COVID-19 ปลุกอุตสาหกรรมให้ตื่น

11 พ.ค. 2563 | 00:56 น.

ข่าวร้ายทางเศรษฐกิจออกมาไม่หยุดในช่วงระบาดของไวรัสโควิด-19 และล่าสุดดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของเดือนมีนาคม 2563 ที่เป็นตัวเลขล่าสุดนั้น ติดลบกว่าร้อยละ 11.25 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ทำให้ตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) ในไตรมาสแรกของปีนี้ติดลบ ร้อยละ 6.7 ถือว่าต่ำสุดตั้งแต่น้ำท่วมในปี 2554

 

ผมว่าถ้าเราอ่านแค่นี้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ตัวเลขเป็นอย่างนี้ นักวิเคราะห์ก็มุ่งประเด็นสาเหตุไปที่ไวรัสโควิดที่ทำให้โรงงานหลายโรงงานหยุดชะงัก หลายประเทศปิดเมือง ปิดประเทศ ผู้บริโภคชะลอการจับจ่ายใช้สอยเพราะความไม่มั่นใจในรายได้ที่ลดลงหรืออาจลดลงจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงักหรือชะลอตัวลงจากมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลในแต่ละประเทศงัดออกมาสู้กับการระบาดของไวรัส ทำให้การส่งออกทั้งโลกชะงักและลดลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ โครงสร้างการส่งออกของไทยกว่าร้อยละ 60 ของผลผลิตภาคอุตสาหกรรมไทยพึ่งพิงการส่งออก พอลูกค้าต่างประเทศเขาไม่ซื้อ ส่งออกก็ลด ผลผลิตก็ลด เป็นธรรมดา แสดงว่าเป็นผลมาจากอุปสงค์ลด ….. ซึ่งผมก็ว่าถูกต้อง …. แต่ไม่ถูกทั้งหมด

 

หากจะดูข้อมูลย้อนหลังไปยาว ๆ อีกนิด เราจะพบว่าดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงมาอย่างต่อเนื่องหลายเดือนติดต่อกัน ถ้านับตั้งแต่ต้นปีที่แล้วมา ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมรวมลดลงมาทุกเดือนยกเว้นเดือนพฤษภาคมปีที่แล้วเดือนเดียว จากนั้นติดลบมาตลอด 11 เดือน และเดาต่อได้เลยว่าตกต่ออีกแน่ ๆ อย่างน้อย 3 – 6 เดือน

 

หากถามคนในวงการอุตสาหกรรมจะรู้ดีว่าสัญญานการชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรมนั้นมีมาตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว ตั้งแต่สหรัฐอเมริกาเริ่มสงครามการค้ากับจีนแล้ว ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกภาคอุตสาหกรรมไทยชะลอตัวลงมาตลอด เพราะร้อยละ 12 ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทยไปจีน นอกจากนี้ ยังเป็นสินค้าขั้นกลาง หรือวัตถุดิบ และแถมเป็นรายการที่อยู่ในลำดับต้น ๆ ของมูลค่าการส่งออกสูงสุดด้วย เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ขั้นต้น ฯลฯ ทำให้อัตราการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไทย (ที่ไม่รวมทองคำ) ติดลบมาตลอดตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว และทั้งปีติดลบร้อยละ 3.35 แต่วิกฤติไวรัสวันนี้ ทำให้การส่งออกที่ลดลงอย่างมากและเร็ว ส่งผลต่อการลดลงของผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในประเทศด้วย โดยในเดือนมีนาติดลบสูงสุดในรอบหลายสิบเดือน ที่ -11.25 % ซึ่งผมถือว่าเป็นเหมือนสัญญานเตือนภัยต่อปัญหาที่ซ่อนลึกของโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมของไทยที่ถูกซ่อนมานาน

 

COVID-19 ปลุกอุตสาหกรรมให้ตื่น

 

ปัญหาที่ผ่านมาของโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยนั้น พอสรุปได้ คือ

  1. การส่งออกอุตสาหกรรมของเรา คือ มักเป็นสินค้าเดิม ๆ และไม่กี่รายการ อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์เบื่องต้น ฯลฯ แบบนี้มากกว่า 30 ปี และยังไม่พอสัดส่วนของรายการสินค้าเหล่านี้ต่อมูลค่าส่งออกรวมมีค่ามากขึ้นมาตลอด และส่วนมากเป็นการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศ
  2. อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงนั้นมักเป็นการลงทุนจากต่างประเทศ ที่นโยบายการพัฒนาและการวาง position ของการลงทุนนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของ Global supply chain ปัญหาคือเราจะขยับวางตัวเองให้ไปอยู่ในกิจกรรมหรือส่วนที่มีมูลค่าสูงขึ้นหรือสำคัญขึ้นได้นั้นก็ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มองภาพของทั้งโลก ทั้งภูมิภาค ไม่ใช่รายประเทศ
  3. อุตสาหกรรมไทยส่วนใหญ่ยังอาศัยความได้เปรียบด้านต้นทุน ไม่ว่าค่าแรงโดยเปรียบเทียบ ค่าเช่า วัตถุดิบ หรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ซึ่งประเทศในอาเซียนกำลังแข่งขันกันเสนอสิทธิประโยชน์ให้กับนักลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ จนบ่อยครั้งมีคำถามว่าคุ้มกับที่ประเทศไทยได้อะไรจากการลงทุนนั้น ๆ หากไม่มีการกระจายความรู้ เทคโนโลยีให้กับอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศ เพราะรายได้จากการจ้างงานน่าจะหมดข้ออ้างได้แล้ว
  4. SME ไทยในภาคการผลิตและสามารถดันตัวเองออกมาเป็นอิสระจากห่วงโซ่อุปทานหรือเครือข่ายรับจ้างผลิตให้บริษัทยักษ์ใหญ่นั้นมีจำนวนไม่มาก และต้องใช้ทุน ความรู้ และเครือข่ายการตลาดอย่างมาก ทำให้ส่วนมากยังเป็นผู้รับจ้างผลิต (OEM) เป็นส่วนมาก เพราะปลอดภัย ไม่ต้องเสี่ยง  
  5. ผู้ผลิตส่วนมากยังอยู่ผลิตภัณฑ์เดิม ๆ การพัฒนายังไม่มีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนามากนักเพราะมีความเสี่ยงสูง รวมทั้งการเข้าสู่ตลาดต้องใช้ทั้งต้นทุนและเวลามาก หลายอุตสาหกรรมนั้นมีผู้เล่นรายใหญ่ ๆไม่กี่ราย ทำให้มีอำนาจเหนือตลาดในการควบคุมและต่อรองผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน ดอกาสการเกิดใหม่และการพัฒนารายเก่าที่มีอยู่เดิมทำได้ยาก
  6. การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ๆ เป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ต้องใช้นวัตกรรม เงินทุน บุคคลากรความรู้สูง ดังนั้นการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ส่วนมากจึงเป็นนักลงทุนจากต่างประเทศ ส่วนนักลงทุนไทยในสาขานี้ที่พอมีนั้นมักมีระดับนวัตกรรมจำกัดและตลาดไม่กว้าง
  7. อุตสาหกรรมอาหารที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบจากวัตถุดิบนั้น แต่ความได้เปรียบของผู้ผลิตรายใหญ่ไม่ใช่ของทุกคนที่ผลิตอาหาร เพราะอุตสาหกรรมอาหารมีกฎ กติกา มาตรฐานด้านสาธารณสุข ความปลอดภัย มากมาย และยิ่งเพื่อการส่งออกแล้ว มาตรฐานต้องเป็นมาตรฐานระดับโลกที่ลูกค้ายอมรับ แต่ละตัวกำหนดไม่ใช่แค่ตัวผลิตภัณฑ์สุดท้าย แต่รวมถึงทุกส่วนตั้งแต่วัตถุดิบ กระบวนการผลิต และผลิตภัณฑ์ ทำให้โครงสร้างในอุตสาหกรรมนี้มักเป็นการรวมตัวในแนวตั้ง (Vertical Integration) ซึ่งต้องใช้ทุน ความรู้ มาก โอกาสที่รายเล็ก ๆ จะขยายตัวที่ผ่านมาจึงมีไม่มากนัก   

 

การพัฒนาที่ผ่านมา การพึ่งพิงรายการสินค้าเดิม ๆ อาจดีที่ตรงที่ว่าเราสร้างรากฐานของความสามารถในการแข่งขันได้ดี แต่ที่เราเห็นตอนนี้ โลกเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน ทุกอย่างเปลี่ยนไปไวมาก และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคแถบนี้ไล่จี้ไทยในการพัฒนาและการลงทุนภาคอุตสาหกรรมจนลมหายใจรดต้นคอ ทำให้สินค้าหลายอย่างของไทยเริ่มขาดความสามารถในการแข่งขันกับเพื่อนบ้าน ปัจจัยที่เราเคยคิดว่าเป็นตัวช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้เรานั้น ในวันนี้ ประเทศอื่น ๆ ก็เริ่มสร้าง และมีมากขึ้น ปัจจัยบางอย่างมากกว่าเราซะอีก อย่างเช่น จำนวนวิศวกร จำนวนห้องทดสอบต่อจำนวนสินค้าอุตสาหกรรมที่ผลิต ฯลฯ นอกจากนี้ค่าแรงของเราต่อผลิตภาพของแรงงานก็ถือว่าสูงมาก ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นของเรานั้นเพิ่มเร็วกว่าผลิตภาพแรงงาน และที่เพิ่มขึ้นก็ไม่ได้เพิ่มตามฝีมือแรงงาน ลองนึกถึงตอนขึ้นค่าจ้างแรงงานที่ผ่านมาและการย้ายโรงงาน การลงทุนใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นออกไปต่างประเทศ ก็คงพอเข้าใจว่าผมพูดถึงอะไร

 

COVID-19 ปลุกอุตสาหกรรมให้ตื่น

 

แถมไม่พอวันนี้ ประเทศคู่แข่งของเรา ไม่ว่าเวียดนาม มาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย ก็เป็นสมาชิกในหลายข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศมากกว่าไทย ไม่ว่าข้อตกลงกับสหรัฐอเมริกา ยุโรป แถบแปซิฟิคของทวีปอเมริกา กลุ่มอเมริกาใต้ หรือ CPTPP ที่เราวุ่นวาย เถียงกันว่าจะเข้าไม่เข้า ทั้ง ๆ ที่สมาชิกเดิมจะให้เราเข้าร่วมหรือเปล่าก็ไม่รู้ ทั้งหมดทำให้เราเสียเปรียบแต้มต่อทางด้านต้นทุน ความสะดวก ไปมากมาย ดังนั้น หากจะสู้ก็ต้องเปิดมุมใหม่ในการแข่งขัน …. หาตัวได้เปรียบในการแข่งขันใหม่ แม้เป็นสาขาเก่าที่เราเก่ง แต่ตั้งเป็นตัวเก่าที่ใหม่ ใหม่ในปัจจัยที่ดีกว่าเขา ซึ่งพวกนี้ก็คือ อุตสาหกรรมเป้าหมายที่เรากำหนดไว้แล้วหลายปี ตอนนี้รอให้มี Grand strategy และมีคนลงมือทำจริง ๆ เท่านั้น 

 

การที่เรายังคงพึ่งพิงรายการเดิม ๆ นั้น อาจมีมุมดี ๆ ที่ต้องคิดเหมือนกัน ว่าหากเราทำให้รายการสินค้าเดิม ๆ นั้นไม่ใช่ “ผลิตภัณฑ์เดิม ๆ” แต่มีมูลค่าสูงขึ้น มีนวัตกรรมมากขึ้น หรือถ้าอยู่ในห่วงโซ่มูลการผลิตของโลก ก็ขอให้อยู่ในส่วนที่มีมูลค่าสูงน่าจะเป็นสิ่งที่ดี ผมคิดว่าเราเป็นเช่นนี้อยู่ แต่ถามว่าตอนนี้อยู่ไหน ที่ผ่านมาดีขึ้นหรือไม่ เช่น เราเปลี่ยนจากการผลิตชิ้นส่วนธรรมดา ง่าย ๆ ราคาถูก มาผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เหมือนเดิม แต่ชิ้นที่มีราคาแพง มีนวัตกรรม ฯลฯ ของเดิม ๆ ที่ไม่เหมือนเดิม

 

ตอนนี้ผมว่ายังไม่มีใครตอบได้ดีมากนักในภาพรวม ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ต้องมีคนวัดและชี้ถึงคุณภาพ (Quality) หรือคุณค่า (Value) วันนี้ได้ข่าวดีว่า ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) ของกระทรวงอุตสาหกรรมที่กำลังพัฒนานั้นจะเอามูลค่าหรือคุณภาพลงไปในตัวผลิตภัณฑ์และวัดออกมาเป็นดัชนีด้วยนั้น ผมว่าดีครับ เพราะหากเป็นดัชนีคุณภาพ (Quality Index) แทนดัชนีหน่วยผลผลิต (Quantity Index) ซึ่งจะช่วยเราติดตามผลการพัฒนาอุตสาหกรรมของเราตามแนวคิด S-Curve ใหม่ได้เป็นดี เพราะอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ของเรานั้น ส่วนมากยังเป็นอุตสาหกรรมเดิม ๆ แต่ที่เพิ่มเติมคือ คุณค่า (Value) โดยใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และการสร้างสร้าง อันจะช่วยส่งสัญญานให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถกำหนดแนวทางและมาตรการการพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อภาคอุตสาหกรรม

 

ผมหวังว่าด้านดีของวิกฤติไวรัสครั้งนี้จะเป็นระฆังปลุกผู้เกี่ยวข้องรับรู้จุดอ่อนในภาคอุตสาหกรรมที่เราเผชิญมานาน และรีบเร่งการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกันก่อนที่คลื่นลูกใหม่จะมา