ปลดล็อก ‘กัญชง-กัญชา’  ดันไทย ฮับแปรรูปอาเซียน 

21 มี.ค. 2564 | 23:00 น.

การประกาศปลดล็อกพืชกัญชง-กัญชา สำหรับการแพทย์และพาณิชย์ ที่ถูกต้องตามกฏหมาย ทำให้ “กัญชง-กัญชา” กลายเป็นพืชเศรษฐกิจเกิดใหม่ ที่ร้อนแรงและมีผู้สนใจจำนวนมหาศาล แต่คำถาม ที่น่าสนใจคือ กระแสของกัญชง-กัญชาจะไปได้ไกลแค่ไหน หรือจะเป็นแค่ธุรกิจขายฝันที่เฟื่องฟูในเวลาสั้นๆ 

ปัจจุบันตลาดกัญชาที่ถูกกฎหมายมีมูลค่ากว่า 1.75 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 5 แสนล้านบาท เติบโตมากกว่า 17% โดยกัญชาในอุตสาหกรรมทางการแพทย์และสุขภาพสร้างรายได้สูงกว่า 70% ของมูลค่าทั้งหมด

ขณะที่รายงานของ The Global Cannabis Report โดย Prohibition Partners คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดกัญชาทั่วโลกในปี 2567 จะมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องหรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.03 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็น ตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์ 60% และอีก 40% เป็นตลาดกัญชาเพื่อการสันทนาการ

5 ปีขึ้นฮับอาเซียน

สำหรับประเทศไทย คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมกัญชาไทยจะเติบโตเป็น 661 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือกว่า 2.1 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2567 แม้จะมีการปลดล็อกการใช้กัญชาอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดลองเพื่อใช้กับผู้ป่วย ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าหากมีการผลักดันให้ใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง และหากมีการจำหน่ายในรูปแบบเชิงพาณิชย์ เชื่อว่าตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์ของไทยจะมีมูลค่าราว 3,600-7,200 ล้านบาท ซึ่งยังมีขนาดเล็กมาก หรือเป็นสัดส่วนเพียง 0.02-0.04% ของ GDP

ยุทธศาสตร์ผลักดัน“กัญชา” สู่Product Champion

ในขณะที่รัฐบาลเล็งเห็นว่า กัญชาจะเป็นทางออกเศรษฐกิจของไทย จึงได้ส่งเสริมให้พัฒนากัญชาแบบครบวงจร ให้เป็น Product Champion ตั้งแต่การปลูก (ต้นน้ำ) การสกัดสารสำคัญ (กลางน้ำ) และการแปรรูป (ปลายน้ำ) และตั้งเป้าเป็นก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการแปรรูปกัญชง-กัญชาของอาเซียนภายใน 5 ปี

ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ฉายภาพอุตสาหกรรมกัญชา ในประเทศไทยว่า ยุคเฟื่องฟูของกัญชาจะยังดำเนินต่อไปอย่างน้อยๆ 5-6 ปี สืบเนื่องจากซัพพลายเชนของกัญชง-กัญชา ค่อนข้างยาวตั้งแต่ต้นน้ำคือการนำเข้าเมล็ดพันธุ์และการปลูก กลางน้ำคือการสกัดและปลายน้ำคือผลิตภัณฑ์ ซึ่งปัจุบันกระแสของผลิตภัณฑ์ปลายน้ำมาแรงมากที่สุด ทุกธุรกิจต้องการเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ด้วยกัญชง-กัญชา ส่งผลให้หุ้นบริษัทพุ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

นับตั้งแต่มีการประกาศกฎหมายอนุญาตให้ปลูกและแปรรูปกัญชง-กัญชา เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา ทางอย.ได้ออกกฎห้ามนำเข้าวัตถุดิบ (กัญชง-กัญชา) จากต่างประเทศ เพราะต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรในประเทศเป็นผู้ปลูก โดยมีประชาชนทยอยเข้ามาขออนุญาตปลูกราว 2,000-3,000 คนต่อวัน

นอกจากการตรวจสอบและออกใบอนุญาตแล้ว อย.ยังทำหน้าที่ Matching ระหว่างผู้ปลูกกับโรงสกัด ซึ่งอย.อยู่ในระหว่างการประเมินจำนวนผู้ปลูกและโรงสกัดว่าจะมีสัดส่วนเท่าไหร่ ปัจุบันจึงยังไม่มีผลผลิตของกัญชง-กัญชา ที่ปลูกในประเทศไทยเพื่อไปทำผลิตภัณฑ์

“กัญชง-กัญชา สามารถพัฒนาขึ้นเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศได้ เพราะสภาพอากาศเหมาะสำหรับการปลูกกัญชา ที่สำคัญข้อกฎหมายของประเทศไทยเปิดกว้างมากกว่าประเทศอื่นในทวีปเอเชีย นักลงทุนต่างประเทศให้ความสนใจที่จะใช้ไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิต ปลูกและสกัด CBD และ THC ในอนาคตเพื่อขายให้กับประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย ส่วนเรื่องของการส่งออกคงต้องดูศักยภาพของประเทศไทยว่าจะสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้หรือไม่” ภญ.สุภัทรา กล่าว

มุ่งสู่ Product Champion

อย่างไรก็ดีรัฐบายมีนโยบายส่งเสริมและผลักดันให้กัญชง-กัญชา ให้เป็น Product Champion ตัวใหม่ที่สร้างรายได้และมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศ 3 ด้าน ได้แก่

กัญชง-กัญชา

1.ยาแผนไทย เพื่อรักษาและดูแลสุขภาพกลุ่มผู้ป่วยเป้าหมาย กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้บริการกัญชาทางการแพทย์ตั้งแต่ปี 2562 เพื่อใช้ในผู้ป่วย เช่น โรคลมชัก พาร์กินสัน มะเร็งระยะสุดท้าย และในปี 2564 ได้บรรจุกัญชาทางการแพทย์เป็นแผนพัฒนาระบบบริการ สาขาที่ 20 เพื่อให้บริการกัญชาทางการแพทย์ในโรงพยาบาลในสังกัดฯ 700 กว่าแห่งทั่วประเทศ มีผู้มารับบริการมากกว่า 6.5 หมื่นราย รวมกว่า 1 แสนครั้ง และตั้งเป้าให้โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเปิดให้บริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์ในทุกพื้นที่ ในส่วนของเอกชน ปัจจุบันมีโรงงานผู้ผลิตยาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณ สมุนไพรเดี่ยว และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมากกว่า 29 บริษัทมีความต้องการวัตถุดิบกัญชารวมกันมากกว่า 30 ตัน

2.ผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น ยา อาหาร เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ปัจจุบัน เริ่มมีบริษัทยักษ์ใหญ่กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเบอร์ต้นๆของไทยสนใจที่จะใช้สารสกัดจากกัญชง-กัญชาเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ ตลอดทั้งซัพพลายเชน เช่น

กัญชง-กัญชา

การปลูก (ต้นน้ำ) เช่น บริษัท โกลเด้น ไทรแองเกิ้ล กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเช่าพื้นที่สำหรับการปลูกของ บริษัท เชียงรายโฟรเซ่นฟูดส์ จำกัด กว่า 1,000 ตารางเมตรที่จังหวัดเชียงราย จากเดิมมีโรงปลูกกว่า 600 ตารางเมตร, บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ปลูกกัญชงบนพื้นที่ 100-200 ไร่ ในภาคเหนือและภาคอีสานและ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG มีแผนรุกธุรกิจกัญชาทางแพทย์ ซึ่งเป็นความร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อปลูกกัญชาบนพื้นที่ 1,400 ไร่

การสกัดสารสำคัญ (กลางน้ำ) เช่นบริษัท ดีโอดี ไบโอเทค จำกัด (มหาชน) รับซื้อและสกัดสาร CBD และขอนำเข้า-ส่งออกเมล็ดพันธุ์, บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน)วางแผนลงทุนทำโรงสกัด CBD บริสุทธิ์ 99% ที่มีกำลังผลิต 1 ตัน ต่อวัน และบริษัท เค. ดับบลิว. เม็ททัล เวิร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ KWM ร่วมกับเจเอสพี ฟาร์มา ทำโครงการ “การสกัดสารสกัดจากพืชกัญชาและกัญชง” รองรับการเติบโตของตลาดในประเทศ

การแปรรูป (ปลายน้ำ) เช่น บมจ. คาราบาว กรุ๊ป, บมจ. โอสถสภา, บมจ. อิชิตัน กรุ๊ป ที่มีแผนนำกัญชงและกัญชามาต่อยอดในธุรกิจเครื่องดื่ม,บมจ. อาร์เอส, บมจ. เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย, บมจ. โรจูคิส หรือ KISS ที่จับมือกับDOD แปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มกัญชงเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ, บมจ. ปตท. ผลิตยาหรือเป็นส่วนผสมของอาหารอนาคต และบริษัท สยามเฮลท์ กรุ๊ป จำกัด กับสเปรย์ดับกลิ่นปากจากกัญชง เป็นต้น

กัญชง-กัญชา

3.การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เรียนรู้กัญชาผ่านรูปแบบการท่องเที่ยวจากประสบการณ์ตรง ซึ่งคาดว่าในอนาคต จะเป็นหนึ่งในเส้นทางท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมอย่างสูง

ด้านนายคมสรรค์ วิจิตรวิกรม ที่ปรึกษา medical tourism and wellness Tour กล่าวว่า ตลาด cannabis Tourism ประเทศไทย จะสร้าง New Industry เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว นั่นคือเส้นทางท่องเที่ยวสายกัญชา เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เป็นแผนแม่บทที่จะใช้เจาะตลาดต่างประเทศ โดยไม่จำกัดเพียงนักท่องเที่ยวเข้ามาซื้อสินค้าเท่านั้น แต่รวมไปถึงกระบวนต้นน้ำโดยมีการจัดแพ็กเกจท่องเที่ยวในประเทศไทย เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเยี่ยมชมไร่กัญชง-กัญชาซึ่งจะบรรจุลงในแผนแม่บทการท่องเที่ยวในประเทศ

อย่างไรก็ตามแม้ หลายฝ่ายจะตอกย้ำว่า มีความเป็นไปได้สูง ที่กัญชง-กัญชา จะเป็นพืชเศรษฐกิจของไทย แต่หากมองตลอดซัพพลายเชนจะเห็นว่า ธุรกิจปลายน้ำมีผู้เล่นสนใจเข้ามาในตลาดจำนวนมาก ในขณะที่ การปลูกและการสกัด ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น และมีสัดส่วนที่น้อยกว่าความต้องการของธุรกิจปลายน้ำ

ท้ายที่สุดอุตสาหกรรมกัญชงจะเกิดขึ้นได้จริงและเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ตามที่คาดหวังได้หรือไม่ คงต้องจับตามมองอย่างใกล้ชิด และประเมิณสถานการณ์อีกครั้งเมื่อมีผลิตภัณฑ์ออกสู่ท้องตลาด 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,663 วันที่ 21 - 24 มีนาคม พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :