‘บางกอกแอร์เวย์ส’ พลิกกลยุทธ์ ฝ่าวิกฤติโควิด 

12 เม.ย. 2564 | 20:00 น.

โควิด-19 กระทบต่อธุรกิจการบินอย่างหนัก แม้แต่บางกอกแอร์เวย์ส ซึ่งจัดว่าเป็นสายการบินเอกชนของไทยที่เข้มแข็งมากที่สุด ในปีที่ผ่านมาก็เผชิญกับการขาดทุนเป็นครั้งแรก สายการบินมีแผนฝ่าวิกฤติอย่างไร

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่าในปีที่ผ่านมาสายการบินบางกอกแอร์เวย์สมีผู้โดยสารใช้บริการเพียง 1.8 ล้านคนเท่านั้น ปีนี้ก็คาดว่าน่าจะใกล้เคียงกัน เพราะไตรมาส 3 สายการบินก็น่าจะขยับได้บ้างจากการรัฐบาลมีนโยบายลดวันกักตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติลง และช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ไทยก็น่าจะเริ่มรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้

การบินกลับสู่ปกติปี 68 

ทำให้เราประเมินว่าตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ปี2564 ไปจนถึงปี 2565 คาดว่าการเดินทางจะกลับขึ้นมาราว 30-40% จากนั้นในปี 2566 -2567 ก็น่าจะกระเตื้องขึ้นอีก แต่กว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ น่าจะเป็นช่วงปี 68 ซึ่งการฟื้นตัวน่าจะเป็นในลักษณะ U Shape เพราะสถานการณ์ไม่ใช่แค่เรื่องความปลอดภัยจากโควิดเท่านั้น แต่มีเรื่องของเศรษฐกิจและกำลังซื้อเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ดังนั้นการดำเนินธุรกิจในวันนี้สายการบินต้องประคองตัวเพื่อรอให้ธุรกิจฟื้นตัว เพราะถ้ามีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ทิศทางการบินจะค่อยๆกลับมา เนื่องจากไทยยังเป็นประเทศที่ต่างชาติต้องการเดินทางมาเที่ยว ยังไงการท่องเที่ยวก็จะกลับมา วันนี้อย่างน้อยเราก็เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ จากการเริ่มมีเรื่องของวัคซีน จากก่อนหน้านี้ที่เดินไม่เห็นปลายอุโมงค์เลย ได้แค่เดินไปเรื่อยๆ 

ผลประกอบการ บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

ดีลหาแหล่งเงิน 4 พันล้าน

อย่างไรก็ตามด้วยความที่กว่าธุรกิจการบินจะฟื้นตัวต้องใช้เวลา สายการบินเองก็ต้องวางแผนเรื่องสภาพคล่อง การลดค่าใช้จ่ายต่างๆ การปรับปรุงแผนใช้เครื่องบิน ปรับปรุงเส้นทางบิน เพื่อประคองตัวขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อรอให้กลับสู่สภาพปกติ เพราะอย่างไรการเดินทางท่องเที่ยวของไทยยังไงก็ต้องกลับมา 

การวางแผนเรื่องสภาพคล่องนอกจากบางกอกแอร์เวย์สจะเป็น 1 ใน 7 สายการบินเอกชนของไทยที่ร้องขอการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) จากรัฐบาลแล้ว บางกอกแอร์เวย์สยังอยู่ระหว่างเจรจากับสถาบันการเงิน ในการหาแหล่งเงินราว 4,000 ล้านบาท เพิ่มนำมาเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจการบิน เพื่อฝ่าวิกฤตโควิด-19 ซึ่งกว่าสถานการณ์การบินจะกลับมาเข้าสู่ภาวะปกติน่าจะเป็นช่วงปี68

ขณะนี้เราต้องการรอความชัดเจนในเรื่องของซอฟต์โลนจากรัฐบาล  ซึ่งสายการบินของไทยทั้ง 7 สายการบินได้ร้องขอการสนับสนุนรวมกันอยู่ที่ราว 1.4 หมื่นล้านบาท แต่ในส่วนของบางกอกแอร์เวย์สขอไปราว 2,400 ล้านบาท ทางเอ็กซิม แบงก์ ก็จะติดต่อไปในแต่ละสายการบิน เบื้องต้นเราก็อาจได้บางส่วนสักครึ่งหนึ่ง ซึ่งก็ต้องรอนโยบายในเรื่องนี้จากรัฐบาลก่อนว่าจะได้หรือไม่หรือได้เมื่อไหร่ 

ลดพนักงานคุมค่าใช้จ่าย

รวมไปถึงการลดค่าใช้จ่ายด้านบุคคลากร โดยในปีที่ผ่านมาบางกอกแอร์เวย์ส ได้เปิดโครงการร่วมใจจากและลาหยุดระยะยาวก็มีพนักงานสมัครใจเข้าร่วมโครงการมากพอสมควร  รวมถึงการเลิกจ้างพนักงานบริษัทในเครือ อาทิ บริการภาคพื้น ครัวการบิน เนื่องจากลูกค้าสายการบินหายไปมาก

ก่อนโควิด-19 บางกอกแอร์เวย์ส มีพนักงานราว 3 พันคน ในปีที่ผ่านมาก็ลดลงไปราว 20% ส่วนบริษัทในเครือก็จะลดลงเช่นกัน อย่างบริษัทครัวการบินกรุงเทพ (BAC) ลดลงราว 30% บริษัทบริการภาคพื้น ลดลงราว 70% บีเอฟเอส คาร์โก้ ลดลงไป 15% ซึ่งคาร์โก้ ลดลงน้อยกว่าส่วนอื่นๆ เพราะเป็นส่วนเดียวที่ทำธุรกิจแล้วยังบวกอยู่ 

โดยในปีที่ผ่านมาเป็นครั้งแรกที่สายการบินประสบกับการขาดทุนกว่า 5 พันล้านบาท เนื่องจากรายได้ของธุรกิจสายการบินที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 70.4 ธุรกิจสนามบิน ปรับตัวลดลง 67.6 และธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง ลดลงร้อยละ 57.5 และเมื่อต้นปีนี้ก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่เข้ามาซ้ำ จากในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ผู้โดยสารในประเทศ มีการเติบโตดี ก็หายไป 2 เดือน จากต้นเดือนธันวาคมปี 63 เรามีผู้โดยสารต่อวันอยู่ที่ 5 พัน เหลือไม่ถึง 300 คน ผู้โดยสาร เพิ่งจะเริ่มกลับมาบ้างในเดือนมี.ค.นี้เอง แต่ก็มีทิศทางดีขึ้น  

พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ  

ปัจจุบันบางกอกแอร์เวย์ส ใช้เครื่องบินทำการบินได้คิดเป็นสัดส่วน 30% หรือราว 10 กว่าลำเท่านั้น จากฝูงบินทั้งหมดที่มีอยู่ทั้งหมด 38 ลำ โดยทำการบินได้เพียง 7 เส้นทางบินในประเทศเท่านั้น คือ เชียงใหม่,ลำปาง,สุโขทัย,ภูเก็ต,สมุย, กระบี่ และตราด 

สถานการณ์ ณ วันนี้เมื่อมีการฉีดวัคซีน และไทยส่งสัญญาณเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะนี้บางกอกแอร์เวย์สก็เริ่มวางแผนการกลับมาเปิดจุดบินระหว่างประเทศไว้รองรับ โดยมองว่าเมืองไหนที่มีศักยภาพที่จะกลับมาเปิดบิน ก็มองไว้ที่กลุ่มประเทศ CLMV รวมถึงสิงคโปร์ ฮ่องกง 

ประกอบกับมาตรการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศจากภาครัฐ อาทิ โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” โครงการ “ทัวร์เที่ยวไทย” และแคมเปญกระตุ้นตลาดของสายการบินต่างๆ ในขณะนี้ ก็จะกระตุ้นการเดินทางเที่ยวในประเทศได้เพิ่มขึ้น

ทำให้สายการบินต้องพยายามรักษาเส้นทางบินที่ทำการบินอยู่ และจะค่อยขยับขึ้นเรื่อยๆ โดยปรับไปตามความต้องการของคนเดินทางเป็นหลัก อย่างคนไทยจะเดินทางในช่วงวันหยุดยาวมาก หรือวันหยุด ซึ่งก็เป็นการปรับตามดีมานด์ความต้องการในการเดินทาง การชลอแผนจัดหาเครื่องบินใหม่ โดยยืดออกไปอีก 2 ปี การคืนเครื่องบินเช่าที่ครบสัญญา ซึ่งปีหน้ามีจำนวน 6 ลำ โดยจนถึงปีหน้าสายการบินจะเหลือเครื่องบินอยู่ที่ราว 30 ลำ 

อย่างไรก็ตามแม้ธุรกิจการบินจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ BA ยังคงเดินหน้าลงทุนโครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งนอกจากการร่วมลงทุนกับกิจการร่วมค้าบีบีเอส และร่วมกันจัดตั้ง บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นเแนล เอวิเอชั่น จำกัด เพื่อพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกแล้ว BAยังสนใจเข้าร่วมประมูลโครงการ ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภาระยะที่ 2 (MRO เฟส 2) ด้วย

ในส่วนของ MRO เฟส 2 ที่จะเปิดให้เอกชนเข้าไปลงทุน ซึ่งจะมีการแบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วนนั้น BA ก็ยืนยันว่าจะเข้าไปร่วมประมูล คาดการณ์งบลงทุนไว้ราว 3 พันล้านบาท เป็นการก่อสร้างโรงซ่อมอากาศยานราว 1 พันล้านบาท และการจัดหาอุปกรณ์ราว 2 พันล้านบาท เพื่อรองรับเครื่องบินของลูกค้าและเครื่องบินของบางกอกแอร์เวย์สเอง (แอร์บัสเอ 320) เพราะมองว่าการลงทุนในสนามบินอู่ตะเภากว่าจะแล้วเสร็จสถานการณ์ของธุรกิจการบินก็คงจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว 

ที่มา : หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,669 วันที่ 11 - 14 เมษายน พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :