คิกออฟลงทุน 4 เฟส "สนามบินอู่ตะเภา" รับธุรกิจการบินฟื้น

13 มิ.ย. 2563 | 08:55 น.

ในที่สุดโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ก็จะได้ฤกษ์เดินเครื่อง หลังการลงนามในสัญญาการร่วมลงทุน ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 19 มิถุนายน 2563  ณ ทำเนียบรัฐบาล

 ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) กับบริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ซึ่งกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส เป็นผู้ชนะการประมูลได้จัดตั้งบริษัทนี้ขึ้น เพื่อมาเป็นคู่สัญญากับรัฐ ในการดำเนินโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก

เปิดผลตอบแทนขั้นต่ำรายปี

การชนะประมูล โครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก  กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ได้เสนอผลตอบแทนให้รัฐสูงสุด โดยเสนอราคาเป็นจำนวนเงินประกันผลตอบแทนค่าเช่าและส่วนแบ่งรายได้ขั้นต่ำรายปี รวมตลอดอายุสัญญาร่วมทุน เมื่อคำนวณเป็นมูลค่าปัจจุบัน (Present Value) ณ ปี 2561 ใช้อัตราคิดลดร้อยละ 3.76 เท่ากับ 305,555 ล้านบาท ทิ้งขาดกลุ่มกิจการค้าร่วมธนโฮลดิ้งฯ(ซีพี)ที่เสนอราคา 102,217 ล้านบาท กลุ่มกิจการร่วมค้าแกรนด์ คอนซอเตียม เสนอราคา 100,903 ล้านบาท 

ในสัญญาการร่วมลงทุนดังกล่าว ทางกองทัพเรือ(ทร.) ได้ทำหนังสือยินยอมให้ อีอีซี ใช้พื้นที่ 6,500 ไร่ในการพัฒนาโครงการ ซึ่งทร.ได้ทำหนังสือยินยอมให้ทางอีอีซี ไปเรียบร้อยแล้ว การลงทุนในโครงการนี้รัฐจะได้ประโยชน์ จากบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด เป็นเงินรวม 1,326,000 ล้านบาท ในอายุสัญญาสัมปทาน 50 ปี โดยในช่วง 3 ปีแรกจะเป็นช่วงของการก่อสร้าง บริษัทอู่ตะเภาฯจะจ่ายเงินประกันขั้นต่ำให้รัฐอยู่ที่ปีละ 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าเช่าที่ดินรวมอาคารสิ่งก่อสร้าง 

จากนั้นในปีที่4 เมื่อเริ่มเปิดให้บริการ ก็จะต้องจ่ายค่าเช่าที่ดิน และจ่ายส่วนแบ่งรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย เริ่มจาก1,300 ล้านบาทในปีที่ 4  ปรับเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ไปจนถึง 84,000 ล้านบาทในปีที่ 50 

อู่ตะเภาลงทุน 4 เฟส

อย่างไรก็ตามภายหลังการเซ็นสัญญาร่วมลงทุน ทางบริษัทอู่ตะเภาฯ จะต้องจัดทำแผนแม่บท (มาสเตอร์แพลน) การลงทุนในโครงการนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน จากนั้นจึงจะเริ่มออกแบบก่อสร้าง โดยบริษัทอู่ตะเภาฯจะลงทุนทั้งหมด 4 เฟส โดยเฟสแรก ใช้เวลาก่อสร้างเฟสแรกเป็นเวลา 3 ปี   และเปิดให้บริการในปีที่ 4

ทั้งนี้การลงทุนในเฟส1 ของบริษัทอู่ตะเภาฯจะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 รองรับผู้โดยสารได้ 15 ล้านคน มากกว่าในทีโออาร์ซึ่งระบุไว้ที่ 12 ล้านคนต่อปี รวมถึงระบบเชื่อมต่อรถไฟรถไฟความเร็วสูง เข้ามาภายในอาคารผู้โดยสาร ภายใต้การลงทุนราว 4 หมื่นล้านบาท ภายใต้การบริหารสนามบินโดยสนามบินนาริตะ

ส่วนเฟส2 จะมีการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าAPMเชื่อมต่อการเดินทางเข้ามาภายในโครงการ รวมถึงการเริ่มก่อสร้างเมื่อจำนวนผู้โดยสารใช้บริการเกินกว่า 85%ของอาคารผู้โดยสารในเฟสแรกที่สร้างขึ้น โดยเพิ่มการรองรับผู้โดยสารเป็น 30 ล้านคน เฟส3 ขยายการรองรับเป็น 45 ล้านคนและ เฟส4 รองรับผู้โดยสารสูงสุด 60 ล้านคน 

สำหรับการดำเนินการในกิจกรรมเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาเมืองการบิน ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์,เขตประกอบการค้าเสรีและเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่อง, ศูนย์ธุรกิจการค้าและการขนส่งภาคพื้นดิน ซึ่งเป็นส่วนการหารายได้ของบริษัทอู่ตะเภาฯ บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)  BA และบีทีเอส โฮลดิ้งส์จะดำเนินการเอง 

คิกออฟลงทุน 4 เฟส "สนามบินอู่ตะเภา" รับธุรกิจการบินฟื้น

รวมไปถึงการเปิดสัมปทานให้เอกชนรายอื่นเข้ามาดำเนินการ ส่วนการก่อสร้างก็จะดำเนินการโดยบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC เนื่องจากทั้ง 3 บริษัทที่ลงทุนรวมกันมีประสบการณ์การลงทุนในธุรกิจด้านเหล่านี้อยู่แล้ว

ภายใต้การคุมบังเหียนของคณะกรรมการบริษัทอู่ตะเภาฯ ซึ่งประกอบไปด้วย นายปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ นายพุติพงศ์ ปราสาททองโอสถ นายประดิษฐ์ ทีฆกุล นายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา นายคีรี กาญจนพาสน์ นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา นายภาคภูมิ ศรีชำนิ นางใจแก้ว เตชะพิชญะ และนายคง ซิ เคียง

มั่นใจเปิดรับการบินฟื้นกลับ

“แม้ในขณะนี้จะเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่โครงการนี้กว่าจะก่อสร้างเฟสแรกแล้วเสร็จก็อีก 3 ปี  ซึ่งตอนนั้นธุรกิจการขนส่งทางอากาศก็น่าจะกลับคืนสู่ปกติแล้ว และการที่เราเสนอผลตอบแทนให้รัฐ 3 แสนล้านบาท ก็เป็นข้อเสนอที่เรามั่นใจว่าจะดำเนินธุรกิจได้ตามแผนและสามารถจ่ายผลตอบแทนในระดับนี้ได้ ซึ่งเฟสแรก คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี2565  น่าจะเปิดให้บริการในปี2567 ”  นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าว

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) กล่าวว่า โครงการลงทุนต่างๆในพื้นที่อีอีซีที่กำลังจะเกิดขึ้น กว่าจะแล้วเสร็จก็คาดว่าอุตสาหกรรมการบินก็จะฟื้นตัวแล้ว  ซึ่งสมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ(ไออาต้า)ประเมินว่าในช่วงครึ่งแรกปีหน้า คาดว่าธุรกิจการบินจะกลับมาฟื้นตัว50% และครึ่งหลังของปีหน้าก็จะกลับมา70-80%เป็นอย่างน้อย ซึ่งกว่าอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 สนามบินอู่ตะเภา จะเปิดให้บริการก็ปี2567 ตอนนี้อุตสาหกรรมการบินก็คงจะกลับมาเป็นปกติแล้ว

เบ็ดเสร็จแล้วการลงทุนของบริษัทอู่ตะเภาฯจะอยู่ที่ 2.7 แสนล้านบาท  ส่วนรัฐจะลงทุน 1.7 หมื่นล้านบาทในการก่อสร้างรันเวย์ 2 (3.5 พันเมตร)รวมถึงทางขับ ซึ่งกองทัพเรือ จะดำเนินการหาเอกชนเข้ามาถมดินและก่อสร้าง ไปพลางก่อน ระหว่างรอผลการพิจารณารายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EHIA)               สำหรับเส้นทางการเปิดประมูลในโครงการดังกล่าวนี้ ใช้เวลากว่า 1 ปี 7 เดือน โดยเริ่มจากการเปิดขายซองประกวดราคาเมื่อวันที่ 16-29 พ.ย.61 ซึ่งมีเอกชนไทยและต่างชาติมาซื้อซอง 42 ราย และในวันเปิดรับซองประกวดราคา เมื่อวันที่ 21 มี.ค.62 มีเอกชน 3 กลุ่มยื่นประกวดราคา ได้แก่ 1.กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส 2.กลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัด (ซีพี)และพันธมิตร 3.กลุ่มกิจการร่วมค้าแกรนด์
คอนซอเตียม  

จากนั้นการประมูลที่เกิดขึ้นก็ประสบปัญหายืดเยื้อ มาตั้งแต่เมื่อเปิดให้เอกชนมายื่นซองประกวดราคา เมื่อคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มีมติไม่รับการพิจารณาเอกสารกล่อง6และกล่อง9 ของกลุ่มธนโฮลดิ้ง

เนื่องจากยื่นเกินเวลาไป 9 นาที จนกลุ่มธนโฮลดิ้ง ต้องออกโรงฟ้องศาลกรณีที่ถูกตัดสิทธิ ซึ่งคดีก็พลิกไปมา โดยศาลปกครองกลางเห็นชอบการไม่รับซองในส่วนที่ยื่นเกินเวลาดังกล่าว และสุดท้ายศาลปกครองสูงสุด มีมติให้รับซองที่ยื่นเกินเวลามาพิจารณา

ท้ายสุดแม้กลุ่มธนโฮลดิ้งฯจะต่อสู้เต็มที่ เพราะอยากจะได้โครงการนี้ เพื่อมาต่อจิ๊กซอร์การสร้างรายได้หลังก่อนหน้านี้ได้โครงการลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินไปครอง แต่ก็ต้องพ่ายไป เพราะเมื่อเปิดซองกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส เสนอผลตอบแทนให้รัฐสูงลิบนั่นเอง 

รายงาน : ธนวรรณ  วินัยเสถียร

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,582 วันที่ 11 - 13 มิถุนายน พ.ศ. 2563