ดัน‘รถไฟพิเศษอุดร-เวียงจันทน์’ ขนทัวร์จีนจากไฮสปีดลาว บูมเศรษฐกิจอีสาน

14 มี.ค. 2564 | 00:07 น.

เอกชนอุดรฯ ปิ๊งไอเดีย นำรถไฟระหว่างประเทศสายหนองคาย-ท่านาแล้ง ยกระดับเป็นขบวนรถไฟพิเศษ รับรถไฟไฮสปีดจีน-ลาว ที่จะเปิดบริการปลายปีนี้  พร้อมเสนอขยายเส้นทางถึงอุดรธานีเชื่อมระบบรถ-ราง-อากาศ ดึงนักท่องเที่ยวเข้าพื้นที่กระตุ้นเศรษฐกิจอีสาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการประชุมสภาอุตสาหกรรม(ส.อ.ท.) จังหวัดอุดรธานี โดยมีสมาชิกซึ่งเป็นนักธุรกิจภาคอุตสาหกรรมเข้าร่วมด้วย มีข้อเสนอของสมาชิกซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องด้วยว่า ควรได้จัดทำโครงการเตรียมความพร้อมเพื่อรับโครงการรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ที่ใกล้แล้วเสร็จและมีกระแสข่าวว่า อาจเริ่มเปิดใช้ในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 นี้ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองวาระวันชาติสปป.ลาว    ดัน‘รถไฟพิเศษอุดร-เวียงจันทน์’  ขนทัวร์จีนจากไฮสปีดลาว  บูมเศรษฐกิจอีสาน

นายวีระพงษ์ เต็งรังสรรค์  ประธานสภาอุตสาหกรม (ส.อ.ท.) จังหวัดอุดรธานี เผยว่า ที่ประชุมสภาอุตสาหกรรม (ส.อ.ท.)จังหวัดอุดรธานี เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ประจำปี มีสมาชิกที่เป็นนักธุรกิจอุตสาหกรรมของจังหวัด เห็นพ้องกันว่า ให้ทำการเตรียมรับโครงการถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ที่มีกระแสข่าวว่าจะเปิดใช้ในวันชาติลาว 2 ธันวาคม 2564 นี้ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีนที่จะมากับรถไฟความเร็วสูงสายใหม่นี้ วีระพงษ์ เต็งรังสรรค์

โดยที่ประชุมหารือกันว่า จะสามารถใช้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าวนี้ สำหรับจังหวัดอุดรธานีและจังหวัดใกล้เคียงได้อย่างไร เพื่อจะนำแนวคิดนี้ไปร่วมพูดคุยในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ประกอบด้วย หอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด และชมรมธนาคารพาณิชย์จังหวัดอุดรธานี ในการประชุมกกร.ครั้งถัดไป ที่ส.อ.ท.จังหวัดอุดรธานี จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม หากได้ข้อยุติร่วมกันจะได้นำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ระดับจังหวัด ระดับภาค และเข้าสู่การพิจารณาของส่วนกลางต่อไป

ทั้งนี้ เมื่อเปิดใช้โครงการรถไฟความเร็วสูง จีน-ลาว สิ่งที่น่าจะตามมาได้แก่การเดินทางของคนจีน เพื่อทำธุรกิจและท่องเที่ยว ซึ่งน่าจะประจวบกับช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิค-19 คลี่คลายไปในที่ทางที่ดี มีการเปิดประเทศให้เกิดการเดินทางติดต่อไปหามากันได้มากขึ้น จึงมาคิดกันว่า จะเตรียมการต้อนรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จากการเปิดการใช้โครงการรถไฟความเร็วสูง จีน-ลาว ที่จะมาสู่จังหวัดอุดรธานี และพื้นที่ใกล้เคียง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) จากการเดินทางและสินค้าจากประเทศจีน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนจำนวนมหาศาล ที่จะมากับกับรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ดังกล่าว 

ไฮสปีดจีน-ลาว

ที่ประชุมเสนอให้ต่อยอดขบวนรถไฟระหว่างประเทศไทย-ลาว ระหว่างสถานีนาทา จ.หนองคาย ของไทย กับสถานีท่านาแล้ง นครเวียงจันทน์ของสปป.ลาว  ที่มีกำหนดเวลาและวันวิ่งประจำอยู่แล้ว ให้สามารถไปเชื่อมโยงกับโครงการรถไฟความเร็วสูง จีน-ลาว ที่จะมีการเปิดใช้เร็ว ๆ นี้ ให้เกิดประโยช์เพิ่มขึ้น โดยนำรถไฟขบวนสถานีนาทา จ.หนองคาย-สถานีท่านาแล้ง นครเวียงจันทน์ มาปรับปรุงเป็นรถไฟขบวนพิเศษสายโรแมนติก หรือรถไฟด่วนพิเศษ และขยายเส้นทางในฝั่งไทยจากสถานีนาทา ให้วิ่งมาถึงสถานีอุดรธานี เพื่อเชื่อมโยงไปยังท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี เพื่อให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวหมุนเวียนใน 2 จังหวัด และในภาคอีสานได้ 

นายวีระพงษ์กล่าวอีกว่า แนวคิดนี้เป็นการต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว โดยใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้เดิม เช่น ด่านตรวจคนเข้าเมืองที่หนองคาย รางรถไฟที่วางเชื่อมข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 หนองคาย-เวียงจันทน์ และสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่กำลังดำเนินการอยู่ ทั้งโครงการก่อสร้าง สะพานสำหรับรถไฟความเร็วสูง จีน-ลาว-ไทย ในอนาคต หรือโครงการทางรถไฟทางคู่ ช่วงที่ 2 ขอนแก่น-หนองคาย  ระยะทาง 167 กม. วงเงินก่อสร้าง 2.58 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเส้นทางที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จัดลำดับที่มีความสำคัญเร่งด่วน เติมเต็มโครงข่ายรถไฟทางคู่ เฟสที่ 1 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้สมบูรณ์ตลอดสาย และไปเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวด้วย และมีความพร้อมมากที่สุดทั้งการออกแบบรายละเอียด และรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แล้ว 

“เพียงแต่นำสิ่งที่มีอยู่มาปรับปรุงให้สมบูรณ์ ขบวนรถไฟก็มีอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องปรับปรุงเป็นตู้รถไฟติดแอร์ หรือนำเอาขบวนรถไฟที่อยู่ในโครงการช่วงที่ 1 นครราชราชสีมา-ขอนแก่น มาให้บริการแทน เสริมบุคลากรที่สถานีอุดรธานี มีบริการรถบัสโดยสารติดแอร์จากสถานีรถไฟอุดรธานี-ท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี หรือไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ในจังหวัดอุดรธานีและใกล้เคียง นอกจากนี้ยังเป็นการเตรียมความพร้อมโครงการรถไฟทางคู่ช่วงที่ 2 ขอนแก่น-หนองคาย ในอนาคต และเป็นการสร้างโอกาสที่ดีในด้านต่าง ๆ ให้กับจังหวัดอุดรธานี หนองคาย และพื้นที่ใกล้เคียง” 

ประธานส.อ.ท.จังหวัดอุดรธานี กล่าวย้ำว่า แนวทางนี้เป็นไปได้มาก เพราะไม่ได้ลงทุนเพิ่มอะไรมาก มีอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้เดิมอยู่แล้ว เพียงแต่นำมาปรับปรุงยกระดับและบูรณาการงานเข้าหากัน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ ของพื้นที่ เกิดการเดินทางท่องเที่ยว การบริการเพิ่มขึ้น จะทำให้สถานการณ์ต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อโควิค-19 สามารถขยับเดินหน้าได้ดีขึ้น ที่ต้องทำก็คือ ทุกภาคส่วนจะต้องมีส่วนร่วมเพื่ออนาคตของบ้านเมืองในอนาคต และรถไฟขบวนพิเศษ ท่านาแล้ง-หนองคาย-อุดรธานี-หนองคาย-ท่านาแล้ง นี้ จะเป็นทางเลือกใหม่ของการเดินทางอีกเส้นทางหนึ่งในอนาคต 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"บีทีเอส"เปิดข้อพิรุธประมูล รถไฟฟ้า‘สายสีส้ม’ส่อทุจริตอื้อ

คมนาคม เร่งรัดพัฒนา 7 ท่าเรือโดยสาร จุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้า รับเปิดใช้สถานีกลางบางซื่อ

เริ่มวันนี้! รฟท.เปิดเดินขบวนรถเพิ่ม 30 ขบวน เส้นทางไหนบ้าง เช็กได้ที่นี่

รุกทวงถาม ป.ป.ช.ผลสอบ "รฟม."ปมร้อน "รถไฟฟ้าสีส้ม"หวั่นเดินตาม "GT200"

ชัดแล้ว ทำไมรถไฟขบวนกรุงเทพ-ฉะเชิงเทรา พุ่งชนหัวลำโพง

หน้า 17 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,661 วันที่ 14 - 17 มีนาคม พ.ศ. 2564