หอฯแม่สายจับมือฝั่งท่าขี้เหล็ก บริหารการค้าในสถานการณ์ม็อบ

06 มี.ค. 2564 | 05:58 น.

ประธานหอการค้าอ.แม่สาย จับมือคู่ค้าฝั่งเมียนมาเกาะติดสถานการณ์ม็อบท่าขี้เหล็ก เพื่อวางแผนการขนถ่ายสินค้าเข้า-ออกไม่ให้กระทบจากการนัดชุมนุม ชี้การค้าชายแดนยังเดินหน้าปกติ

หอฯแม่สาย จับมือคู่ค้าฝั่งเมียนมาเกาะติดสถานการณ์ม็อบท่าขี้เหล็ก เพื่อวางแผนการขนถ่ายสินค้าเข้า-ออกไม่ให้กระทบจากการนัดชุมนุม ชี้การค้าชายแดนยังเดินหน้าปกติ

นับแต่เกิดการรัฐประหารในเมียนมาเมื่อ 1 ก.พ. 2564 มีเหตุการณ์หลายอย่างที่ส่งผลกระทบกับการค้าชายแดนระหว่างไทยกับเมียนมา ด้านอ.แม่สาย จ.เชียงราย กับเมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉานตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นการปิดด่านพรมแดนในช่วงแรกของการรัฐประหาร และต่อมามีการเดินขบวนของมวลชนชาวเมียนมา ปิดทางเข้าออกบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 2 ซึ่งเป็นจุดเดียวที่ยังคงให้มีการขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับเมียนมา ตามมาตรการป้องกันโควิด 19

 

นางสาวผกายมาศ เวียร์รา รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย ฝ่ายการค้าชายแดน(แม่สาย) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาหอการค้าฯได้ประชุมทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออก รวมไปถึงบรรดาผู้ประกอบการรถรับจ้างขนส่งสินค้าต่อเนื่องหลายครั้ง เพื่อแจ้งให้ปรับตัวในการวางแผนการนำเข้าและส่งออกสินค้า โดยต้องติดตามสถานการณ์การเดินขบวนประท้วงในท่าขี้เหล็กด้วย ซึ่งหอการค้าแม่สายกับหอการค้าท่าขี้เหล็ก มีการประสานงานและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันตลอดเวลา ทำให้ทราบล่วงหน้าว่าช่วงเวลาใดที่จะไม่สามารถขนส่งสินค้าไปได้

ทั้งนี้การค้าชายแดนไทย-เมียนมาที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ใช้สกุลเงินบาทในการจ่ายค่าสินค้าเพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องพะวงเรื่องค่าเงินจ๊าดของเมียนมา โดยความผันผวนของเรื่องค่าเงินจ๊าดเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการฝั่งเมียนมาต้องรับภาระเอง การค้าชายแดนทางด้านอำเภอแม่สายไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องระบบการเงินชำระค่าสินค้า เนื่องจากคู่ค้าแต่ละรายทำการค้ากันมาอย่างยาวนาน จนไว้เนื้อเชื่อใจและอะลุ้มอล่วยยืดหยุ่นกันได้ในเรื่องของระยะเวลาในการชำระค่าสินค้า 

นางสาวผกายมาศ เวียร์ร่า รองปธ.หอการค้าจังหวัดเชียงราย ฝ่ายการค้าชายแดน(แม่สาย)

      รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย ฝ่ายการค้าชายแดน (แม่สาย) กล่าวถึงภาพรวมของการค้าชายแดนไทย-เมียนมาร์ทางด้านอำเภอแม่สาย ด้วยว่า ยังไม่พบความผิดปกติใด ๆ ปริมาณการนำเข้าและส่งออกสินค้าแต่ละชนิดก็เป็นไปตามปกติ ไม่มีสินค้าชนิดใดที่ทางเมียนมานำเข้าเพิ่มขึ้นจนส่อว่าจะเป็นการกักตุน มูลค่าการส่งออกยังคงเฉลี่ยเป็นปกติ ที่ประมาณเดือนละ 1,000-1,200 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าที่ทรงตัวอย่างนี้มาโดยตลอดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด-19 และเท่าที่สอบถามผู้ประกอบการในฝั่งท่าขี้เหล็ก ก็ยังไม่พบว่ามีการขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคแต่อย่างใด

ส่วนปัญหาการเมืองในเมียนมาจะสงผลกระทบกับการค้าชายแดนในระยะยาวหรือไม่นั้น มองว่ารัฐบาลเมียนมา ให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจ และปัญหาปากท้องของประชาชน มารตการใดที่สร้างความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ หรือไปกระทบปัญหาปากท้องของประชาชนเชื่อว่าจะไม่มีออกมาแน่ ความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตอาจจะลดลงไปบ้างในช่วงแรก แต่เชื่อว่าจะค่อย ๆ ดีขึ้น 

โดยส่วนตัวแล้วยังเชื่อว่าปัญหาทางการเมืองของเมียนมา น่าจะไม่กระทบกับภาพรวมการส่งออกสินค้าทางด้านอำเภอแม่สายอย่างแน่นอน นางสาวผกายมาศ กล่าวยํ้า 

หน้า 17 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,659 วันที่ 7 - 10 มีนาคม พ.ศ. 2564 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง