกครั้งหลังโควิด
 

     ผู้เขียนในฐานะคนมีประสบการณ์ ผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองมายาวนานแทบจะทุกเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย นับแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519, เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535, การชุมนุมของพันธมิตร 2547-2551, การชุมนุมของ นปช.คนเสื้อแดง 2549-2553 และการชุมนุมของกปปส.2556-2557 จนถึงปัจจุบัน พอจะเข้าใจได้ว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้นกับรัฐบาลนี้ จึงได้พยายามพูดคุยแลกเปลี่ยนตั้งวงสนทนา สอบถามทัศนะคติและความคิดเห็นของผู้คนในบ้านเมืองผู้มีประสบการณ์ทางการเมืองทั้งหลาย โดยเฉพาะจาก "กลุ่มคนที่เกลียดชังและไม่ชอบลุงตู่" และจากนักวิชาการ นักคิด ผู้รู้จริงทางการเมืองมาช่วยคิดและวิเคราะห์หาสาเหตุว่า เงื่อนไขและปัจจัยอะไรบ้าง ที่เป็นจุดอ่อนของรัฐบาลนี้ ที่จะเป็นประเด็นและชนวนนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง
 

     ซึ่งได้ข้อสรุปในระดับหนึ่งที่น่าสนใจยิ่ง จึงขอนำเรียนผ่านบทความนี้ ไปถึง “รัฐบาลลุงตู่” โปรดฟังและพิจารณาด้วยความมีสติ ความคิดเห็นจากกัลยาณมิตรเหล่านี้ อาจเป็นประโยชน์บ้างหากท่านต้องการ "รวมพลังสร้างชาติ" และต้องการยุติความขัดแย้งทางการเมือง ด้วยความสามัคคีปรองดองคนในชาติ ด้วยเหตุนี้ท่านจำต้องกำจัดปัญหาที่ต้นเหตุและเงื่อนไขของความขัดแย้ง ที่อาจบานปลายไปสู่สงครามการเมืองนั้น ต้องดับไฟที่ต้นเหตุครับ
 

     เหตุมูลฐานที่ทำให้การเมืองไทยไร้ความสงบมาต่อเนื่อง และจุดจบอยู่ที่การตัดสินใจของลุงตู่เท่านั้น มาจากเงื่อนไขและเหตุปัจจัยดังนี้
 

     1.การเข้าสู่อำนาจของลุงตู่ และ คสช.เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 มีเหตุผลและความชอบธรรมในเบื้องต้น  แต่ต้องยอมรับความจริงว่า การอยู่ในอำนาจต่อเนื่องยาวนานหลังจากนั้น มากกว่า 2 ปีขึ้นไป กลายเป็นความไม่ชอบธรรม ถูกมองว่าใช้อำนาจรัฐประหารเพื่อตนเองพวกพ้อง
 

     2. การร่างรัฐธรรมนูญ คืนประชาธิปไตยแก่ประชาชน โดยใช้เวลานานถึง 4 ปี เปลี่ยนคณะยกร่างรัฐธรรมนูญถึง 2 คณะ กว่าจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 และเลือกตั้งใช้เวลาถึง 4 ปี ย่อมถูกมองว่าใช้แทคติกซื้อเวลายื้ออำนาจอยู่ต่อแบบขาดความชอบธรรม ตอกย้ำความเชื่อตามข้อ 1.

     3. การร่างรัฐธรรมนูญก็เป็นไปเพื่อตนเอง สร้างกลไกเพื่อการสืบทอดอำนาจ ไม่ได้มุ่งสร้างประชาธิปไตย หรือนำไปสู่การปฏิรูปใหม่ทางการเมือง เป็นการรักษาการเมืองเก่าที่ล้าหลัง และถอยหลังเข้าคลอง ไม่เป็นธรรมเอาเปรียบทางการเมืองในการเลือกตั้ง ล็อกตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้ตนเอง การแก้ไขรัฐธรรมนูญปัจจุบันก็ถูกดองเรื่อง เอาไปหมกไว้ที่กรรมาธิการสภาฯ แบบไม่เร่งรีบให้เห็นผล
 

     4. หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี ละทิ้งคำสัญญาที่บอกว่า "ขอเวลาอีกไม่นาน" แต่อยู่ในอำนาจถึง 6 ปี และยังมีทีท่าจะอยู่ต่อไปอีกนาน โดยไม่สนใจการปฏิรูปทางการเมือง หรือสร้างความสามัคคีปรองดองคนในชาติจริงจัง ได้แค่ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปปรองดองนับร้อยชุด ดองเรื่องซื้อเวลาไปวันๆ มีเพียงการปฏิรูปในกระดาษ เขียนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อความสวยงาม ไร้การปฏิบัติที่เป็นจริง
 

     5. การเมืองใหม่ไม่สร้าง อาศัยการเมืองเก่าเป็นฐานอำนาจ ใช้สมุนบริวารของระบอบทักษิณเป็นเครื่องมือ เป็นการเมืองน้ำเน่าเปลี่ยนแค่ส่วนหัว ส่วนคนดีมีความรู้ถูกถีบหัวส่ง แบบเสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล ทำให้ผู้คนสิ้นหวังหมดศรัทธา พรรคพลังประชารัฐ เป็นพรรคของ คสช. เป็นที่รวมของนักการเมืองเก่า มองไม่เห็นอนาคตที่ดีทางการเมือง
 

     6. รัฐบาลเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนใหญ่ทางธุรกิจ รากหญ้าเป็นเพียงรับส่วนบุญจากการโปรยทาน เพียงเพื่อให้มีชีวิตอยู่ไปวันๆ มิได้แก้ไขปัญหาที่รากฐานเพื่อขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมให้เห็นผลจริงจัง ช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนยิ่งถ่างออกไป
 

     7. นายกรัฐมนตรีกับพวก เป็นกลุ่มฉวยโอกาสตีกินทางการเมือง ใช้กลไกอำนาจรัฐ อาศัยกองทัพของชาติเป็นเครื่องมือ ปูทางให้ตนขึ้นสู่อำนาจเพื่อประโยชน์ตนเองและพวกพ้อง เหยียบย่ำทำลายทุกกลุ่มไม่ว่า กลุ่มอำนาจเก่า, พันธมิตร, นปช., กปปส. ทั้งที่ขึ้นมามีอำนาจได้เพราะสถานการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมือง ของกลุ่มเหล่านั้น แต่ทุกๆ กลุ่มถูกจองจำด้วยคดีการเมืองสารพัดโดยไม่เป็นธรรม
 

     เช่น เพียงชุมนุมทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าเป็นการก่อการร้าย หลายคนถูกจำคุก โดยรัฐบาลสนใจแต่นิรโทษกรรมพวกตนเอง ในความผิดรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญ แต่ไม่สนใจนิรโทษกรรมประชาชนในการชุมนุมทางการเมือง ทั้งที่มิใช่เป็นอาชญากรรมร้ายแรง หรือมีเถยจิตเป็นโจร
 

     ทั้งหมดนี้ คือบทสรุปความคิดเห็นในวงสนทนา มุมคิดและมุมมองที่คนรังเกียจไม่ชอบลุงและมุมมองของผู้มีประสบการณ์ทางการเมือง ที่มีต่อรัฐบาล ขอย้ำน่ะครับว่าเป็นมุมมองคนอื่นๆ ที่มองมายังนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลนี้ จึงอยากให้นายกฯ ลุงตู่รับฟังความคิดเห็นต่างที่สร้างสรรค์นี้ อย่าฟังแต่คนที่ชื่นชมยกยอปอปั้นท่าน เพราะนี่คือจุดอ่อนและเงื่อนไข เชื้อไฟที่อาจนำไปสู่สงครามการเมืองได้ หากยังปล่อยให้เงื่อนไขและปัจจัยเหล่านี้ดำรงอยู่ ท่านจะเดินหน้าด้วยอนาคตที่ดี หรือจะถอยหลังลงคลอง ตกจากอำนาจหล่นจากสวรรค์ ล้วนขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยดังกล่าว
 

     รับฟังความคิดเห็นจากกัลยาณมิตรเหล่านี้เสียบ้างก็ดี เพื่อทางสว่างของชีวิตครับ อย่าลืมว่า "อำนาจเป็นสิ่งไม่ยั่งยืน การอยู่ในอำนาจได้ยาวนานนับว่าเก่งแล้ว แต่การเตรียมลงจากอำนาจอย่างสง่างาม ถือว่าเก่งยิ่งกว่า การทำงานแก้ปัญหารายวันเป็นแค่งานในหน้าที่ แต่การสร้างคุณูปการให้บ้านมืองต่างหาก ที่ประชาชนจะจดจำตลอดไป"