'การบินไทย' เปิดแผนฟื้นฟูหนี้ท่วม4แสนล้าน ลด‘คน-ฝูงบิน’ พลิกกำไรปี68

03 มี.ค. 2564 | 20:30 น.

เปิดแผนฟื้นฟูการบินไทย หนี้ท่วม4แสนล้านบาท เดินหน้าลดต้นทุน 35% ปรับลดฝูงบินจาก 103 ลำเหลือ 50-60 ลำในปี 65 ส่งผลรายได้ลดลง 21% ก่อนจะเพิ่มเป็น 86 ลำในปี 68 หวังดึง EBITDA เป็น 10% มั่นใจทุกฝ่ายหนุนแผน-เจ้าหนี้โหวตรับ 12 พ.ค.นี้

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)หรือ THAI  ได้ยื่นแผนฟื้นกิจการต่อนางอรัญญา ทองนํ้าตะโก อธิบดีกรมบังคับคดีในช่วงเช้าวันที่ 2 มีนาคม จากนั้นได้มีการชี้แจงทิศทางแผนฟื้นฟูกิจการกับพนักงานก่อนที่จะเปิดแถลงข่าวกับสื่อมวลชนในช่วงบ่าย

นายชาญศิลป์เปิดเผยว่า  การบินไทยได้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการจนแล้วเสร็จและได้ยื่นแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นที่เรียบร้อยแล้วตามกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย หลังจากที่ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563 

สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจจนถึงปี 2568 การบินไทยจะมีจำนวนฝูงบินช่วงแรกปี 2565 ประมาณ50-60 ลำ ปี2568 อยู่ที่ 86ลำ จากฝูงบินปัจจุบัน 103ลำ โดยการบินไทยจะมีรายได้ลดลง 21% ต้นทุนลดลง 35% พนักงานจากปัจจุบัน 2 หมื่นคน จะลดเหลือ 1.3-1.5 หมื่นคนและคาดว่า จะทำให้การบินไทย เกิดกำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) ประมาณ 10% ภายในปี 2568

ทั้งนี้ในปี2565 การบินไทยจะมี ASK (ปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร) อยู่ที่ประมาณ 81%ของปี2562 ขณะเดียวกันได้เจรจาลดค่าเช่าเครื่องบินประมาณ 50-60สัญญา โดยค่าเช่าจะปรับลดลงประมาณ 40% ซึ่งใน 2 ปีแรก (2564-2565) จะจ่ายค่าเช่าเฉพาะชั่วโมงที่บินและระยะยาวจะจ่ายค่าเช่า 20% ของค่าเช่าเดิม 

นอกจากนี้บริษัทมีแผนที่จะเพิ่มรายได้จากการเริ่มกลับมาบินไตรมาส3 ของปีนี้ โดยจะเน้นจุดบินที่มีกำไรและร่วมมือกับพันธมิตรทางการบินในการเชื่อมต่อเส้นทางบิน อาทิ ซูริค แฟรงก์เฟิร์ต โคเพนเฮเกน ปารีส เดลี สิงคโปร์ ฮ่องกง ปักกิ่ง มะนิลา โตเกียว นาริตะ เฉลี่ย 2ถึง 3เที่ยวบินต่อสัปดาห์และปรับวิธีการขายเพื่อให้เข้าถึงลูกค้าและใช้ดิจิทัลเป็นฐานข้อมูลทำตลาด ซึ่งจากปี2563 มีรายได้ 2 หมื่นกว่าล้าน จะเพิ่มขึ้นมาเป็น 6-7 หมื่นล้านบาท และรายได้จะขึ้นเป็น 1.4 แสนล้านบาทในปี 2568 

ในส่วนการลดค่าใช้จ่าย จะลดเครื่องบินจากทั้งหมด 12แบบเหลือ 4 แบบ ในปี2568 รวมถึงการลดแบบเครื่องยนต์ จาก 9 แบบ เหลือ 4 แบบ ลดกรุ๊ปนักบินจาก 5เหลือ 3กรุ๊ป และปรับโครงสร้างองค์กรใหม่โดยลดโครงสร้างฝ่ายบริหาร จาก 740 คน เหลือ 500 คน เพื่อให้องค์กรกระชับขึ้นและเพิ่มหน่วยงานใหม่ คือ ฝ่ายขับเคลื่อนองค์กร เพื่อขับเคลื่อนโครงการกว่า 600 โครงการ ซึ่งเป็นเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างรายได้ ลดค่าใช้จ่าย ที่โครงการเหล่านี้คิดเป็นมูลค่าที่บริษัทจะได้รับถึง 3-5 หมื่นล้านบาทภายใน 5 ปี 

รวมทั้งตัดลดสวัสดิการพนักงาน ซึ่งจะทำให้การบินไทยอยู่ในระดับแข่งขันได้ อีกทั้งยังวางแผนที่จะสร้างรายได้จาก 4 หน่วยธุรกิจคือ ครัวการบิน ศูนย์ซ่อมอากาศยายนต์ การบริการภาคพื้นและสายการบินไทยสมายทำให้องค์กร
เหล่านี้แข็งแกร่ง รวมถึงการหาผู้ร่วมทุนเพื่อหน่วยธุรกิจดังกล่าวเดินได้ด้วยตัวเอง และการแก้ไขปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างจะให้รวมศูนย์ไว้ในที่เดียว  

“หลังจากแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยได้รับความเห็นชอบจากศาล รวมถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง การบินไทยก็พร้อมที่จะกลับมาประกอบธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง เพื่อให้การดำเนินธุรกิจของการบินไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่งและสามารถสร้างรายได้ ตลอดจนทำกำไรได้อย่างยั่งยืน”นายชาญศิลป์กล่าว 

ทั้งนี้ การบินไทยจะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และพัฒนาแบบองค์รวมภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่คือ สายการบินเอกชนคุณภาพสูง ที่ให้บริการเต็มรูปแบบ ด้วยความแข็งแกร่งของอัตลักษณ์ความเป็นไทย เชื่อมโยงประเทศ ไทยสู่ทั่วโลก และสร้างผลกำไรที่ดีอย่างต่อเนื่อง (Private High Quality Full Service Carrier with Strong Thai Brand, Connecting Thailand to the World and Generating Consistently Healthy Profit Margin)

นายชาญ เอี่ยมศิริ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการบัญชี การบินไทยกล่าวว่า มูลค่าหนี้ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการในวันที่ 14 กันยายน 2563 มี 4.1 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นมูลหนี้ในอนาคตมากว่า 50% สำหรับมูลหนี้ที่ขอรับชำระหนี้อยู่ที่ 1.85-1.9 แสนล้านบาท จากจำนวนเจ้าหนี้ 1.3 หมื่นราย และการบินไทยมีขาดทุนสะสมจำนวน 1.2 แสนล้านบาท 

ส่วนการเจรจากับเจ้าหนี้นั้น ภายใต้แนวทางแผนฟื้นฟูกิจการจะไม่มีการลดมูลหนี้คงค้าง(แฮร์คัต) เจ้าหนี้รายใดเลย และขยายระยะเวลาการชำระหนี้ออกไปจากการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ เช่น เจ้าหนี้หุ้นกู้ขอยืดเวลาออกไป 6 ปีจากที่ครบกำหนดเดิม หรือเจ้าหนี้สถาบันการเงินกำหนดแบ่งจ่ายเฉพาะเงินต้นเป็นรายปี

โดย 3 ปีแรก ขอไม่จ่ายหนี้ แต่จะเริ่มจ่ายในปีที่ 4 ดังนั้น ระยะเวลาจ่ายหนี้จะสั้น-ยาวไม่เท่ากัน ซึ่งระยะเวลาจ่ายหนี้สั้นที่สุดจะอยู่ที่ 4ปี นอกจากนี้ได้เปิดให้มีการแปลงหนี้เป็นทุนโดยสมัครใจแต่ต้องไม่เกินสัดส่วน 50% ต่อราย

“แนวทางที่จะไม่แฮร์คัตหนี้เจ้ารายใดเลยนั้น ได้มีการคุยกับเจ้าหนี้ทั้งหมดแล้ว น่าจะได้รับการโหวตแผนฟื้นฟู

ขณะเดียวกันการบินไทยเปิดกว้างสำหรับนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศที่สนใจจะเพิ่มทุนเพื่อให้ครอบคลุมในส่วนของการแปลงหนี้เป็นทุน ซึ่งการบินไทยต้องการเงิน 5 หมื่นล้านบาท ทั้งเงินกู้ก้อนใหม่และการเพิ่มทุนโดยเม็ดเงินดังกล่าวควรจะเข้ามาภายใน 2ปี” นายชาญกล่าว 

ที่มา : หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,658 วันที่ 4 - 6 มีนาคม พ.ศ. 2564

ชสอ.แจงสมาชิกยันการบินไทยไม่ลดหนี้หุ้นกู้

"การบินไทย"ออกเกณฑ์คัดเลือก“แอร์-สจ๊วต” ที่ได้ไปต่อต้องอายุไม่เกิน 55 ปี-ไม่อ้วน

นักบิน “การบินไทย”โพสต์เศร้าใจหาย "เริ่มต้นใหม่ ในวัย 50 ปี"

‘ชาญศิลป์’ จัดทัพ ไดเวอร์ซิฟาย ฟื้น‘การบินไทย’

สูตรฟื้นบินไทย สายการบินแห่งชาติ ไม่ลดหนี้-ทุน คลังถมเพิ่ม 2.7 หมื่นล.

ชสอ.แจงสมาชิกยันการบินไทยไม่ลดหนี้หุ้นกู้

"การบินไทย"ออกเกณฑ์คัดเลือก“แอร์-สจ๊วต” ที่ได้ไปต่อต้องอายุไม่เกิน 55 ปี-ไม่อ้วน

นักบิน “การบินไทย”โพสต์เศร้าใจหาย "เริ่มต้นใหม่ ในวัย 50 ปี"

‘ชาญศิลป์’ จัดทัพ ไดเวอร์ซิฟาย ฟื้น‘การบินไทย’