สรุปคำวินิจฉัย กขค.  “ซีพีควบโลตัส”

19 ธ.ค. 2563 | 06:43 น.

“ซีพีควบโลตัส” สรุปคำวินิจฉัยกลาง ไขข้อสงสัยจากคณะกรรมการกขค.เสียงข้างน้อย และเสียงข้างมาก

ที่สุดคำวินิจฉัยกลางของสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) หลังจากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีมติ 4 ต่อ 3 เสียงอนุญาตให้บริษัท ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัดโดยกลุ่มซีพี  และบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ผู้บริหารเทสโก้ โลตัส ควบรวมธุรกิจก็ถูกเปิดเผยออกมา ซึ่งสรุปสาระสำคัญของคำวินิจฉัยทั้ง 2 ประเด็น ออกมาได้ดังนี้

 

ประเด็นที่ 1 การรวมธุรกิจระหว่างผู้ขออนุญาตและผู้ถูกรวมธุรกิจ เป็นการรวมธุรกิจอันอาจก่อให้เกิดการผูกขาดหรือการเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดที่จะต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าก่อนที่จะกระทำการรวมธุรกิจ ตามมาตรา 51 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 หรือไม่

 

คำวินิจฉัย  ระบุว่า ผู้ประกอบธุรกิจที่มีความสัมพันธ์กันทางนโยบายหรือมีอำนาจสั่งการกับผู้ขออนุญาตตามข้อเท็จจริงในคำขออนุญาตรวมธุรกิจ ไม่มีความสัมพันธ์กันทางนโยบายหรืออำนาจสั่งการ ขณะที่การกำหนดขอบเขตตลาดสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับการรวมธุรกิจ คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า ตลาดร้านค้าปลีกและร้านค้าส่งไม่สามารถทดแทนกันได้ทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทานอย่างมีนัยสำคัญ ตลาดที่มีความทับซ้อนกันมีเพียงตลาดร้านค้าปลีกขนาดเล็กได้แก่ ร้านเซเว่น อีเลฟเว่นและเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส

สรุปคำวินิจฉัย กขค.  “ซีพีควบโลตัส”

ซึ่งขอบเขตตลาดด้านภูมิศาสตร์ ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ซึ่งมีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ มีการกำหนดราคาสินค้าและรูปแบบจากสำนักงานใหญ่เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่นเดียวกับคู่แข่งรายอื่น การกำหนดขอบเขตตลาดภูมิศาสตร์ในระดับจังหวัดหรือประเทศจจึงไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ   

 

กรณีการนับส่วนแบ่งตลาดและยอดขายของผู้ขออนุญาตและผู้ถูกรวมธุรกิจ พบว่า ในตลาดร้านค้าปลีกสมัยใหม่ประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ต พบว่า เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์ตร้า มีส่วนแบ่งตลาด 46.79% รองลงมาคือ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์/เอ็กซ์ตร้า 38.56%  และท็อปส์ ซูเปอร์สโตร์ 1.89% ซึ่งเมื่อรวมส่วนแบ่งตลาดของทั้ง 3 รายเท่ากับ 87.24%  ดังนั้นผู้ที่มีอำนาจเหนือตลาดจึงมีเพียง เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์ตร้าและบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์/เอ็กซ์ตร้า ทำให้การรวมธุรกิจนี้ไม่ส่งผลให้โครงสร้างตลาดร้านไฮเปอร์มาร์เก็ตมีการเปลี่ยนแปลง รวมถึงประเภทซูเปอร์มาร์เก็ตก็ไม่มีผู้มีอำนาจเหนือตลาด

 

ส่วนตลาดร้านค้าปลีกขนาดเล็ก พบว่า เซเว่น อีเลฟเว่นมีส่วนแบ่งตลาด 73.60% เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส 9.45%  และแฟมิลี่มาร์ทและท็อปส์ เดลี่ (กลุ่มเซ็นทรัล) มีส่วนแบ่งตลาด 4.79% เมื่อรวมธุรกิจ จะพบว่าผู้มีอำนาจเหนือตลาดคือเซเว่น อีเลฟเว่นและเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส แต่ผู้ขออนุญาตไม่ใช่ผู้ประกอบธุรกิจรายเดียวในตลาดร้านค้าปลีกขนาดเล็กสินค้าอุปโภคบริโภค จึงไม่ก่อให้เกิดการผูกขาด

 

สรุปการวินิจฉัยประเด็นที่หนึ่ง การรวมธุรกิจระหว่างผู้ขออนุญาตและผู้ถูกรวมธุรกิจไม่ก่อให้เกิดการผูกขาด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรรมการแข่งขันแจงยิบ 25 หน้า เปิดคำวินิจฉัยกลาง “ซีพี”ควบ “โลตัส”

‘สารี’ นำทัพฟ้องศาล ยื้อ‘ซีพีซื้อโลตัส’

บอร์ดแข่งขันไฟเขียว "ซีพี" ควบ "โลตัส" แบบมีเงื่อนไข เข้าข่ายมีอำนาจเหนือตลาดเพิ่ม

 

ประเด็นที่ 2  การพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้รวมธุรกิจโดยคำนึงถึงความจำเป็นตามควรทางธุรกิจ ประโยชน์ต่อการส่งเสริมการประกอบธุรกิจ การไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง และการไม่กระทบต่อประโยชน์สำคัญอันควรมีควรได้ของผู้บริโภคส่วนรวมตามความในมาตรา 52 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560

 

คำวินิจฉัย ระบุว่า ด้านการกระจุกตัวของตลาด หลังการรวมธุรกิจพบว่าการกระจุกตัวของร้านค้าปลีกขนาดเล็กสูงขึ้น  และอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดร้านค้าปลีกขนาดเล็กอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ร้านค้าปลีกขนาดเล็กเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง ผู้ประกอบการรายใหญ่ขยายสาขาตามความต้องการของผู้บริโภคและการขยายตัวของชุมชนเมือง ซึ่งผู้ประกอบการธุรกิจยังคงมีโอกาสเติบโตและขยายสาขาได้อย่างต่อเนื่อง

 

การรวมธุรกิจยังส่งผลกระทบต่อคู่ค้าหรือซัพพลายเออร์ ที่อาจส่งผลให้ผู้รวมมีอำนาจการต่อรองมากขึ้น ซึ่งผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ SMEs  เพราะมีอำนาจต่อรองน้อยกว่าซัพพลายเออร์รายใหญ่ และยังสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันมากกว่าคู่แข่งรายอื่น จากธุรกิจที่มี การซื้อสินค้า Economies of scale  และเครือข่ายธุรกิจที่ครบวงจรตั้งแต่ค้าส่งถึงค้าปลีก และมีโอกาสที่จะร่วมมือกันสร้างแรงกดดันต่อซัพพลายเออร์ และโดยภาพรวมส่งผลกระทบในห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบ

 

อย่างไรก็ดี คำวินิจฉัยระบุว่า ผลกระทบต่อผู้บริโภค คือการเปลี่ยนแปลงของสภาพการแข่งขันและทางเลือกในการซื้อสินค้า ที่ทำให้ในร้านค้าปลีกขนาดเล็กน้อยลง แต่ผู้บริโภคก็มีทางเลือกในตลาดอีคอมเมิร์ซทดแทน

 

ผลความเห็นของคณะกรรมการเสียงข้างน้อย ระบุว่า การควบรวมดังกล่าวขัดต่อเจตนารมณ์ของพ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ที่มีมาตรการทางด้านโครงสร้างและกำกับดูแลด้านพฤติกรรม เพื่อป้องกันการผูกขาดหรือครอบงำตลาด และการรวมธุรกิจส่งผลให้ผู้ขออนุญาตมีกิจการทุกระดับของค้าส่งและค้าปลีก และยังเป็นผู้นำในตลาดแต่ละประเภท โดยเฉพาะร้านค้าปลีกสมัยใหม่ขนาดเล็กที่มีส่วนแบ่งตลาดถึง 83.05%

สรุปคำวินิจฉัย กขค.  “ซีพีควบโลตัส”

อีกทั้งการรวมธุรกิจไม่ได้มีความจำเป็นเพื่อความอยู่รอดในทางธุรกิจ ทางตรงข้ามยังมีสถานะเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด และมีโอกาสทำให้เกิดการผูกขาด หรือครอบงำทางเศรษฐกิจการค้าของประเทศได้โดยง่าย และมีส่วนทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมขยายตัวมากยิ่งขึ้น แม้การรวมธุรกิจนี้ไม่ก่อให้เกิดการผูกขาดตลาดโดยสมบูรณ์ แต่โอกาสในการแข่งขันเพื่อให้เติบโตในระดับเดียวกันเป็นไปได้ยาก และไม่สามารถแข่งขันได้อย่างเท่าเทียมกัน

 

ขณะที่ซัพพลายเออร์จะได้รับผลกระทบอย่างมากเมื่อผู้ขออนุญาตมีอำนาจเหนือตลาดสูงขึ้น จึงมีโอกาสเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรมในการกำหนดเงื่อนไขทางการค้าหรืออยู่ในภาวะจำยอม ต้องรับเงื่อนไขหากไม่ยินยอมก็ไม่สามารถวางจำหน่ายสินค้าหรือถูกปิดกั้นช่องทางการจำหน่าย จนถึงขั้นต้องเลิกกิจการไปในที่สุด ส่วนผู้บริโภคในระยะสั้นอาจไม่ได้รับผลกระทบด้านราคาหรือประเภทสินค้า แต่ระยะยาวอาจะมีผลตอทางเลือกทั้งชนิดสินค้าและราคา

 

ผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการเสียงข้างน้อย จึงเห็นควรไม่อนุญาตให้รวมธุรกิจ


อ่าน คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า 
 

ส่วนความเห็นของคณะกรรมการเสียงข้างมาก ระบุว่า การรวมธุรกิจมีความจำเป็นตามควรทางธุรกิจและประโยชน์ต่อการส่งเสริมการประกอบธุรกิจ โดยที่ผู้ขออนุญาตชนะการประมูลด้วยมูลค่าการซื้อขายกิจการ 3.38 แสนล้านบาท จะสามารถสร้างรายได้ให้อยู่ในประเทศและเกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจมากกว่าการรวมธุรกิจจากผู้ประกอบธุรกิจในต่างประเทศ ที่เดิมนำรายได้และผลกำไรหรือประโยชน์ที่ได้จากประเทศไทยกลับไปต่างประเทศ

 

ช่วยในการสร้างงานในประเทศ ส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ให้มีคุณภาพ มาตรฐานสามารถแข่งขันในระดับประเทศ และส่งออกไปต่างประเทศได้  และผู้ขออนุญาตมีศักยภาพทางการเงินและการบริหารจัดการที่ดี จึงมีโอกาสขยายการลงทุนทั้งในด้านเทคโนโลยีหรือนวัตกรรม ที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจประเทศได้

สรุปคำวินิจฉัย กขค.  “ซีพีควบโลตัส”

การรวมธุรกิจครั้งนี้ ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจมีอำนาจเหนือตลาดในตลาดร้านค้าปลีกขนาดเล็ก แต่ไม่เป็นการผูกขาดตามประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า และการรวมธุรกิจดังกล่าวมีความจำเป็นตามควรทางธุรกิจและก่อให้เกิดประโยชน์มากขึ้น และอาจส่งผลให้การแข่งขันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งยังส่งผลให้ภาคการผลิตและธุรกิจค้าปลีกมีการขยายตัวมากขึ้น ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง ไม่ซ้ำเติมสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

 

ผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการเสียงข้างมาก วิเคราะห์แล้วจึงวินิจฉัยว่า เห็นควรอนุญาตให้รวมธุรกิจ โดยกำหนดระยะเวลาหรือเงื่อนไขที่ต้องดำเนินการประกอบการอนุญาตรวมธุรกิจ เพื่อป้องกันมิให้มีการผุกขาดหรือใช้อำนาจเหนือตลาดในการบิดเบือนกลไกลตลาดหรือลดการแข่งขัน