“ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ปลุกชีพ “สายการบิน” ขนต่างชาติเข้าไทย

12 มิ.ย. 2564 | 05:40 น.

“ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์”  โครงการตามนโยบายรัฐบาลโดยศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.)   ที่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบโดสสามารถเดินทาง เข้าประเทศไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว 14 วัน นับตั้งแต่วันที่1กรกฎาคมนี้เป็นต้นไป   ขณะเดียวกันยังหมายรวมถึงนักท่องเที่ยวไทยที่ มั่นใจว่าได้รับวัคซีนแล้วตามเป้าหมายใช้เกาะภูเก็ตไข่มุกอันดามันสรรค์บนดินของชาวต่างชาติโมเดล นำร่องก่อนขยายไปยังพื้นที่อื่น เพื่อปลุก อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ให้ตื่นจากหลับ

ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19  ยังรุนแรง หากไม่ขยับขับเคลื่อนใดๆออกมา ความสูญเสียทางเศรษฐกิจประเทศนับวันจะมีมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นภาคบริการ โรงแรม ร้านอาหาร เมื่อมีการจุดพลุเปิดเมืองภูเก็ต เสียงตอบรับจึงมีเข้ามาอย่างคึกคัก โดยเฉพาะสายการบิน ที่เตรียมความพร้อม หลังจากบาดเจ็บจากสถานการณืการระบาดโควิด-19มาตั้งแต่รอบแรก

ทั้งนี้ จะมีสายการบินไหนที่พร้อมบ้าง เริ่มจาก  นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด(มหาชน)เปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ"ว่า สายการบินนกแอร์ มีแผนเพิ่มจำนวนเที่ยวบินตรงไปยังจังหวัดภูเก็ต วันละ4-8 เที่ยวบิน(ไป-กลับ) จากปัจจุบันบินวันละ 2 เที่ยวบิน(ไป-กลับ) โดยปัจจุบันมีฝูงบินที่พร้อมทำการบิน จำนวน 22 ลำเป็นเครื่องบินโบอิ้ง373-800 จำนวน 14 ลำ และ Q400 จำนวน 8 ลำรองรับการเปิดเกาะภูเก็ต (Phuket Sand Box)ตั้งแต่วันที่ 1ก.ค.64

สอดคล้องกับ การบินไทย โดยนายนนท์ กลินทะ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บมจ.การบินไทย (THAI) ที่ออกมายืนยันว่าได้จัด  5 เที่ยวบินตรงสู่ภูเก็ตจาก 5 เมืองในยุโรป ได้แก่ โคเปนเฮเกน แฟรงก์เฟิร์ต ปารีส ลอนดอน และซูริก ในเดือน ก.ค.-ก.ย.64 เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลในการกระตุ้นและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภายใต้โมเดล ภูเก็ต แซนด์บ๊อกซ์ (Phuket Sandbox) ด้วยการเปิดประเทศเชิญชวนนักท่องเที่ยวที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวที่จังหวัดภูเก็ตแบบไม่ต้องกักตัว เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19

สำหรับเที่ยวบินไล่ตั้งแต่ เที่ยวบินที่บินทุกวันศุกร์ เที่ยวบินแรกวันที่ 2 กรกฎาคม 2564 คือ เที่ยวบินที่ ทีจี 953 เส้นทาง โคเปนเฮเกน-ภูเก็ต ออกเดินทางจากโคเปนเฮเกน เวลา 14.25 น. (เวลาท้องถิ่น) ถึงภูเก็ต เวลา 06.25 น. ในวันถัดไป,เที่ยวบินที่ ทีจี 923 เส้นทาง แฟรงก์เฟิร์ต-ภูเก็ต ออกเดินทางจากแฟรงก์เฟิร์ต เวลา 14.45 น. (เวลาท้องถิ่น) ถึงภูเก็ต เวลา 07.10 น. ในวันถัดไป,เที่ยวบินที่ ทีจี 933 เส้นทาง ปารีส-ภูเก็ต ออกเดินทางจากปารีส เวลา 15.50 น. (เวลาท้องถิ่น) ถึงภูเก็ต เวลา 08.00 น. ในวันถัดไป

ตามด้วย เที่ยวบินที่บินทุกวันเสาร์ เริ่มเที่ยวแรกวันที่ 3 กรกฎาคม 2564 คือเที่ยวบินที่ ทีจี 917 เส้นทาง ลอนดอน-ภูเก็ต ออกเดินทางจากลอนดอน เวลา 12.30 น. (เวลาท้องถิ่น) ถึงภูเก็ต เวลา 06.10 น. ในวันถัดไป, เที่ยวบินที่ ทีจี 973 เส้นทาง ซูริก-ภูเก็ต ออกเดินทางจากซูริก เวลา 15.20 น. (เวลาท้องถิ่น) ถึงภูเก็ต เวลา 07.45 น. ในวันถัดไปนอกจากนี้ยังเตรียมเปิดเส้นทางเอเชีย-ยุโรป-ออสเตเลีย อีก16เส้นทาง สำหรับนักธุรกิจที่มีความจำเป็นต้องเดินทาง ขณะไทยสมายล์ อีกสายการบินที่ พร้อม กลับมาบินในเส้นทาง ภูเก็ต-ฮองกง เริ่มตั้งแต่วันที่2ก.ค.สร้างความคึกคักให้กับ ธุรกิจสายการบินและภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์แม้ว่า จะยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ความสนใจเข้าไทยใช้ชีวิตในจังหวัดภูเก็ตมากน้อยแค่ไหน

สำหรับภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ นำร่องดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย นางชาริตา ลีลายุทธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด อธิบายว่า เห็นด้วยสายการบินไทยสมายล์ พร้อมกลับมาให้บริการเส้นทางต่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวอีกครั้ง นับเป็นเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ครั้งแรกในรอบกว่า 1 ปี ในการกลับมาทำการบินครั้งนี้ สอดรับกับนโยบายภาครัฐในการผลักดันให้ภูเก็ต เป็นพื้นที่นำร่องในการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตามกลยุทธ์ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” (Phuket Sandbox)

ทั้งนี้ ไทยสมายล์มองว่านี่คือโอกาสและศักยภาพเส้นทางบินในภูมิภาคสู่ภูเก็ต เชื่อมต่อไปยังสุวรรณภูมิ ด้วยความพร้อมด้านการบิน มาตรการความปลอดภัยขั้นสูง เช่นเดียวกับการบินไทยปัจจุบันไทยสมายล์ให้บริการเส้นทางบินในประเทศ 9 เส้นทาง ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ อุบลราชธานี อุดรธานี ขอนแก่น กระบี่ ภูเก็ต หาดใหญ่ และนราธิวาสสำหรับเส้นทางบินระหว่างประเทศ เส้นทางภูเก็ต – ฮ่องกง จะให้บริการ 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ (จันทร์/ พุธ/ ศุกร์/ อาทิตย์) ราคาเริ่มต้น 3,840 บาท/ท่าน/เที่ยว (รวมทุกอย่างแล้ว) พร้อมบริการฟูลเซอร์วิส เปิดให้จองที่นั่งแล้ววันนี้ และพร้อมให้บริการ 2 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป

“ภูเก็ตถือเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจการเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศ นับเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวให้ฟื้นคืนกลับมาภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารที่จำเป็นต้องเดินทางเพื่อติดต่อธุรกิจอีกด้วย”

 

 

 

 

 

 

 

ตอกย้ำด้วยนายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่าความคึกคักของการเปิดเมืองภูเก็ตส่งผลให้มี สายการบินชั้นนำ ให้บริการ บิน 7 สายได้ประกาศแผนเตรียมให้บริการเที่ยวบิน สู่ภูเก็ตได้แก่ 1.การบินไทย เส้นทางบินจากแฟรงก์เฟิร์ต, ซูริค, ลอนดอน, โคเปนเฮเกน, ปารีส, โซล, สิงคโปร์ และโตเกียว บินตรงเข้าภูเก็ต เส้นทางบินละ 1 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ โดยให้บริการแบบ Triangle Flying Pattern จากต้นทาง-ภูเก็ต-กรุงเทพฯ เริ่ม 1 ก.ค.นี้เป็นต้นไป ปัจจุบันได้เปิดขายตั๋วเครื่องบินแล้ว โดยจะเปลี่ยนรูปแบบการขาย ไม่ได้ขายผ่านตัวแทนขายทั่วไป (GSA) แต่จะเป็นการขายแบบจองผ่านการบินไทยโดยตรง2.เอมิเรตส์ ให้บริการเส้นทางบินตรง ดูไบ-ภูเก็ต วันที่ 1-31 พ.ค.ที่ผ่านมา ความถี่ 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และวันที่ 1-30 ก.ค.2564 ให้บริการบินทุกวัน

3.กาตาร์ แอร์เวย์ส ให้บริการเส้นทางบินจากต้นทาง-โดฮา-ภูเก็ต จากสตอล์กโฮม, ออสโล, ปารีส, วอร์ซอ, เวียนนา, เฮลซิงกิ, ซูริค, มิวนิค, แฟรงก์เฟิร์ต และมอสโก เริ่ม 1 ก.ค.นี้เป็นต้นไป บินทุกวัน วันละ 1 เที่ยวบิน4.แอล อัล อิสราเอล แอร์ไลน์ จะให้บริการเส้นทางบิน เทลอาวีฟ-ภูเก็ต เริ่ม 1 ก.ค.นี้เป็นต้นไป บินทุกวัน วันละ 1 เที่ยวบิน แม้ปัจจุบันประเทศอิสราเอลจะมีความวุ่นวายในเมือง แต่ก็เป็นประเทศแรกที่ฉีดวัคซีนครบโดส 100% โดยสายการบินนี้ไม่เคยทำการบินตรงเข้าภูเก็ต ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 5.สิงคโปร์ แอร์ไลน์ส ให้บริการเส้นทางบิน สิงคโปร์-ภูเก็ต โดยเมื่อเดือน มี.ค.-เม.ย.ที่ผ่านมา ให้บริการ 1 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ก่อนจะเพิ่มความถี่ในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาเป็น 2 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และเมื่อ 1 มิ.ย.2564 เป็นต้นมา ให้บริการบินทุกวัน

6.บริติช แอร์เวย์ส ให้บริการเส้นทางบิน ลอนดอน-ภูเก็ต เริ่ม 1 ก.ค.นี้เป็นต้นไป บินทุกวัน วันละ 3 เที่ยวบิน อาจจะให้บริการด้วยเครื่องบินของตัวเองในอนาคต เนื่องจากมีดีมานด์จำนวนมากของนักท่องเที่ยวจากสหราชอาณาจักรที่ต้องการเดินทางท่องเที่ยวนอกประเทศ โดยปัจจุบันเส้นทางลอนดอน-โดฮา-ภูเก็ต ปฏิบัติการบินโดยกาตาร์แอร์เวย์ส เปิดจองตั๋วเครื่องบินผ่านระบบของกาตาร์แอร์เวย์ส ภายใต้การทำการบินร่วม (Codeshare) ของบริติชแอร์เวย์สและ 7.แอร์ฟรานซ์ มีความสนใจบินเข้าภูเก็ตเป็นต้น

คงต้องจับตาว่า ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ซุปเปอร์โมเดลกระตุ้นเศรษฐกิจ ของรัฐบาลท่ามกลางสถานการณ์การระบาดโควิด-19 จะได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติมากน้อยแค่ไหน!!!