สูตรสำเร็จ โออิชิกรุ๊ป  เรียนรู้ให้เร็ว ปรับใช้ให้ทัน

01 ก.พ. 2563 | 09:40 น.

“โออิชิ กรุ๊ป” เปิดวิชัน 2020 เดินหน้านำ 3 กลุ่มธุรกิจ ท่ามกลางชาเลนจ์ ตอกยํ้าผู้นำธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่มสไตล์ญี่ปุ่น พร้อมทรานส์ฟอร์เมชันองค์กรรับมือเทคโนโลยีดิสรัปชัน

 

คงไม่ใช่แค่ปัจจัยภายในที่เป็นตัวฉุดกำลังซื้อผู้บริโภคในประเทศที่ผู้ประกอบการต้องเฝ้าระวัง แต่ปัจจัยภายนอกที่ยากจะควบคุม จากเรื่องของเทรดวอร์ ค่าเงินบาท ล่าสุดไวรัสโคโรนา กลายเป็นตัวแปรสำคัญ ที่ไม่อาจมองข้ามได้ แต่ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ธุรกิจยังต้องเดินหน้าต่อไป เช่นเดียวกับโออิชิ กรุ๊ปภายใต้การนำของนงนุช บูรณะเศรษฐกุลกรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่วันนี้ประกาศเดินหน้าธุรกิจภายใต้ VISION 2020 พร้อมสู้ศึกในทุกสนามรบ และทุกสถานการณ์

สปีดดันรายได้

นงนุชบอกว่า โออิชิ เตรียมพร้อมรับกับทุกชาเลนจ์ที่เข้ามา เพราะเราจับตาดูสถานการณ์ทุกๆ เรื่อง ทำให้รู้ว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ การเดินหน้าขององค์กรจะกำหนดแผนเดินหน้าให้บรรลุเป้าหมายใน 7 เดือนคือ เริ่มตั้งแต่ตุลาคม-เมษายน เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเทศกาลแห่งการขาย เป็นไฮซีซัน ที่สามารถเดินหน้าลุยได้เต็มที่ ซึ่งหากปิดยอดขายได้ดี ก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะบริษัทจะให้ความสำคัญทั้ง Top Line (รายได้) และ Bottom Line (กำไรสุทธิ)

สิ่งที่เราทำมีชาเลนจ์ทั้ง Top Line และ Bottom Line เพื่อป้องกันความเสี่ยงของเป้ายอดขายที่วางไว้ เราต้องมีการพูดคุยกัน ทำแคมเปญและใช้ Cash Hunt ภายในว่ามีอะไรที่ต้องป้องกันความเสี่ยง ถ้าเป้าหมายหลักไม่ได้ แต่ Bottom Line ต้องได้ ซึ่งปีก่อน เริ่มต้นจัดตั้งทีมซึ่งมาจากแต่ละกลุ่มเช่น ฝ่ายขาย ฝ่ายการตลาด ฯลฯ พร้อมจัดทำโปรเจ็กต์ WOW (Way of Work) โดยร่วมกันจัดทำและได้ผลตอบรับดีมาก เห็นได้จาก Top Line ที่เติบโต 8% แต่ Bottom Line กลับเติบโตกว่า 20% เพราะเราไล่ดูทุกบรรทัด ตั้งแต่การใช้งบโฆษณา การเพิ่มโปรดักทิวิตีในร้าน การสร้างร้าน การนำเทคโนโลยีเข้ามาใส่ สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดได้เมื่อทุกฝ่ายช่วยกันทำ และมีการสื่อสารเพื่อลดความกังวลต่อปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

สูตรสำเร็จ โออิชิกรุ๊ป  เรียนรู้ให้เร็ว ปรับใช้ให้ทัน

 

ทรานส์ฟอร์มสู้ดิสรัปต์

 “นงนุชบอกอีกว่า ต้องยอมรับว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงเยอะมาก ซึ่งผู้บริโภคยังอินไซต์เหมือนเดิม แต่เมื่อเทคโนโลยีเข้ามา ดิจิทัลเข้ามา คนเห็นประโยชน์ว่าสามารถตอบโจทย์ได้ เทคโนโลยียังสามารถช่วยพัฒนาได้ทั้งนวัตกรรมและบริการ เช่น การพัฒนาสินค้าใหม่จากเดิมที่ต้องใช้เวลา 6 -12 เดือน แต่วันนี้ลูกค้าเปลี่ยนแปลงเร็ว ความท้าทายของเราคือ ต้องเรียนรู้ให้ทันกับความต้องการของลูกค้า และเทคโนโลยี วันนี้โจทย์ของเราคือต้องเรียนรู้ให้เร็ว และสิ่งสำคัญคือ ต้องปรับใช้ให้เร็วด้วย

ขณะที่พฤติกรรมผู้บริโภคในแต่ละวัย แต่ละเจน มีความต้องการต่างกัน ดังนั้นการนำเทคโนโลยีมาใช้ จะช่วยตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้น ซึ่งแต่ละปีบริษัทใช้งบลงทุนด้านเทคโนโลยี สารสนเทศ (IT) 40-50 ล้านบาท มีการพัฒนาระบบต่างๆ ภายในให้ทันสมัยทั้งที่โรงงาน และภายในร้านอาหาร เช่น การพัฒนาช่องทางการสั่งซื้อออนไลน์ เพิ่มเติมจากการสั่งซื้อผ่านทางโทร. 1773 ผ่านแพลตฟอร์มของตัวเอง ซึ่งได้แก่ โออิชิเดลิเวอรี่ดอทคอม (www.oishidelivery.com) ควบคู่ไปกับการประสานความร่วมมือกับผู้ให้บริการสั่งอาหารแบบออนดีมานด์บนแอพพลิเคชันชั้นนำของไทยอย่าง แกร็บฟู้ด (GrabFood) ไลน์แมน (LINE MAN) และ ฟู้ดแพนด้า (foodpanda)

 

เดินหน้ายํ้า DNA โออิชิ

วันนี้โออิชิ ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน คือ ต้องลดความผิดพลาด พร้อมทรานส์ฟอร์เมชันตามแผนงานที่วางไว้ ซึ่งเป้าหมายในปี 2562 คือการขยายสาขา เพื่อสร้างรายได้ให้เติบโต แต่ปีนี้ food aggregator มาแรง อาจไม่จำเป็นต้องขยายสาขาเพิ่ม แต่เน้นให้บริการครอบคลุมมากขึ้น ก็สามารถสร้างยอดขายหรือเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้ นอกจากนี้ความเป็นผู้นำด้านธุรกิจอาหารญี่ปุ่น ถือเป็นข้อได้เปรียบ เพราะผู้บริโภคคนไทยให้การรับรู้และยอมรับว่า อาหารญี่ปุ่นเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ คุณภาพดีและนิยมอย่างต่อเนื่อง โอกาสที่ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ตลอดจนอาหารพร้อมทานจะขยายฐานลูกค้าทั้งในและต่างประเทศจึงมีความเป็นไปได้สูง ในปีนี้จึงจะเห็นแบรนด์ร้านอาหารขยายสาขาในต่างประเทศมากขึ้น รวมทั้งการ Spin-off Brands เช่น ร้านขนมหวานสไตล์ญี่ปุ่น OYOKI, ร้านอาหารญี่ปุ่นระดับพรีเมียม HOU YUU และร้านชาบูพรีเมียม SAKAE เป็นต้น

อนาคตโออิชิ กรุ๊ป อาจจะมีต่อยอดไปยังธุรกิจอื่น แต่ยังต้องอยู่บนธุรกิจหลัก ซึ่งเป็น DNA ของโออิชิ คือความเป็นญี่ปุ่น เช่น อาหารญี่ปุ่นสไตล์ฟิวชัน เป็นต้น

หน้า 31-32 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,544 วันที่ 30 มกราคม -1 กุมภาพันธ์ 2563