‘ฟู้ดแพชชั่น’ รุกปั้นพอร์ตอาหารรับปีหนูทอง

10 ม.ค. 2563 | 07:56 น.

ธุรกิจร้านอาหารแข่งเดือด “ฟู้ดแพชชั่น” เปิดแผนเสริมแกร่งแบรนด์รับปีหนูทอง ทั้งต่อยอดออนไลน์ ส่งนวัตกรรมพัฒนาเมนูใหม่ ชู “เพอร์ซันนัลไลซ์ มาร์เก็ตติ้ง” สร้างจุดแข็งเจาะลูกค้าเฉพาะบุคคลรับพฤติกรรมคนยุคใหม่

 

นางชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด เจ้าของแบรนด์ร้านอาหาร ผู้บริหารร้านบาร์บีคิว พลาซ่า, เรดซัน และจุ่มแซ่บฮัท เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า แผนการดำเนินธุรกิจในปี 2563 นี้จะให้ความสำคัญกับการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่แต่ละแบรนด์ในเครือในส่วนต่างๆไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาเมนูใหม่ๆ โดยใช้นวัตกรรมเข้ามาเป็นตัวสำคัญในการคิดค้น การรุกเข้าไปในธุรกิจดีลิเวอรีอย่างเต็มตัวมากขึ้น การสร้างความหลากหลายของบริการและแคมเปญการตลาดแบบไร้รอยต่อ

 

ขณะเดียวกันยังมองหาและศึกษาการเป็นพาร์ตเนอร์และมีแนวคิดด้านการควบรวมกิจการ (M&A) อยู่ตลอดเวลา เพื่อเข้ามาเสริมแกร่งให้ธุรกิจ ซึ่งแน่นอนว่ากลุ่มแบรนด์ที่บริษัทให้ความสนใจจะต้องประกอบไปด้วย 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ เป็นแบรนด์ที่มีโปรดักต์ที่ดีอยู่แล้ว เป็นผู้นำในตลาดหรือในเซ็กเมนต์นั้นๆ และสุดท้ายทีมผู้บริหารจะต้องมีทัศนคติหรือแนวคิดในการบริหารงานที่ตรงกันในการสร้างแบรนด์

 

ปัจจัยสำคัญที่เรามองเรื่องการเข้าซื้อกิจการคือเรื่องของสินค้าของแบรนด์นั้นๆที่ต้องดีอยู่แล้ว และสามารถนำมาต่อยอดได้ และเป็นผู้นำในตลาด แน่นอนว่าเราจะไม่ซื้อแบรนด์ที่สินค้าไม่ดีแล้วมาพัฒนาหรือพลิกยอดขายใหม่อย่างแน่นอน

 

พร้อมกันนี้ที่ผ่านมายังได้เข้ารุกธุรกิจดีลิเวอรีอย่างเต็มตัว เนื่องจากมองว่าเซ็กเมนต์ดังกล่าวยังมีโอกาสทางการเติบโตอยู่สูง โดยในปีที่ผ่านมาได้เปิดให้บริการดีลิเวอรีไปแล้วใน 21 สาขาของบาร์บีคิว พลาซ่าที่มีบริการจัดส่งอาหาร โดยแผนงานปีหน้า บาร์บีคิว พลาซ่าจะเพิ่มสาขาที่จัดส่งดีลิเวอรีได้เป็น 50 สาขาจากทั้งหมด 150 สาขา และเตรียมเมนูสำหรับดีลิเวอรีโดยเฉพาะจากปัจจุบัน 4 เมนู จะเพิ่มอีก 50 เมนูที่ทยอยลุยตลาดปี 2563 พร้อมตั้งเป้าสัดส่วน 10% ของรายได้ใน ปี 2563 นอกจากนี้ยังมีแผนขยายสาขาบาร์บีคิว พลาซ่าเพิ่มอีก 29 สาขา ภายใต้งบลงทุน 10 ล้านบาทต่อสาขา

 

‘ฟู้ดแพชชั่น’  รุกปั้นพอร์ตอาหารรับปีหนูทอง

ชาตยา สุพรรณพงศ์

 

ด้านแนวโน้มการแข่งขันในธุรกิจร้านอาหารแม้จะมีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ทว่ายังมีอีกหนึ่งปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้องต่อการแข่งขันคือการขยายตัวของศูนย์การค้า คอมมิวนิตีมอลล์ หรือโลเกชันหลักของร้านอาหารตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมาที่ลดลง (จากอดีตที่มีการขยายตัวแบบก้าวกระโดด) ซึ่งทำให้จำนวนศูนย์ที่เปิดใหม่ๆ ลดลง ทำให้แต่ละศูนย์การค้ามีการปรับตัวให้มีความยูนิก และมีสไตล์ ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหารมีการปรับตัวตามไปด้วย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่ตรงจุดและตอบโจทย์มากที่สุด

 

แม้พฤติกรรมลูกค้าจะเปลี่ยนไปแต่ก็ไม่ใช่ออนไลน์ 100% หรือมานั่งที่ร้าน 100% แต่ทุกอย่างมีผสมกันไปซึ่งเชื่อว่าจะต้องทำให้ตอบโจทย์ลูกค้าทุกส่วนให้มากที่สุด คนก็ต้องเปลี่ยน ร้านก็ต้องเปลี่ยน นี่คือสิ่งที่จะต้องทำ

‘ฟู้ดแพชชั่น’  รุกปั้นพอร์ตอาหารรับปีหนูทอง

ทั้งนี้จากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนมีความเป็นไลฟ์สไตล์มากขึ้น ร้านค้ามีหน้าที่ตอบสนองความต้องการผู้บริโภคให้ได้ ดังนั้นกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในร้านอาหารคือการทำความเข้าใจและแบ่งแยกเซ็กเมนต์ของสินค้า หรืออาหารแต่ละประเภทออกมาให้ละเอียดและเข้าใจมากขึ้น ซึ่งลูกค้าหนึ่งคนอาจจะมีหลายโอกาสในการรับประทาน ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานเพื่อฉลองเนื่องในโอกาสพิเศษ การรับประทานในชีวิตประจำวัน หรือบางคนอาจจะรับประทานเพื่อสุขภาพ ที่แตกต่างกันออกไป และนำเสนอสินค้า กิจกรรม แคมเปญการตลาดที่เจาะจงไปเฉพาะคนกลุ่มนั้นๆมากขึ้น ซึ่งแผนงานนับจากนี้จะไม่มีการทำบิ๊กแคมเปญใหญ่ครั้งเดียวเพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายแบบแมส แต่จะเป็นการทำแคมเปญแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น (เพอร์ซันนัล)

 

 

หลังจากที่เรามีแบรนด์มากขึ้น เราก็เริ่มมองเห็นพฤติดรรมผู้บริโภคที่มีความต้องการที่หลากหลาย ทำให้บริษัทเริ่มมีการศึกษาการทำตลาดแบบเพอร์ซันนัลเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มให้ได้มากที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าคนที่ชื่นชอบการทานบาร์บีคิว พลาซ่า กับคนที่ชื่นชอบเรดซัน หรือฌานาก็แตกต่างกันออกไปตามโพสิชันของแต่ละแบรนด์ ดังนั้นโจทย์ใหญ่นับจากนี้คือการพัฒนาแบรนด์ให้ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะบุคคลมากยิ่งขึ้น

 

หน้า 31-32 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,538 วันที่ 9-11 มกราคม 2563