วิสาหกิจชุมชน … “เปลี่ยน” เพื่อ “อยู่”

13 เม.ย. 2563 | 03:03 น.

วิกฤติไวรัสครั้งนี้ ไม่ค่อยมีใครพูดถึงกลุ่มวิสาหกิจระดับชุมชนมากนัก วันนี้พวกเขาก็เจอมรสุมเหมือน ๆ คนอื่น ๆ ไม่ว่ารายได้ลด ออกจากงาน รายได้ที่เลี้ยงปากท้องลดฮวบหรือหายไปเฉย ๆ และในขณะที่หลายกลุ่ม หลายส่วน อาจกำลังบ่น ก่นด่า สาปแช่ง โชคชะตาและคนอื่น ๆ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้บางกลุ่ม บางพวกคุกเข่ากับความโชคร้ายครั้งนี้ แต่หันมาจับมือร่วมกันคิดและทำ เพื่อหาทางรอดให้กับตัวเอง ครอบครัวและกลุ่มตัวเองในยามยากลำบากครั้งนี้ และพร้อมที่จะเดินหน้าอย่างแข็งแรงในวันหน้า

ผมได้มีโอกาสคุยกับ “น้อง” คุณนารีรัตน์ อุทัยแสงสกุล ผู้นำหญิงแกร่ง ของ “ตลาดหัวปลี” และศูนย์ OTOP คอมเพล็กซ์ พุแค อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี ซึ่งตลาดหัวปลีนี้เป็นตลาดชุมชนแบบบ้าน ๆ อยู่ในดงไม้ใฝ่ที่ร่มรื่น ตลาดที่ผู้คนมาเที่ยวแน่นทุกสุดสัปดาห์ ตลาดที่ระบบการบริหาร รูปแบบธุรกิจ และความร่วมมือของชมชนเป็นแบบที่ไม่ค่อยเหมือนใคร พวกเขาเหมือนผูกลมหายใจทุกคนเข้าไว้เป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งครั้งหนึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาก็เคยพาคณะรัฐมนตรีบางท่านลงเยี่ยมชมตลาดที่น่าทึ่งแห่งนี้

แม้ว่าวันนี้ตลาดได้ปิดตัวลงจากวิกฤติไวรัส แต่ก็ไม่ได้ปิดความหวังของชุมชนแห่งนี้ พวกเขาวันนี้ก็ทำเหมือนที่พวกเขาทำมาตลอด คือ ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ตามสถานการณ์ ต้องรีบเปลี่ยนทันที่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน ครั้งนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่พวกเขาเจออุปสรรค แต่ครั้งนี้ คุณน้องบอกผมว่าทุกอย่างเปลี่ยนไวมาก และแรงมากกว่าที่เคยเจอ และพวกเขาไม่ยอมเสียเวลาไปบ่น โวยวาย หรือตัดพ้อโชคชะตา แต่รีบคุยกันว่า “คราวนี้เราจะเปลี่ยนอย่างไรดี” ผมฟังแล้วทึ่งครับ เลยนำมาเรียบเรียง เล่าต่อ ตามที่ได้ฟังคุณน้องเล่ามา

ปัญหาที่พวกเขาเจอในช่วงวิกฤตินี้ก็คือ จำนวนลูกค้าที่มาเยี่ยมลดลง คำสั่งซื้อพืชผักผลไม้ที่ปลูกลดลง รายได้ธุรกิจต่อเนื่องลดลง จำนวนคนที่เข้ามาอบรมดูงานที่ศูนย์ OTOP หายไป ส่งผลต่อรายได้ทุกส่วนลดลงอย่างมาก ทำให้กลับมาตั้งหลักก่อนว่ารายได้มาจากไหน และรายจ่ายไปที่ไหน จากนั้นก็ค่อย ๆ เริ่มปรับตัวมาตลอด และตอนนี้ที่พวกเขากำลังทำ คือ

1. ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลงในทุกส่วนทั้งในส่วนตัวของพนักงานและขององค์กร ปิดตลาดและลดกิจกรรมศูนย์บางกิจกรรมที่ไม่มีลูกค้า เพื่อให้พนักงานบางส่วนหยุดงานบางวันเพื่อลดค่าใช้จ่ายองค์กรด้านนี้ แต่หารายได้ให้พนักงานอย่างอื่น

2. ให้พนักงานบางส่วนที่ลดการทำงานลงนั้นเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือของรัฐ เพื่อมีรายได้มาชดเชย และให้พนักงานที่หยุดงานหารายได้พิเศษจากทรัพยากรที่มีอยู่ เช่น ใช้ที่ดินที่มีของตลาดและของศูนย์มีอยู่ให้แต่ละคนปลูกพืชผักขายตามที่ตนเองต้องการเพื่อจำหน่าย

3. ลดค่าใช้จ่ายให้พนักงาน ของกินของใช้ โดยเฉพาะพืช ผัก ที่พวกเขาช่วยกันปลูกในศูนย์นั้นสามารถเก็บกลับไปทานที่บ้านได้ และสามารถซื้ออาหาร ใข่ไก่ และผลิตภัณฑ์ของศูนย์ในราคาถูก

4. พวกเขาเปลี่ยนทรัพย์สินที่ไม่ใช้สำหรับการสร้างรายได้ในช่วงนี้ เปลี่ยนให้เป็นเงินสดให้มากที่สุด ทรัพย์สินเหล่านี้หามาได้ตอนที่ศูนย์มีรายได้มากและไม่เป็นพัสดุภัณฑ์นั้น “น้อง” บอกว่า “วันนี้เราต้องการเงินสดมาดูแลคนของเรา สักวันหนึ่งเมื่อมีรายได้เข้าในอนาคตก็หาใหม่ได้” ทำให้ผมนึกถึงตอนที่ CP ขาย

“โลตัส” ให้ “เทสโก” ตอนวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เพราะต้องการสภาพคล่องมาหมุนเวียนในธุรกิจภาพรวมของเครือ และวันนี้พวกเขาก็ซื้อเทสโกกลับคืนมาได้

5. หันมาหารายได้จากออนไลน์และจัดส่งมากขึ้น พ่อค้าแม่ค้าในตลาดแต่ละรายเริ่มจัดส่งสินค้า เน้นในพื้นที่จังหวัดและสถานที่ใกล้ ๆ เพราะเป็นอาหาร ของสด ผักสด เป็นส่วนมาก แต่ขณะนี้ ผมเข้าใจว่ากำลังหารือกันว่าน่าจะทำเมนูรวมกันหลาย ๆ พ่อค้าแม่ค้า เพื่อให้ลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น สามารถดึงกลุ่มตลาดได้กว้างกว่าต่างคนต่างทำ เวลาส่งก็แบ่งเป็นสาย ๆ เมนูของพ่อค้าแม่ค้าแต่คนมารวมกันจัดส่งทีเดียว ช่วยการจัดการโลจิสติกส์ได้ดีขึ้นและประหยัดมากขึ้น แต่ผมว่าคงต้องมีทีมงานและการบริหารส่วนกลาง

6. เอาตลาดไปหาลูกค้า เพราะที่ตลาดทุกวันนี้มีผลไม้ ผักสดที่ปลูกเอง และมีสินค้าที่ได้มาตรฐาน ปลอดภัย เลยคิดที่จะทำ “รถพุ่มพวงพรีเมี่ยม” คัดเอาของดี ๆ ที่ได้มาตรฐาน ใส่รถเหมือนรถพุ่มพวงที่เคยเห็นทั่วไป แต่ออกแบบให้ทันสมัย ไปขายเจาะลูกค้าในแต่ละจุด เช่น หมู่บ้าน สถานที่ทำงาน บริษัทใหญ่ ๆ ฯลฯ แต่ปัญหาเรื่อง Social distancing รวมทั้งความระแวงด้านไวรัส ทำให้พวกเขาต้องคิดนานหน่อย เพราะต้องดูทั้งด้านคุณภาพ การจัดการที่ต้องมีมาตรฐานที่คนซื้อและคนขายสบายใจและปลอดภัยทั้งสองฝ่าย

“คุณน้อง” บอกว่าวันนี้เราก็ยังไม่รู้ว่าเมื่อไรสถานการณ์จะกลับมาปกติอีกครั้ง แต่การเปลี่ยนแปลงก็ยังต้องทำต่อไปไม่หยุด เพราะไม่รู้ปัญหานี้จะจบไวหรือช้า จะมีเรื่องใหม่เข้ามาอีกหรือไม่ พฤติกรรมของคนจะเปลี่ยนไปมากขนาดไหน และอื่น ๆ อีกจิปาถะความเสี่ยง และไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล แต่ที่แน่ ๆ พวกเขาก็ต้องพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงอีก

ถ้ามองในแง่ดี ก็พอมีให้เห็น ทำให้ทุกคนทุกสาขา ทุกอาชีพ เข้าใจในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาและสัจจธรรมของนักวิทยาศาสตร์ชื่อดัง ชาลส์ ดาลวิน ที่ว่า “ไม่ใช่คนแข็งแรงที่สุด หรือคนฉลาดที่สุดที่จะอยู่รอด แต่เป็นคนที่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ดีและเร็วต่างหาก” และวันนี้เป็นสภาพการณ์ที่ทำให้เราเข้าใจคำว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา หรือ “ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน” และคนที่อยู่รอดได้ต้องเป็นคนที่มีความพร้อมในการ “เปลี่ยน”