อาเซียนต้า ดัน ‘วัคซีน พาสปอร์ต’ ฟื้นเที่ยวอาเซียน 

11 ก.พ. 2564 | 23:30 น.

โควิด-19 ส่งผลต่อการท่องเที่ยวของประเทศต่างๆในอาเซียนในปีที่ผ่านเช่นไร ใครกระทบมากสุด และแผนในการขับเคลื่อนธุรกิจในปีนี้ ท่ามกลางวิกฤติโควิด จะเป็นเช่นไร นางมิ่งขวัญ เมธเมาลี ประธานสมาคมท่องเที่ยวอาเซียน หรือ อาเซียนต้า มีคำตอบ 3 ประเทศ

อ่วมโควิดมากสุด

มิ่งขวัญ เมธเมาลี ประธานสมาคมท่องเที่ยวอาเซียน หรือ อาเซียนต้า กล่าวว่า ตลอดช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมาการท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียน มีการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 62 ภูมิภาคนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 130 ล้านคน แต่จากโควิด-19 ส่งผลให้ในปีที่ผ่านมาจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาเที่ยว 10 ประเทศอาเซียน คาดว่า เฉลี่ยแล้วลดลงไม่ต่ำกว่า 70%

โดยกัมพูชามีจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง 78.2% มาเลเซีย มีรายรับจากการท่องเที่ยวลดลง 80.9% จาก 66.1 พันล้านริงกิตในปี 62 เหลือ 12.6 พันล้านริงกิตในปี 63 เมียนมาร์ รายได้จากการท่องเที่ยวลดลง 81% ฟิลิปปินส์มียอดนักท่องเที่ยวต่างชาติและรายรับจากการท่องเที่ยวลดลง 83%

ขณะที่สิงคโปร์มีจำนวนผู้เดินทางเข้าประเทศลดลง 99% หากเทียบกับเดือนพ.ย.63 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 62 ไทย มีนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงเหลือ 6.7 ล้านคนในปี 63 จาก 39.8 ล้านคนในปี 62 เวียดนาม สูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยว 23 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 63 เป็นต้น

ทั้งนี้จากข้อมูลของสภาการท่องเที่ยวโลก (WTTC) พบว่าจากข้อจำกัดในการเดินทางเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 มี 3 ประเทศที่ประสบกับภาวะเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมากที่สุด ได้แก่ กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย

การเติบโตของนักท่องเที่ยวในอาเซียน ในช่วง 10 ปีนี้

เนื่องจากในปี 61 ทั้ง 3 ประเทศนี้ พึ่งพิงรายได้จากการท่องเที่ยว คิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพี และมีการจ้างงาน สูงสุด 3 อันดับแรกในอาเซียน อันดับ1 คือ กัมพูชา อันดับ 2 ฟิลิปปินส์ และไทยอยู่ในอันดับ3 ทั้งแต่ละประเทศในอาเซียน

ส่วนแนวโน้มการท่องเที่ยวของอาเซียนในปีนี้ ก็ยังคงอยู่ในภาวะประคองตัว เนื่องจากตลาดหลักของอาเซียน คือ นักท่องเที่ยวจีน รัฐบาลจีนก็ยังไม่อนุญาตให้คนเดินทางออกนอกประเทศ แต่ให้เที่ยวภายในประเทศจีนเองเป็นหลัก

ส่งผลให้ผู้ประกอบการนำเที่ยวอินบาวด์ (รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ) ต้องหันมาโปรโมตทำทัวร์ขาย รองรับการท่องเที่ยวในประเทศไปก่อน แต่น่าจะเริ่มเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวได้ในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ และหลังจากได้รับวัคซีน สถานการณ์ก็น่าจะดีขึ้น

แต่การจะกลับมาฟื้นตัวเหมือนเดิมเหมือนก่อนเกิดโควิด คงต้องใช้เวลา ร่วม 4 ปีจากนี้ โดยองค์การการท่องเที่ยวโลก (UNWTO) คาดการณ์แนวโน้มการเติบโตของการเดินทางท่องเที่ยวของโลกไว้ว่าในปี 64 จะขยายตัวแค่ 1% ปี65 อยู่ที่ 15% ปี 66 อยู่ที่ 43% ปี 67 ขยายตัว 41% จากในปี 63 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกอยู่ที่ 381 ล้านคน-74% เมื่อเทียบกับปี 62 และมีรายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ส่วนการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก UNWTO ประเมินว่าปี 64 ขยายตัว 6% ปี65 ขยายตัว 14% ปี 66 ขยายตัว 39% ปี 67 ขยายตัว 42%

ดันวัคซีนพาสปอร์ต อาเซียน

การชลอตัวด้านการท่องเที่ยวจากโควิด-19 หากยังคงปล่อยให้เป็นเช่นนี้โดยไม่ทำอะไรเลย จะเกิดการล่มสลายของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ล่าสุดอาเซียนต้า ได้มีการประชุมระดับภูมิภาคอาเซียน ร่วมกับองค์กรการท่องเที่ยวแห่งชาติอาเซียน หรือ อาเซียน NTO ถึงแผนการส่งเสริมการท่องเที่ยวในอาเซียน เพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีท่องเที่ยว 10 ประเทศอาเซียน

โดยอาเซียนต้า พร้อมจะผลักดันให้เปิดประเทศ โดยเริ่มที่ อาเซียนเที่ยวกันเดียวเอง สำหรับคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว โดยไม่ต้องมีการกักตัว 14 วัน ซึ่งจะผลักดันให้เกิดวัคซีน พาสปอร์ต(ASEAN Health passport หรือ Electronic health Passport)เพื่อติดตามผู้เดินทางเข้าออกในกลุ่มประเทศอาเซียนได้สะดวกและปลอดภัย โดยไม่ต้องกักตัว เพื่อเปิดประเทศช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยว และกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้วย

ทั้งนี้อาเซียนต้าจะเสนอแนะเรื่องของการเปิดการเดินทางและการท่องเที่ยวในอาเซียนว่าควรเริ่มต้นภายในไตรมาส 1/ไตรมาส 2 ของปีนี้ เพื่อพยุงเศรษกิจและป้องกันปัญหาคนว่างงานที่ภัยคุกคามจากการล่มสลายของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นเรื่องจริง และต้องรีบดำเนินการอย่างเร่งด่วน ซึ่งขอเสนอเป็น 3 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 “ ร้องขอ ให้รัฐบาลทุกประเทศให้การสนับสนุน ภาคการท่องเที่ยว ในทันที”อย่างยุติธรรมและเท่าเทียมเพื่อให้อุตสาหกรรมอยู่รอด (ภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2564)

ระยะที่ 2 “ร้องขอให้มีการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดพรมแดนอีกครั้ง” โดยวางกรอบการเดินทางข้ามพรมแดน standard operating procedure (SOPs) สำหรับระบบนิเวศการท่องเที่ยวทั้งหมดและแนวทางในการทดสอบและการฉีดวัคซีน (ภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2564)

ระยะที่ 3 “เตรียมพร้อมเรื่องการอำนวยความสะดวกในการเริ่มต้นใหม่ของการเดินทางทุกประเภท”(อาทิ ธุรกิจการพักผ่อนและการเดินทาง VFR) ตามกรอบ ASEAN Travel Corridor (ภายในไตรมาสที่ 2 ปี 2564)

ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางระหว่างประเทศเมื่อพรมแดนเปิดอีกครั้ง รัฐบาลของประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียนจะต้องตกลงกันต่อไปนี้ 1.การฉีดวัคซีนจะไม่ถูกกำหนดให้เป็นข้อกำหนดเบื้องต้นสำหรับการเดินทางระหว่างประเทศ 2.การยอมรับ ในการฉีดวัคซีนที่ใช้ในประเทศอื่น 3.การรับรองมาตรฐานเพื่อพิสูจน์ว่าผู้เดินทางได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว โดยออกเป็นใบรับรอง 4.การยอมรับการรับรองดังกล่าวในทุกรูปแบบของการขนส่งระหว่างประเทศ

อีกทั้งอาเซียนต้ายังได้เสนอขั้นตอนการทดสอบและกักตัวทั่วไป (ถ้าจำเป็น) สำหรับนักเดินทางที่ไม่ได้รับวัคซีน โดยเสนอว่าคนงานในภาคการบินควรได้รับการพิจารณาว่าเป็นแรงงานที่จำเป็นและได้รับการจัดลำดับความสำคัญในการฉีดวัคซีน,ควรรวมคนงานขนส่งเป็นประชากรที่มีลำดับความสำคัญสำหรับการฉีดวัคซีนควบคู่ไปกับภาคส่วนอื่น ๆ นอกภาคสุขภาพและการศึกษา

มิ่งขวัญ เมธเมาลี

รวมถึงเรียกร้องให้พนักงานในภาคการบินได้รับการพิจารณาให้เป็นแรงงานที่มีความสำคัญในระหว่างการรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่กำลังจะมาถึงเมื่อเจ้าหน้าที่ดูแลสุขภาพและกลุ่มเสี่ยงได้รับการคุ้มครองแล้วทั้งยังจำเป็นต้องมี ขั้นตอนการปฎิบัติงาน standard operating procedure (SOPs) ที่ได้มาตรฐานเพื่อเพิ่มความมั่นใจและจะพลิกโฉมอนาคตของการเดินทางในยุคหลังโควิด เป็นต้น

ทั้งนี้อาเซียนต้า ประเมินว่าการจองล่วงหน้าด้านการท่องเที่ยว ยังคงมีเล็กน้อย แม้จะมีข่าว วัคซีน เริ่มบ้างแล้ว จนถึงเดือนพฤศจิกายน 64 จึงเสนอว่าธุรกิจท่องเที่ยวของอาเซียน ควรจะยังคงต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐอาทิ ซอฟต์โลน การยกเว้นภาษี การลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบินสำหรับสายการบิน

รวมไปถึงเงินอุดหนุนเบี้ยเลี้ยงและเงินคืน อาทิ อุดหนุนค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาด / ฆ่าเชื้อโรค การมอบเงินช่วยเหลือพิเศษรายเดือนให้กับพนักงานระดับแนวหน้าในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่สัมผัสใกล้ชิดกับลูกค้า (เช่นพนักงานโรงแรมพนักงานภาคพื้นสนามบินลูกเรือในห้องโดยสารของสายการบิน) การให้ส่วนลดและการยกเว้นค่าแลนด์ดิ้งและปาร์กกิ้งให้กับสายการบิน

นอกจากนี้ที่สำคัญคือการผลักดันแผนการฉีดวัคซีนจำนวนมากควรมาพร้อมกับแนวทางที่ชัดเจนสำหรับการเดินทางข้ามพรมแดน เพราะความแตกต่างระหว่างแผนการฉีดวัคซีนและระยะเวลาในอาเซียนอาจขัดขวางการเดินทางกลับมาใหม่

ทั้งหมดล้วนเป็นการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของอาเซียน ที่กำลังจะผลักดันให้เกิดขึ้น จากการกลับมาเปิดประเทศเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้งในภูมิภาคนี้ 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,651 วันที่ 7 - 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วัคซีน 61 ล้านโดสฟื้นท่องเที่ยว  อดีตบิ๊กสทท.จี้รัฐตั้งบัญชีพิเศษอุ้ม

ซีอีโอไมเนอร์ ร้อง"นายกประยุทธ์"ชง 4แนวทางบริหารวัคซีนโควิดต่อธุรกิจท่องเที่ยว

10ประเทศชู 7 แนวทางฟื้นท่องเที่ยวอาเซียนหลังโควิด

อาเซียนต้า หนุนสร้างมาตรฐานโควิด ดัน "อาเซียน" เที่ยวกันเอง

‘อาเซียนต้า’ รุกบิ๊กแคมเปญ บูมเที่ยวอาเซียน