ดิ้นสู้โควิด  ‘วัชมนฟู้ด’ เบนเข็มโหมออนไลน์

07 ม.ค. 2564 | 07:28 น.

โควิดพ่นพิษ ฉุดตลาดนำเข้าผลไม้พรีเมี่ยมทรุด “วัชมนฟู้ด” พลิกเกมตั้งบริษัทน้องใหม่  “เฟรซ ลีฟวิ่ง” ปูพรมทำตลาดออนไลน์ รับพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน พร้อมเร่งแผนอัดโปรโมชั่น ขยายฐานลูกค้า หวังดันยอดขายปีฉลูทรงตัว หลังปี 63 ร่วงกว่า 15%

 

นางสาววิภาวี วัชรากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท วัชมนฟู้ด จำกัด ผู้นำเข้าและจำหน่ายผลไม้เกรดพรีเมียมจากต่างประเทศ อาทิ เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย สหรัฐ อเมริกา ชิลี ฯลฯ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมของบริษัทในปีที่ผ่านมามียอดขายลดลงกว่า 15% เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องล็อกดาวน์ธุรกิจต่างๆ ทั้งห้างสรรพสินค้า ตลาดสด ซึ่งลูกค้าหลักของบริษัทเป็นกลุ่มค้าส่ง จึงได้รับผลกระทบไปด้วย ขณะเดียวกันลูกค้าทั่วไปก็ระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายมากขึ้น ล่าสุดการแพร่ระบาดในระลอกใหม่ ทำให้ต้องงดการจัดกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งการซื้อเป็นของขวัญของฝากก็ลดลงไปด้วย

ดิ้นสู้โควิด   ‘วัชมนฟู้ด’  เบนเข็มโหมออนไลน์

อย่างไรก็ดีหลังเกิดการระบาดในรอบแรก บริษัทได้ปรับแผนการทำตลาดในช่องทางออนไลน์ โดยจัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้น ภายใต้ชื่อ บริษัท เฟรซ ลีฟวิ่ง จำกัด ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเพื่อรุกทำตลาดและขายในช่องทางออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ค ไลน์ และเว็บไซต์ ซึ่งพบว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีลูกค้าเข้ามาสั่งซื้อต่อเนื่อง ทำให้จนถึงสิ้นปีมียอดขายกว่า 20 ล้านบาท

 

ดังนั้นในปีนี้บริษัทจึงเดินหน้ารุกช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น ทั้งการทำกิจกรรมต่างๆ การจัดโปรโมชั่น การโฆษณาและประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่างๆ ให้มากขึ้น รวมทั้งการนำเสนอสินค้าใหม่ๆ เข้าไปวางจำหน่าย จากปัจจุบันที่เน้นใน 4 สินค้าได้แก่ สตรอเบอร์รี่ , อะโวคาโด , อินทผาลัม และมันญี่ปุ่น ด้วยจุดเด่นเรื่องของแพ็กเกจจิ้งที่สวยงาม ทำให้เชื่อว่าในปีนี้จะมียอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 100 ล้านบาทและเพิ่มขึ้นเป็น 300 ล้านบาทในปี 2567

“ช่องทางออนไลน์ได้รับการตอบรับที่ดีเกินคาด เพราะลูกค้าสามารถเข้าถึงได้ 24 ชม. สามารถเลือกสินค้าได้ตามต้องการ และมีแพคเกจที่สวยงาม ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าประจำ ซื้อแล้วมีการซื้อซ้ำเพราะเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้า นอกจากนี้ยังมีการจัดโปรโมชั่น เพื่อให้เหมาะกับความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มด้วย”

วิภาวี วัชรากร

 

อย่างไรก็ดีปัญหาที่พบในขณะนี้คือเรื่องของการขนส่ง เพราะขั้นตอนการจัดส่งสินค้าประเภทผลไม้ จำเป็นต้องมีรถห้องเย็น มีระบบการจัดเก็บที่ถูกวิธี การจัดส่งที่ได้ประสิทธิภาพ ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งค่อนข้างสูง ซึ่งบริษัทต้องคำนึงถึงต้นทุนโดยรวมเพื่อให้เหมาะสม ไม่สูงเกินไป ขณะเดียวกันสินค้าที่ถึงมือผู้บริโภคต้องมีคุณภาพ ไม่เน่าเสีย

 

สำหรับผลประกอบการของบริษัทในปีนี้ตั้งเป้าหมายที่จะมียอดขาย 2,000-2,200 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดขายผ่านรีเทล หรือห้าง ซูเปอร์มาร์เก็ต 65-70% และค้าส่ง 30-35% ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ขณะที่ช่วงเวลาปกติจะมียอดขายเฉลี่ย 2,500 ล้านบาทต่อปี หลังจากที่ลดการลงทุนในส่วนของหน้าร้านลง ไม่ว่าจะเป็นการปิดช็อปที่ไอคอนสยาม หรือห้างอื่น ๆ ทำให้ลดต้นทุนทั้งการบริหารจัดการและค่าแรง ขณะที่การแพร่ระบาดของโควิดทำให้บริษัทจะยังไม่มีการลงทุนใหม่ๆ เพิ่มขึ้น แต่จะให้ความสำคัญกับช่องทางขายผ่านออนไลน์เป็นหลัก 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดไทม์ไลน์ ชายสูงวัยติดเชื้อ "โควิด-19" เสียชีวิต

ไทยเข้ม ผัก-ผลไม้ นำเข้า หลังพบสารพิษตกค้างอื้อ

“รถไฟด่วนผิงเสียง” ส่งตรงผลไม้ไทยด้วยระบบรางสู่ตลาดจีน

 

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,643 วันที่ 10 - 13 มกราคม พ.ศ. 2564