‘คิงเพาเวอร์’ทุ่มสุดตัว ยืน1ดิวตี้ฟรีไทย ต่อยอดท็อปโลก

23 มิ.ย. 2562 | 07:00 น.

           พุ่งกระฉูดสำหรับหุ้นของบริษัท ท่าอากาศ ยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งขึ้นไปกว่า 8% คิดเป็นมูลค่ากว่า 7.8 หมื่นล้านบาท หลังบอร์ดทอท.ไฟเขียวให้กลุ่มคิงเพาเวอร์ ได้สัมปทานพื้นที่ล็อตใหญ่ 4.9 หมื่นตร.ม. 3 สัญญาในสนามบิน 

‘คิงเพาเวอร์’ทุ่มสุดตัว  ยืน1ดิวตี้ฟรีไทย ต่อยอดท็อปโลก

ทอท.โกยเพิ่ม1.5หมื่นล.ต่อปี

       เบ็ดเสร็จการประมูลรอบนี้คิงเพาเวอร์ทุ่มสุดตัว โดยเสนอจ่ายผลตอบแทนขั้นตํ่ารายปี(Minimum Guarantee) ไม่ตํ่ากว่า 2.4 แสนล้านบาท เพื่อแลกกับสัมปทานกินยาวไปอีก 10 ปี 6 เดือน(ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย. 63-  31 มี.ค. 74) โดยเสนอผลตอบแทนขั้นตํ่าปีแรกรวม 3 สัญญาอยู่ที่ 2.35 หมื่นล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็นส่วนของดิวตี้ฟรีที่สนามบินสุวรรณภูมิ 1.54 หมื่นล้านบาท ดิวตี้ฟรีใน 3 สนามบินภูมิภาค 2.33 พันล้านบาท และพื้นที่รีเทลในสนามบินสุวรรณภูมิ 5.79 พันล้านบาท

        นี่เป็นเพียงการเสนอค่าตอบแทนขั้นตํ่าในปีแรกของการดำเนินธุรกิจตามสัญญาใหม่ ซึ่งจะทำให้ในปีงบประมาณ 2564 ทอท.จะมีรายได้จาก 3 สัญญารวมกันกว่า 2.35 หมื่นล้านบาท เพิ่มจากปัจจุบันที่คาดว่า ทอท.จะมีรายได้จาก 3 สัญญานี้อยู่ที่ราว 9 พันล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้จากดิวตี้ฟรีใน 4 สนามบิน ราว 7 พันล้านบาท (สนามบินสุวรรณภูมิ 6 พันล้านบาท สนามบินภูมิภาคราว 1 พันล้านบาท) และรีเทลสนามบินสุวรรณภูมิ 2 พันล้านบาท ซึ่งนับว่าเติบโตจากเดิมถึง 261%

        “ทอท.ประเมินใน 3 สัญญา ดังกล่าวจะทำให้ทอท.มีรายได้เพิ่มขึ้นราว 1.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มจากรายได้ที่จะได้รับตามสัญญาเดิมที่คาดว่าไม่เกิน 9 พันล้านบาท” นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือ ทอท. กล่าว

นิตินัย ศิริสมรรถการ

MAG(i)ดันเพิ่มขั้นตํ่าทุกปี

       นี่เป็นเพียงรายได้ขั้นตํ่าที่จะเกิดภายในปีแรกของการดำเนินธุรกิจตามสัญญาใหม่เท่านั้น เพราะสูตรการคิดรายได้ของทอท.ในการประมูลรอบนี้แตกแต่งจากสัญญาเดิมในอดีต โดยมีการกำหนดวิธีการคำนวณผลตอบแทนขั้นตํ่าในปีถัดๆ ไป

‘คิงเพาเวอร์’ทุ่มสุดตัว  ยืน1ดิวตี้ฟรีไทย ต่อยอดท็อปโลก

         โดยใช้สูตร MAG(i) ซึ่งจะมีการนำอัตราการเติบโตของผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศและอัตราเงินเฟ้อของปีปฏิทินก่อนหน้าเข้ามาคูณกับผลตอบแทนขั้นตํ่ารายปีของปีก่อนหน้า เพื่อให้ออกมาเป็นผลตอบแทนขั้นตํ่ารายปีของปีถัดไป เป็นเช่นนี้ทุกปี ซึ่งปัจจุบันอัตราการเติบโตของผู้โดยสารที่ใช้บริการสนามบินสุวรรณภูมิอยู่ที่ราว 8-11% ต่อปี เงินเฟ้อส่วนใหญ่อยู่ที่ 3%

          ส่งผลในแต่ละปีทอท.ก็จะมีรายได้จากค่าสัมปทานใน 3 สัญญานี้เพิ่มขึ้นทุกปี แต่ถ้าปีไหนเกิดวิกฤติที่ทำให้การท่องเที่ยวชะลอตัว คิงเพาเวอร์ ก็ต้องจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนที่ 20% ของยอดขายก่อนหักค่าใช้จ่าย(ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) สำหรับดิวตี้ฟรี และ 15% ของยอดขายก่อนหักค่าใช้จ่าย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) สำหรับรีเทล

‘คิงเพาเวอร์’ทุ่มสุดตัว  ยืน1ดิวตี้ฟรีไทย ต่อยอดท็อปโลก  

       การกำหนดวิธีการคำนวณค่าผลตอบแทนขั้นตํ่าเช่นนี้ จึงจะทำให้ทอท.มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ ดีกว่าสัญญาเดิม ที่ไม่ได้มีการเปิดประมูล แต่เป็นการต่อสัญญาให้คิงเพาเวอร์ ที่ดำเนินธุรกิจดิวตี้ฟรีที่สนามบินดอนเมืองมาตั้งแต่ปี 2536-2549 ให้มาทำดิวตี้ฟรีที่สนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อมีนโยบายเปิดสนามบินสุวรรณภูมิ โดยจ่ายผลตอบแทนที่ 15-20% จากยอดขาย ซึ่งปีแรกของสัญญาเริ่มจ่ายที่ 1,200 ล้านบาท จนขยับมาสูงสุดของอายุสัญญาก็อยู่ที่ไม่เกิน 9 พันล้านบาท ไม่มีการแข่งขันประมูลในการเสนอผลตอบแทนขั้นตํ่ารายปีอย่างในการประมูลที่เกิดขึ้นในยุคหลังๆ ของทอท. เนื่องจากในอดีตเมื่อ 10 ปีก่อนธุรกิจดิวตี้ฟรีไม่ได้เนื้อหอมขนาดนี้

 

จ่อกวาดเรียบทุกสนามบิน

      การจ่ายค่าสัมปทานสูงขนาดนี้ของคิงเพาเวอร์ และต่างจากคู่แข่งมาก เป็นเพราะความได้เปรียบในสมรภูมิพื้นที่มานาน ทำให้คำนวณการไหลเวียนของผู้โดยสารการเติบโตของรายได้ที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยเฉพาะในส่วนของอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (อาคารแซทเทิลไลท์)ในพื้นที่ 7 พันตร.ม.ที่จะมี 28 หลุมจอดเกิดขึ้น ซึ่งคิงเพาเวอร์มีการนำมาคำนวณเป็นรายได้ที่จะเกิดขึ้น

‘คิงเพาเวอร์’ทุ่มสุดตัว  ยืน1ดิวตี้ฟรีไทย ต่อยอดท็อปโลก

 

          แตกต่างจากคู่แข่งอีก 2 ราย ที่ไม่ได้คำนวณการเติบโตของผู้โดยสารในจุดนี้ แม้จะได้พันธมิตรเป็นดิวตี้ฟรีระดับเบอร์ 1 อย่าง DUFRY และเบอร์ 2 ของโลก อย่างล็อตเต้ เข้ามาร่วมก็ตาม

        อีกทั้งยังเป็นการทุ่มสุดตัวของคิงเพาเวอร์ ที่จะยึดฐานที่มั่นในธุรกิจดิวตี้ฟรีในไทย เพราะเป็น Core Business และไทยก็เป็นแลนด์มาร์กและศูนย์กลางในการแข่งขันในธุรกิจดิวตี้ฟรีของคิงเพาเวอร์ในระดับโลกด้วย

     การชนะประมูลที่เกิดขึ้น จึงเป็นแต้มต่อสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจดิวตี้ฟรีของคิงเพาเวอร์ ที่ภายใต้เป้าหมาย 5 ปี (ปี 2560-2564) ที่จะผลักดันยอดขายดิวตี้ฟรีจากอันดับ 7 ของโลก ราว 8 หมื่นล้านบาท ขยับมาเป็นอันดับ 5 ของโลก ภายใต้เป้าหมายยอดขายที่ 1.4 แสนล้านบาท

‘คิงเพาเวอร์’ทุ่มสุดตัว  ยืน1ดิวตี้ฟรีไทย ต่อยอดท็อปโลก

       จุดปักธงต่อไปของคิงเพาเวอร์ ก็ยังอยู่ที่การประมูลจุดรับส่งสินค้าดิวตี้ฟรี (pick up counter) ที่สนามบินสุวรรณภูมิ รวมถึงดิวตี้ฟรีที่สนามบินดอนเมือง ที่เหลืออีก 3 ปีจะหมดสัญญา นับจากเริ่มโครงการเมื่อปี 2555 และอีกหลายสัญญาที่คิงเพาเวอร์ครองสัมปทานทุกสนามบินอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นดิวตี้ฟรี สนามบินอู่ตะเภา ที่จะหมดสัญญาในปี2571 ดิวตี้ฟรีสนามบินดอนเมือง หมดสัญญาปี2565 รีเทลสนามบินภูเก็ต หมดสัญญาปี2570 รีเทล สนามบินดอนเมือง หมดสัญญาปี 2570 รวมถึงการเข้าปักธงขยายแบรนด์ดิวตี้ฟรีในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น หลังจากทะลวงเข้าดำเนินธุรกิจดิวตี้ฟรีใน 5 กลุ่มสินค้า ที่สนามบินฮ่องกงไปแล้วเมื่อปลายปีที่ผ่านมา 

รายงาน โดย โต๊ะข่าวท่องเที่ยว

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3481 ระหว่างวันที่ 23 - 26 มิถุนายน 2562

‘คิงเพาเวอร์’ทุ่มสุดตัว  ยืน1ดิวตี้ฟรีไทย ต่อยอดท็อปโลก