เปิดเหตุผล "คลายล็อกดาวน์" ระยะ4 ทำไมเปิด-ทำไมปิดต่อ เริ่ม15 มิ.ย.

10 มิ.ย. 2563 | 07:27 น.

โฆษกศบค. แถลงชี้แจงเหตุผล "คลายล็อกดาวน์" หรือผ่อนปรน ระยะที่4 ในการเปิดกิจการ/กิจกรรม เพิ่มเติม เริ่ม15 มิ.ย.นี้

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 10 มิ.ย.เวลา 11.30 น. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงถึงรายละเอียดและเหตุผลของการพิจารณาผ่อนคลายล็อกดาวน์ หรือ ผ่อนปรน กิจกรรมและกิจการในระยะที่ 4 (เฟส4) ที่จะผ่อนคลายการบังคับใช้กฎหมาย  ซึ่งเป็นฉบับร่างเตรียมจะนำเสนอที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่ในวันที่ 12 มิ.ย.นี้  
โดยประเภทกิจกรรมและกิจการประเภทกลุ่มสีแดง ที่มีความเสี่ยงสูงแบ่งเป็น 3  กลุ่ม คือ 


1. ผ่อนผันการใช้อาคาร สถานที่  โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา  หน่วยงานราชการและหน่วยงานในกำกับของรัฐ  สามารถเปิดให้โรงเรียนนานาชาติ และสถาบันกวดวิชา เปิดการเรียนการสอนได้  แต่ให้มีมาตรการเสริมในการจัดระเบียบพื้นที่ ให้นักเรียนโดยเว้นระยะห่างกัน  

2. กิจกรรมเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต ให้ภัตตาคาร สวนอาหาร โรงแรม และร้านอาหาร  สามารถจำหน่ายสุราและนั่งดื่มในร้านได้  ส่วนสถานบริการ ผับ บาร์ และคาราโอเกะ ยังไม่อนุญาตเปิดบริการ และงดกิจกรรมส่งเสริมการขาย เช่น เชียร์เบียร์  เนื่องจากผับ บาร์ คาราโอเกะ จัดอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูงมากที่มีรายงานก่อนหน้านี้ถึงการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน เช่น กรณีผับที่ทองหล่อ ซึ่งกิจการประเภทนี้การผลักดันเศรษฐกิจไม่สูงเหมือนกิจการประเภทอื่น ขณะที่ร้านอาหารนั้น มีความสำคัญกับการดำเนินชิตประจำวัน และผู้มาใช้บริการนิยมไม่นั่งเป็นเวลานานเหมือนผับ และบาร์ 

"ดังนั้นการผ่อนคลายล็อกดาวน์ หรือผ่อนปรน ระยะที่ 4 การจะอนุญาตให้จำหน่ายสุราจึงต้องดูตามความเหมาะสมและความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ สำหรับสถานพัฒนาเด็กประถมวัย ศูนย์เด็กเล็ก สถานรับเลี้ยงเด็กเล็กรายวัน  ศูนย์การเรียนสำหรับเด็กพิเศษ และสถานดูแลผู้สูงอายุรายวัน  สามารถเปิดแบบไปเช้า-เย็นกลับได้"

ส่วนห้องประชุมโรงแรม ศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้า สถานที่จัดนิทรรศการ โรงมหรสพ งานแสดงดนตรี คอนเสิร์ต สามารถเปิดได้ แต่ต้องลดความหนาแน่น ความไม่มีระเบียบ เช่น งานดนตรี การจัดคอนเสิร์ต เมื่อมีการร้องเพลงตามอาจมีการกระจายของสารคัดหลั่งในน้ำลาย  ฉะนั้นผู้จัดงานจะต้องดูแลและงดกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ รวมถึงอาจจัดให้มีการเว้นที่นั่ง ขณะที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา เช่น ท้องฟ้าจำลอง  สามารถเปิดบริการได้  ในส่วนการขนส่งสาธารณะให้นั่งติดกัน 2 ที่นั่งเว้น 1 ที่นั่ง  หรือไม่เกิน 70% ของความจุรถ 

3.กิจกรรมด้านการออกกำลังกาย การดูแลสุขภาพหรือสันทนาการ ในส่วนของกิจการถ่ายภาพยนตร์  วีดีทัศน์ และรายการโทรทัศน์ สามารถเพิ่มจำนวนทีมงานไม่เกิน 150 คน และผู้เช้าชมไม่เกิน 50 คน นอกจากนี้ ขอแนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัย เพราะที่ผ่านมารายการโทรทัศน์มักจะใส่แต่เฟซชิลด์ ซึ่งไม่สามารถป้องกันวิด-19 ได้เท่าหน้ากากอนามัย   

สำหรับกิจการสปา ออนเซน อบตัว อบสมุนไฟ และอบไอน้ำ  สามารถเปิดบริการได้ แต่จำกัดจำนวนผู้ใช้ต่อรอบ และเว้นระยะ 5 ตารางเมตรต่อคน ยกเว้นกิจการอาบ อบ นวดที่ยังไม่อนุญาตให้เปิดบริการ

ขณะเดียวกันสวนสนุก สนามเด็กเล่น สระน้ำ และสระว่ายน้ำสาธารณะ สามารเปิดบริการได้ แต่ต้องมีการอบรมพนักงานดูแล เพื่อให้คำแนะนำผู้ใช้บริการ ส่วนบ้านบอลที่อยู่ในห้างสรรพสินค้ายังไม่ให้เปิดบริการ เนื่องจากเกรงว่าสารคัดหลั่งจะไปอยู่ในอุปกรณ์เครื่องเล่น ทำให้ทำความสะอาดยากและเป็นที่หมักหมมของเชื้อโรค  

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เช็กด่วน ร่าง "คลายล็อกดาวน์" ระยะที่ 4 นั่งดื่มในร้านอาหารได้-ผับยังไม่ให้เปิด

สมช. เสนอทดลองยกเลิก เคอร์ฟิว 15 วัน ทั่วประเทศ

ด้านสนามกีฬาประเภทกลางแจ้ง โรงเรียนสอนศิลปะการต่อสู้ โรงยิม และสถานที่ออกกำลังกาย  หากจะมีการจัดการแข่งขันจะต้องไม่มีผู้เข้าชม  เช่นเดียวกับสวนสาธารณะ ลานกิจกรรมเพื่อการออกกำลังกายลักษณะเป็นการรวมกลุ่ม เช่น การเต้นแอโรบิก สามารถเปิดได้ แต่ต้องรวมกันไม่เกิน 50 คน และเว้นระยะห่าง 5 ตารางเมตรต่อคน 

ตู้เกมส์ เครื่องเล่นหยอดเหรียญ ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และศูนย์คอมมูนิตี้มอลล์  สามารถเปิดบริการได้ เนื่องจากเด็กที่มาเล่นจะมีผู้ปกครองมาดูแล และจำกัดเวลา 2 ชั่วโมงต่อคน แต่นอกห้างสรรพสินค้ายังไม่เปิดบริการ 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า กิจกรรมและกิจการทั้งหมดเป็นฉบับร่าง ซึ่งอาจมีการปรับเปลี่ยน ยกเลิกหรือเพิ่มเติมได้ ขึ้นอยู่กับที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่ ที่จะมีการประชุมในวันที่ 12 มิ.ย.นี้ หากมีอนุญาตให้เปิดจะเริ่มผ่อนคลายระยะที่ 4 ในวันที่ 15 มิ.ย.