‘เราเที่ยวด้วยกัน’ เข็นไม่ขึ้น แก้เกมรื้อหลักเกณฑ์ใหม่

24 ส.ค. 2563 | 12:02 น.

โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” จนถึงวันนี้มีการใช้สิทธิน้อยมาก ทั้งมีแนวโน้มที่จะจองไม่ครบตามเป้าหมาย 5 ล้านคืน การปรับหลักเกณฑ์ใหม่ จึงเป็นทางออกที่จะกระตุ้นยอดการจองให้เพิ่มขึ้น

     โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ซึ่งรัฐบาลตั้งความหวัง ใช้เป็นหัวหอก ขับเคลื่อน ไทยเที่ยวไทย เพื่อกระตุ้นรายได้การท่องเที่ยวภายในประเทศ 5 หมื่นล้านบาท สร้างรายรับในธุรกิจหมุนเวียน 1.23 แสนล้านบาท โดยรัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวให้ 40% จนถึงวันนี้มีการใช้สิทธิน้อยมาก

‘เราเที่ยวด้วยกัน’ เข็นไม่ขึ้น  แก้เกมรื้อหลักเกณฑ์ใหม่

    นับจากเริ่มเปิดให้ประชาชนใช้สิทธิจองห้องพักตั้งแต่วันที่ 18 กรกฏาคม 2563 มีการใช้สิทธิ์จองโรงแรมเพียง  4,308,913 สิทธิ์ จากจำนวนห้องพักที่เข้าร่วมโครงการ 5 ล้านห้อง ขณะที่การใช้สิทธิ์ตั๋วเครื่องบิน อยู่ที่ 1,996,562 สิทธิ์ จากจำนวนตั๋วเครื่องบินที่เข้าร่วมโครงการกว่า 2 ล้านบาท

      ปัจจุบันมีประชาชาชนเข้ามาลงทะเบียนโครงการนี้ มากถึง 4.8 ล้านคน แต่ใช้สิทธิการจองห้องพักในโครงการนี้ราว 5.6 แสนคืน คิดเป็นสัดเพียง 10 % และมีการเช็คอิน ไปแล้ว 172,007 บุ๊กกิ้งเท่านั้น ส่วนใหญ่จะจองที่พักใกล้กรุงเทพฯ เช่นหัวหิน พัทยา ชลบุรี การจองที่พักระยะไกลน้อยมาก วัดได้จากยอดจองตั๋วเครื่องบินในโครงการนี้ ที่มีการจองเพียง 3,438 ใบเท่านั้น 

     การตอบรับที่เชื่องช้าเช่นนี้  เป็นผลมาจาก 3 ปัจจัยสำคัญ  ปัจจัยแรกสภาวะเศรษฐกิจภายใน ซึ่งชลอตัวเป็นอย่างมาก จากผลกระทบ โควิด-19 ทำให้คนตกงานเป็นจำนวนมาก โดยจากข้อมูลของคณะกรรมร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)ระบุว่า วิกฤตโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบให้แรงงานในไทย จะว่างงานราว 7.2 ล้านคน ทำให้อัตราว่างงานขึ้นไปสู่ระดับ 28%

        การว่างงาน และ การหดตัวของเศรษฐกิจ ทำให้คนไทยส่วนใหญ่เลือกที่จะตุนเงินสดในมือไว้มากกว่าจะเดินทางเที่ยว ประกอบกับกลุ่มคนในสังคมไทย กว่า 73% เป็นกลุ่มที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากโควิดสูง
 
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชงครม.ปรับ 3 หลักเกณฑ์ใหม่ "เราเที่ยวด้วยกัน"จองสูงสุด10คืน
จ่อดึง 700 บริษัทตลาดหลักทรัพย์ฯ เที่ยววันธรรมดา​​​​​​​
"เราเที่ยวด้วยกัน" ททท. ขู่ตัดสิทธิ์โรงแรมขึ้นราคา ยกเลิกเข้าร่วมโครงการ

“ภูเก็ต โมเดล”ดีเดย์ 1 ต.ค.นี้ นำร่องดึงต่างชาติเที่ยว

 

 

       ขณะที่กลุ่มคนที่ยังมีกำลังในการใช้จ่ายและเดินทางเที่ยวในประเทศได้ตอนนี้ คือกลุ่มคนที่มีรายได้ระดับบน มีสัดส่วนอยู่ที่ 12% เท่านั้น โดยจะเดินทางเป็นกลุ่มเล็กๆ เพราะยังมีความกังวลเรื่องการติดเชื้อ โดยรูปแบบจะเที่ยวในพื้นที่ระยะใกล้ เที่ยวในจังหวัดตัวเองหรือใกล้เคียง และใช้เวลาเที่ยว 2-3 วัน หรือแบบ วันเดย์ ทริป เพื่อระมัดระวังในการใช้จ่าย เนื่องจากยังไม่มั่นใจเศรษฐกิจในประเทศ

‘เราเที่ยวด้วยกัน’ เข็นไม่ขึ้น  แก้เกมรื้อหลักเกณฑ์ใหม่

         ปัจจัยที่สอง คือ พฤติกรรมในการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทย ที่จะเที่ยวเฉพาะวันหยุดสุดสัปดาห์และวันหยุดยาวเท่านั้น ประกอบกับในช่วงเดือนตุลาคมนี้ไม่มีการปิดภาคเรียน ก็ส่งผลให้การเดินทางท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัว ซึ่งมีสัดส่วนกลุ่มตลาดมากที่สุดถึง 82%  หายไปจากตลาด

      ปัจจัยที่สาม คือ การไม่ซื่อตรงของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ บางราย ฉวยโอกาสปรับราคาขายขึ้น ไม่เป็นไปตามข้อตกลงที่กำหนดไว้ตั้งแต่เข้าร่วมโครงการว่า โรงแรมจะต้องเสนอราคาที่ลดลงพิเศษกว่าราคาที่ขายปกติ โดยราคาห้องพักสุทธิ ต้องไปไม่สูงกว่าราคาที่โรงแรมเสนอขายในช่วง6-8 เดือนที่ผ่านมา บางโรงแรมมีการเปลี่ยนราคาบ่อย และมีบางรายที่ทุจริต จนต้องถูกถอดสิทธิ์ออกไป

     นอกจากนี้จำนวนโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการอยู่ที่ราว 6 พันกว่าแห่งเท่านั้น เงื่อนไขของตัวโครงการเอง ที่ไม่มีความยืดหยุ่น เช่น ห้ามเปลี่ยนแปลงการจองของวันที่เข้าพักและลดหรือเพิ่มจำนวนห้องพักเมื่อได้ทำการจองและจ่ายเงินผ่านระบบเป๋าตังแล้ว และต้องจองล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วันก่อนการเข้าพัก

      รวมถึงช่องทางในการจองของโครงการผ่าน 3 ช่องทาง ก็มีจุดเด่นจุดด้อยที่แตกต่างกัน โดยหาก “จองตรงกับโรงแรม” โดยโรงแรมที่มีความต้องการสูงต้องใช้เวลาในการจองที่นานพอสมควร และการแสดงราคาจะขึ้นกับโรงแรมแต่ละราย หากจองผ่าน “อโกด้า” คนก็จะสับสนเรื่องของราคาว่าลดแล้วหรือยัง เนื่องจากอโกด้า จะแสดงราคาสุทธิให้เห็นตอนชำระเงิน ขณะที่การจองผ่าน “แอสเซนด์ แทรเวล” จำนวนโรงแรมที่นำมาขายจะไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นรายเล็กและรายกลาง

‘เราเที่ยวด้วยกัน’ เข็นไม่ขึ้น  แก้เกมรื้อหลักเกณฑ์ใหม่

    ดังนั้นหากปล่อยให้สถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ จนถึงสิ้นสุดโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ในเดือนตุลาคมนี้ ทาง กระทรวงการคลังประเมินว่า จะมียอดการจองเกินขึ้นราว 2 ล้านกว่าคืนเท่านั้น นี่เองจึงทำให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)เสนอให้มีการปรับเกณฑ์โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โดยขยายสิทธิ์ ที่รัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่าย ห้องพัก 40% จากจองได้สูงสุด 5 คืนต่อคน ขยายเพิ่มเป็นสูงสุด 10 คืนต่อคน การขยายการสนับสนุน ตั๋วเครื่องบิน จาก 1,000 บาทต่อคน เป็น 2,000 บาทต่อคน

       รวมถึงขยายการใช้สิทธิ์จากเดิมผู้สามารถใช้สิทธิ์เป็น บุคคลธรรมดา เท่านั้น เพิ่มเติมให้ นิติบุคคล หรือ บริษัทเอกชน สามารถใช้สิทธิ์สามารถเข้าร่วมโครงการได้ โดยได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐค่าห้องพัก เพื่อเป็นการกระตุ้นให้คนไทยไปเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งล่าสุด ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) มีมติเห็นชอบ และเตรียมเสนอให้ ครม.พิจารณาในวันที่ 24-25 สิงหาคมนี้ โดยมุ่งหวังว่าจะปั๊มยอดการจองให้ได้ตามเป้าหมาย 5 ล้านคืน

 นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 หน้า 8 ฉบับที่ 3,603 วันที่ 23 - 26 สิงหาคม พ.ศ. 2563