เจ้าสัวธนินท์  ร่วมวง “คลับเฮ้าส์” ชี้จุดอ่อนสตาร์ทอัพ

26 ก.พ. 2564 | 10:02 น.

เจ้าสัวธนินท์  เจียรวนนท์ ร่วมวง “คลับเฮ้าส์”  ชี้จุดอ่อนสตาร์ทอัพ ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ จ่อตั้งกองทุนเพิ่ม

นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส  ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี กล่าวผ่านแอพพลิเคชั่น คลับเฮ้าส์  ในหัวข้อ SME Clinic ร่วมคิดฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ ในช่วงเช้าของวันนี้ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมฟังราว 8,000 คน พร้อมเปิดโอกาสให้ซักถามและแลกเปลี่ยนกับผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีในสาขาต่างๆ

โดยเจ้าสัวธนินท์ กล่าวว่า การเข้ามาร่วมพูดคุยในคลับเฮ้าส์ ครั้งนี้ เพราะเชื่อว่ามีคนที่ตั้งใจอยากจะเข้ามาฟังและพูดคุยกัน ขณะที่เรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ผมถนัดและคาดหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ เพราะการเกิดโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้นจากเดิมไม่เข้าใจยุคใหม่ เทคโนโลยีใหม่ๆ ต้องรีบเข้าใจ ดังนั้น แม้โควิด จะเป็นวิกฤติแต่ในวิกฤติก็ตามมาด้วยโอกาส เพราะการพัฒนาเทคโนโลยีและมีการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต ทำให้สามารถทำงานที่ไหนก็ได้

โควิด-19 ที่เกิดขึ้นรุนแรงกว่าหลายวิกฤติที่ผ่านมา โดยเฉพาะวิกฤติทางการเงินอย่างต้มยำกุ้ง ซึ่งเกิดขึ้นที่ไทยและเอเชีย ที่เศรษฐกิจไม่ได้ใหญ่มากผลกระทบจึงไม่เกิดไปถึง ยุโรป หรือ สหรัฐ ตอนนั้น กลายเป็นโอกาสให้เกิดการซื้อของถูก ซึ่งไทยก็ได้นำของดีมีค่าไปขายในราคาถูกๆ เพราะบริหารไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจวิกฤติการเงิน ว่าควรจัดการอย่างไร ไม่ได้ตัดไฟแต่ต้นลม

สตาร์ทอัพจากทั่วโลกต้องการเข้ามาใช้ชีวิตในเมืองไทยต้องการเข้ามาลงทุนโดยผลสำรวจชี้ว่า นักลงทุน อยากมาอยู่เมืองไทย เมืองไทยน่าอยู่ เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีทำให้เราทำงานจากที่ไหนก็ได้ จะที่บ้านหรือสำนักงานก็ไม่ต่างกัน แต่ไทยไม่ค่อยส่งเสริม มีการกำหนดเงื่อนไข ทั้งที่การลงทุนในสตาร์ทอัพมีความเสี่ยง เช่นต้องรายงานตัวเข้าเมืองทุก 3 เดือน”

เจ้าสัวธนินท์ ยังบอกอีกว่า จุดอ่อนของสตาร์ทอัพเมืองไทย คือขาดการสนับสนุน รัฐบาลไม่ได้เอื้อ ถึงบอกว่าจะส่งเสริมแต่ไม่ได้ทำจริง ทำให้สตาร์ทอัพต้องไปจดทะเบียนในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง เพราะรัฐบาลไทยจะเก็บภาษีรายได้สตาร์ทอัพ แต่ถามว่าถ้าลงทุนไปแล้วขาดทุนใครจะช่วยรับผิดชอบ

“คนเก่งๆอยากอยู่เมืองไทย แต่กฎหมายไทยไม่ต้อนรับ เพราะต้องการแค่แรงงานราคาถูกมาทำงานเท่านั้น”

การสร้างธุรกิจก็ดี แต่เมื่อสร้างแล้วธุรกิจประสบกับวิกฤติอย่างโควิด-19 ก่อนอื่นต้องศึกษาว่า ในธุรกิจที่มีอยู่นั้นสามารถต่อยอดหรือปรับให้เป็นสินค้าหรือบริการที่เป็นที่ต้องการได้อย่างไร แต่ไม่ใช่การเปลี่ยนธุรกิจไปทำอย่างอื่นที่ไม่ถนัดเพราะเป็นการเริ่มต้นใหม่

ธนินท์ เจียรวนนท์

ขณะเดียวกันภาครัฐก็ต้องเลี้ยงธุรกิจที่แม้จะประสบปัญหาเหล่านี้ ให้อยู่ได้ เช่นให้เงินกู้ ซึ่งไม่ใช่ให้แค่ 3ปี แต่ต้องนานเป็น 5 ปี เพราะเมื่อโควิดหายไปแล้วโอกาสต่างๆจะกลับมา เช่น ธุรกิจกระเป๋าเดินทางตอนนี้ ไม่มีคนเดินทาง แต่เชื่อว่าหลังจากนี้การเดินทางจะเกิดขึ้นอย่างมากชนิดที่เรียกว่ารับกันไม่ทันเลยทีเดียว

การลงทุนในสตาร์ทอัพ เจ้าสัวธนินท์บอกว่า ได้ตั้งกองทุนมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพ ภายใต้เงื่อนไขเดียวคือ เป็นธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีและเป็นธุรกิจใหม่ เพราะ ธุรกิจแบบเดิมตัวหนักก็ให้คนเก่าๆทำไปส่วนธุรกิจใหม่ต้องตัวเบาเเละให้คนรุ่นใหม่ทำ ซึ่งพบว่า ธุรกิจใหม่ยังขาดเงินซึ่งกองทุนนี้ก็ไม่ได้จะให้เงินเพียงอย่างเดียวจะต้องให้ความรู้ด้วย

“ก่อนจะเริ่มธุรกิจต้องหาข้อมูล ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม ตลาดจะทำอะไร มีคนเลือกทำหรือไม่  หรือไปต่อยอดได้หรือไม่ ขาดคนก็ไปเชิญคนเก่งๆจากทั่วโลกมาช่วย เพราะธุรกิจเทคโนโลยี จะไม่มี one man show แต่จะต้องเป็นเรื่องของการตลาดและเทคโนโลยีเป็นหลัก”

สำหรับการทำงานต้องตั้งเป้าหมาย ซึ่งซีพีจะยึดหลักให้ลองผิดลองถูกให้อำนาจในการตัดสินใจ ไม่ใช่ไปห้ามเพราะคิดว่าจะต้องผิด แต่จะปล่อยให้ทำ ผิดวันนี้พรุ่งนี้แก้ไข แต่ถ้าผิดอีกแก้ไขไม่ได้อันนี้ก็ไม่ได้เหมือนกัน ต้องเป็นแค่การชี้แนะไม่ใช่ชี้นำ

“หลังส่งเสริมสตาร์ทอัพจนประสบความสำเร็จ กลุ่มซีพีมีแนวคิดจะกองทุนใหม่เพื่อเข้าไปลงทุนต่อยอดธุรกิจนั้นๆ ต่อไป ซึ่งอาจจะสำเร็จ 80-90% แล้วเราก็เข้าไปช่วยให้ขยายธุรกิจเพิ่มต่อไปได้ด้วยเงินทุนของเรา”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :