10ประเทศชู 7 แนวทางฟื้นท่องเที่ยวอาเซียนหลังโควิด

29 เม.ย. 2563 | 03:30 น.

รมต.ท่องเที่ยว10ประเทศ ร่วมหารือเร่งฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว หลังวิกฤติโควิด-19 โฟกัสการแลกเปลี่ยนข้อมูล พร้อมหนุนกรอบความร่วมมือ 7 แนวทางทำงานร่วมกัน

         ในการร่วมประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนสมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ณ สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวราชอาณาจักรกัมพูชา Dr. Thong Khon เป็นประธาน และมีรัฐมนตรีท่องเที่ยวจากทุกประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงรองเลขาธิการอาเซียนด้านเศรษฐกิจ เข้าร่วมประชุม ในวันนี้ (29 เมษายน2563) อาเซียนได้ข้อสรุปความร่วมมือใน 7 แนวทางเพื่อฟื้นการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสที่เกิดขึ้น

10ประเทศชู 7 แนวทางฟื้นท่องเที่ยวอาเซียนหลังโควิด

        นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวภายหลังการประชุมว่าที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงมาตรการในการฟื้นตัวเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว เพื่อให้อุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียนฟื้นตัวโดยเร็วที่สุด โดยมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
10ประเทศชู 7 แนวทางฟื้นท่องเที่ยวอาเซียนหลังโควิด

         โดยอาศัยการดำเนินงานของทีมสื่อสารในภาวะวิกฤติการท่องเที่ยวอาเซียน (ASEAN Tourism Crisis Communications Team : ATCCT) เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่ทันเวลา เชื่อถือได้ ตลอดจนแสวงหาความร่วมมือกับคู่เจรจาและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของอาเซียน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในมาตรการสนับสนุนและบรรเทาทุกข์ในภาคการท่องเที่ยว เพื่อรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจอันเป็นผลสืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

10ประเทศชู 7 แนวทางฟื้นท่องเที่ยวอาเซียนหลังโควิด

        นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้รับรองถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนในการเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูการท่องเที่ยวอาเซียน (Joint Statement of the ASEAN Tourism Ministers on Strengthening Cooperation to Revitalise ASEAN Tourism) โดยมีความตกลงร่วมกัน ดังนี้
      1. สนับสนุนการประสานงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งรัดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารการเดินทางที่เกี่ยวข้องกับการสาธารณสุข และมาตรการจำเป็นอื่น ๆ ของประเทศสมาชิกอาเซียน ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผ่านการดำเนินงานของทีมสื่อสารในภาวะวิกฤติการท่องเที่ยวอาเซียน (ASEAN Tourism Crisis Communication Team : ATCCT)
       2. กระชับความร่วมมือระหว่างองค์กรการท่องเที่ยวแห่งชาติ ของประเทศสมาชิกอาเซียน (National Tourism Organisations) กับหน่วยงานอาเซียนอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหุ้นส่วนภายนอกอาเซียน โดยเฉพาะด้านการสาธารณสุข ข้อมูลข่าวสาร การคมนาคมขนส่ง และการเข้าเมือง
       3. ส่งเสริมความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและคู่เจรจาอาเซียน ในการตอบสนองภาวะวิกฤติ ความพร้อมทางด้านการสื่อสาร การประสานความร่วมมือ การบรรเทาสาธารณภัยระดับประเทศ และมาตรการสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว ตลอดจนการเรียนรู้จากประสบการณ์เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือและจัดการกับโรคระบาด หรือภัยคุกคามร้ายแรงอื่นได้ดียิ่งขึ้นในอนาคต
        4. ดำเนินนโยบายและมาตรการที่มีความชัดเจนเพื่อเพิ่มความมั่นใจของทั้งนักท่องเที่ยวภายในอาเซียนและนักท่องเที่ยวนานาชาติที่เดินทางมายังอาเซียน รวมทั้งการกำหนดมาตรฐานและแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมการทำงานที่เหมาะสม เพื่อคุ้มครองผู้ปฏิบัติงานและชุมชนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศสมาชิกอาเซียน
        5. สนับสนุนการพัฒนาแผนฟื้นฟูภายหลังวิกฤติโควิด-19 และการนำแผนดังกล่าวไปปฏิบัติ อาทิ การเสริมสร้างศักยภาพด้านการท่องเที่ยวอาเซียน การร่วมมือกับผู้มีส่วนได้เสียในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมความมั่นใจของทั้งนักธุรกิจและนักท่องเที่ยว รวมทั้งการตลาดและการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มุ่งเป้าให้อาเซียนเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวร่วม ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน
       6. ให้ความสำคัญกับนโยบายเศรษฐกิจทั้งระดับจุลภาคและมหภาคเพิ่มมากขึ้น โดยให้การสนับสนุนแก่ผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อาทิ การสนับสนุนทั้งทางเทคนิคและการเงิน การบรรเทาภาษี การยกระดับขีดความสามารถโดยเฉพาะทักษะดิจิทัล
         7. แสวงหาความร่วมมือกับคู่เจรจาอาเซียน องค์กรนานาชาติที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้มีส่วนได้เสียในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อเตรียมการให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความพร้อมต่อการจัดการการท่องเที่ยวภายหลังวิกฤติโควิด-19 ได้อย่างยั่งยืน

10ประเทศชู 7 แนวทางฟื้นท่องเที่ยวอาเซียนหลังโควิด
             นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่าในส่วนของประเทศไทย มีมาตรการในการบรรเทา เยียวยา และฟื้นฟูผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการและแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ตลอดจนการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวด้วยการสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาเศรษฐกิจ และการกระจายรายได้สู่ชุมชน ซึ่งมีการดำเนินการใน 2 ระยะ
             มาตรการในระยะแรก ประกอบด้วย มาตรการด้านการเงินและการคลัง และมาตรการด้านการให้การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยมาตรการทั้ง 2 ด้านมีการเริ่มต้นดำเนินการไปแล้ว
           ส่วนมาตรการในระยะที่สอง ประกอบด้วยมาตรการสำคัญ 6 ด้าน ได้แก่ มาตรการเสริมสร้างและการรักษาขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยว, มาตรการด้านการสร้างรายได้แก่สถานประกอบการท่องเที่ยว, การพัฒนาทักษะบุคลากรด้านการท่องเที่ยว, การสร้างมาตรฐานความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวและด้านสุขอนามัย, การช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยว และการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ