“คลัง-ธปท.” ต้องฟัง 108 วิธีหากินกับซอฟต์โลน

20 พ.ค. 2563 | 08:00 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3576 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 21-23 พ.ค.63  โดย... บากบั่น บุญเลิศ

27 พฤษภาคมนี้ การประชุมสภาสมัยสามัญจะเปิดให้บรรดาสมาชิกผู้ทรงเกียรติได้พิจารณาอภิปรายกฎหมายสำคัญของประเทศ นำร่อง 3 ฉบับวงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท ที่ถือเป็นประวัติศาสตร์ของประเทศที่มีการกู้ยืมเงินนอกงบประมาณปกติก้อนโตขนาดนี้ เพื่อมาแก้ปัญหาผลกระทบจากวิกฤติไวรัสโควิด-19 ที่เป็น “เชื้อชั่วไม่ยอมตาย”

 

ว่ากันว่าไฮไลต์ในทางการเมืองจะฉายวับไปที่ การพิจารณา พ.ร.ก. เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือ Soft Loan มากกว่าการเยียวยาเงิน 5,000 บาทที่จ่ายตรงไปยังผู้เดือนร้อนร่วม 20 ล้านคน และกำลัง “เยียวยาเกษตรกร” อีก 8-10 ล้านครัวเรือน

 

สาเหตุเพราะ Soft Loan ที่ธนาคารออมสิน 1.5 แสนล้านบาท และธนาคารแห่งประเทศไทย 5 แสนล้านบาท ปล่อยกู้ผ่านธนาคารพาณิชย์ในอัตราดอกเบี้ยแทบจะให้เปล่า 0.01% เพื่อนำไปปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการตัวเล็กที่ดอกเบี้ยไม่เกิน 2% เป็นเวลา 2 ปีนั้น มีข้อครหามากมายหลายประเด็นจากบรรดาเอสเอ็มอีที่กำลังเจอวิกฤติสภาพคล่องไม่มี

 

“คลัง-ธปท.” ต้องฟัง 108 วิธีหากินกับซอฟต์โลน

1.ตกลงถึงตอนนี้มีการปล่อยไปแล้วเท่าไร 2.ปล่อยเงินกู้ออกไปให้ใครบ้าง จำนวนกี่ราย 3.มีการคิดค่าธรรมเนียมการพิจารณาสินเชื่อหรือไม่  4.กระทรวงการคลัง และแบงก์ชาติมีมาตรการในการติดตามตรวจสอบเพื่อให้วงเงินนี้ไปถึงมือกลุ่มเป้าหมายหรือไม่ ทำไมฝนตกไม่ทั่วฟ้า

 

นี่เป็นประเด็นใหญ่ที่ รัฐบาลลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และคุณอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะต้องพิจารณาในการตอบคำถามเรื่องนี้ให้ประชาชนได้เข้าใจแบบเคลียร์ หาไม่แล้วข้อครหาเหล่านี้จะกลายเป็นคมหอกในการทิ่มแทงใส่ปลายคางเอาได้

 

“คลัง-ธปท.” ต้องฟัง 108 วิธีหากินกับซอฟต์โลน

 

ทำไมถึงเป็นแบบนั้น เพราะในสถานการณ์ COVID-19 รัฐบาลลุงตู่จัดเงินกู้เข้าไปดูแลคนตัวเล็ก 2 ชุด

(1) คณะรัฐมนตรีอนุมัติ soft loan โดยให้กู้ยืมผ่านธนาคารออมสิน 150,000 ล้านบาท กำหนดเงื่อนไขว่า สถาบันการเงินจะมากู้ยืมจาก ธนาคารออมสิน เพื่อนำไปปล่อยกู้ต่อยังลูกค้าของตัวเองในลักษณะ PN หรือ term loan ระยะเวลา 2 ปี อัตราดอกเบี้ย 2% ในวงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย โดยสถาบันการเงินจะต้องปล่อยสินเชื่อใหม่แก่ลูกค้าเดิม หรือลูกค้าใหม่ก็ได้ แต่ต้องไม่ใช่รีไฟแนนซ์หนี้เดิม 

 

คณะรัฐมนตรีลุงตู่นี่แหละยังได้อนุมัติให้ผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินประเภท non-bank มาขอสินเชื่อ soft loan เพื่อเสริมสภาพคล่องของกิจการได้ภายในวงเงินไม่เกิน 80,000 ล้านบาท อันนี้แหละที่เป็นแผลหนักหน่วง เพราะ “นอนแบงก์” ได้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำไปปล่อยกู้ในอัตราที่สูงมาก

 

“คลัง-ธปท.” ต้องฟัง 108 วิธีหากินกับซอฟต์โลน

 

(2) ธนาคารแห่งประเทศไทยจัด soft loan จำนวน 5 แสนล้านบาท แก่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจเป็นการเฉพาะ เพื่อนำไปให้กู้ยืมแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่เป็นลูกหนี้เดิม ที่มีวงเงินสินเชื่อของกลุ่มกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท โดยให้กู้ในลักษณะ working capital หรือ term loan ก็ได้ วงเงินไม่เกิน 20% ของยอดหนี้คงค้างแต่ละอัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ย 6 เดือนแรก นับแต่วันที่ลูกหนี้ได้รับสินเชื่อ

 

ปัญหาอยู่ที่ตรงนี้ครับ เงินกู้ซอฟต์โลนของแบงก์ชาติเขาห้ามคิดค่าธรรมเนียมอื่นๆ แต่ซอฟท์โลนที่มาจากออมสิน สถาบันการเงินบางแห่ง อาจคิดค่าธรรมเนียม จิปาถะบันเทิงจนดอกเบี้ยเลยเถิดไปทะลุ 20%...สลบสิครับ

 

“คลัง-ธปท.” ต้องฟัง 108 วิธีหากินกับซอฟต์โลน

แผลจุดนี่แหละที่บรรดาเอสเอ็มอีร้องกันระงม และกลายเป็นประเด็นที่พรรคฝ่ายค้านนำมาถล่มในสภาอันไร้เกียรติแน่นอน

 

วันก่อนผมได้รับข้อมูลมาจาก คุณสุพจน์ อาวาส อดีตกรรมการผู้จัดการเอสเอ็มอีแบงก์ ท่านบอกว่า ตอนนี้เอสเอ็มอีร้องกันสนั่นเมือง เพื่อถามหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำมาชุบชีวิตในวิกฤติโควิด-19 แต่หาที่ไหนก็ไร้คำตอบ แถมมาตรการนี้ยังม่ช่องโหว่ในการปฏิบัติมากมาย

 

คุณสุพจน์ชี้ปมไว้น่าสนใจดังนี้ 1. ต้องติดตามดูว่าบรรดาธนาคารพาณิชย์และธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจ (ธนาคาร) ที่นำเจตนารมณ์ของรัฐและวิธีการของ ธปท.ไปอ้างอิง หรือ ทำตามมากน้อยเพียงใดแค่ไหน

 

2.ต้องกำหนดประเภท หรือ ชนิดหลักประกันที่ SMEs จะใช้ประกันเงินกู้เงิน เพราะถ้าปล่อยให้เป็นแบบปัจจุบัน SMEs ส่วนมากจะกู้มิได้ เพราะไม่มีที่ดิน หรือ หลักทรัพย์ถาวร  อย่างเบาะๆ ก็ให้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันซึ่งผู้กู้ต้องเสียค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อให้ บสย. มากน้อยก็เป็นร้อยละของวงเงินกู้และหลักทรัพย์ก็ต้องถูกประเมินราคา เสียค่าประเมินหลักทรัพย์ ค่าจดจำนอง ค่าประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองสินเชื่อเต็มวงเงิน ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นต้นทุนของ SMEs

 

“คลัง-ธปท.” ต้องฟัง 108 วิธีหากินกับซอฟต์โลน

 

นี่ยังไม่นับ “ค่าปากถุง” ที่รู้และเรียกเก็บกันไม่ต่ำกว่า 5% บางธนาคารพาณิชย์ยังหักเงินงวดไว้อีก 6 เดือน ...ขุมทรัพย์แท้ๆ

3.เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำนั้นกลายเป็นช่องทางหาเงินของ SMEs บางแห่งที่ได้ “เงินกู้” มาจะนำไปให้ SMEs รายอื่นที่กู้เงินจากธนาคารไม่ได้ กู้ต่อ” โดยการเอาเช็คมาแลกและคิดกันขั้นต่ำ 5% ต่อเดือน

 

4.มีธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจบางแห่งไม่รับคำขอสินเชื่อจากเอสเอ็มอี เพราะ  “ยอดเต็ม” และ ยังผลักไสไล่ส่งให้ SMEs ไปกู้กับธนาคารพาณิชย์และฮั้วกันเก็บ “เบี้ยใบ้รายทาง” แบบหน้าตาเฉย

 

5.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ควรจัดทำตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน (KPI) เพื่อใช้ในการติดตามและกำกับดูแลการดำเนินงานของสถาบันการเงินที่เป็นรัฐวิสาหกิจทั้งใน “เชิงปริมาณ” กล่าวคือ สามารถปล่อยสินเชื่อได้เป็นไปตามเป้า หรือ จำนวนที่ตกลงกันหรือไม่ และใน  “เชิงคุณภาพ” ว่า  ปล่อยถูกคนหรือไม่อย่างไร มีการควบคุมดูแลตามกฎ หรือ กติกาที่ตกลงกันหรือไม่ เม็ดเงินที่ปล่อยกู้สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามความคาดหวังของรัฐบาลหรือไม่

 

คุณสุพจน์เสนอว่า "เงิน 5 แสนล้านบาท และเงิน 1.5 แสนล้านบาทนั้น ความจริงไม่ควรนำไปช่วยผู้ประกอบการขนาดกลาง ที่มีอยู่ 40,652 ราย เพราะจะได้เงินกู้โดยเฉลี่ยเพียงรายละ 12.30 ล้านบาท แต่ถ้ายอมเสียเวลาและนำเงินไปกระจายให้ SMEs ขนาดย่อม (S) ที่มีอยู่ 3,029,525 ราย จะมีประโยชน์และทั่วถึงมากกว่า และแต่ละรายก็ต้องการเงินไม่มาก”

 

ประการสุดท้ายนี่ดีมาก คุณสุพจน์ให้ข้อมูลดีมากว่า รัฐควรเข้าไปดูแลการปล่อยกู้ซอฟต์โลนด้วยว่า มีการขายพ่วงอย่างอื่นหรือไม่ โดยเฉพาะการทำประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองสินเชื่อเต็มวงเงิน

 

เพราะผู้เอาประกันต้องเสียเบี้ยประกันโดยเฉลี่ยเท่ากับ 20,000 บาท ต่อวงเงิน 1 ล้านบาท เช่น ถ้าได้รับอนุมัติสินเชื่อ 20 ล้านบาท ผู้เอาประกันต้องเสียเบี้ย 400,000 บาท

 

วงเงิน 5 แสนล้านบาท ที่ปล่อยไปเท่ากับว่า ผู้กู้หรือ SMEs ต้องเสียค่าเบี้ยประกันรวม 2,880 ล้านบาท และในจำนวนนี้จะถูกแยกออกเป็นคอมมิชชั่นประมาณ  18% หรือเท่ากับ 518 ล้านบาท

 

เงินก้อนนี้จะถูกดูดจากคนตัวเล็กไปจัดสรร หรือ แบ่งจ่ายให้กับผู้บริหาร พนักงาน หรือ เจ้าหน้าที่ลดหลั่นกันไปตั้งแต่สำนักงานใหญ่ สำนักงานภาค สำนักงานเขต และสำนักงานสาขา

 

นี่คือขุมทรัพย์ที่กระทรวงการคลัง และแบงก์ชาติควรรับไปพิจารณาติดตาม หาทางแก้โดยด่วน!