MROรายได้5.5แสนล. ทีจีร่วมทุนแอร์บัส 50 ปี เกิดการจ้างงานคิดมูลค่า8หมื่นล.

10 พ.ย. 2561 | 08:21 น.
ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา จ่อออกทีโออาร์พ.ย.นี้ เผยระยะเวลาร่วมทุนระหว่างการบินไทยและแอร์บัส 50 ปี ด้วยงบลงทุน 1 หมื่นล้าน คาดรัฐได้ผลตอบแทน 3.6 หมื่นล้าน จากค่าเช่าและส่วนแบ่งรายได้จากบริษัทร่วมทุน ที่คาดว่าตลอดระยะเวลาโครงการจะมีรายได้ให้บริการ 5.58 แสนล้าน

การดำเนินงานการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ที่ขณะนี้มีโครงการสำคัญที่ได้ประกาศเชิญชวนนักลงทุนหรือออกทีโออาร์ให้เอกชนเข้าร่วมประมูลไปแล้ว 3 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และโครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ซึ่งยังเหลืออีก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภาหรือ MRO และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่คาดว่าจะสามารถออกทีโออาร์ได้ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภาหรือ MRO ที่เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีจี และบริษัท แอร์บัสฯ ในสัดส่วนการถือหุ้นฝ่ายละ 50% นั้น คาดว่าจะออกทีโออาร์ได้ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ด้วยงบการลงทุนราว 10,588 ล้านบาท แบ่งเป็นภาครัฐลงทุนโดยกองทัพเรือ 6,333 ล้านบาท และเอกชนลงทุนประมาณ 4,255 ล้านบาท มีระยะเวลาการร่วมทุน 50 ปี

โครงการดังกล่าวจะตั้งอยู่บนพื้นที่ 210 ไร่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก ขอบเขตกิจกรรมการซ่อมบำรุง จะประกอบด้วย การซ่อมใหญ่อากาศยาน การซ่อมบำรุงอากาศยานระดับลานจอด การพ่นสีอากาศยานและส่วนประกอบอื่นๆ โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ กิจกรรมอื่นๆในการซ่อมอากาศยานที่ทำให้การดำเนินโครงการประสบความสำเร็จ รวมถึงการให้บริการซ่อมบำรุงที่อาจให้สิทธิแก่พันธมิตรทางธุรกิจของการบินไทยหรือแอร์บัสได้ เช่น การให้บริการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์อากาศยาน การให้บริการซ่อมบำรุงและการถอดเปลี่ยนอุปกรณ์และบริภัณฑ์อากาศยาน

TP11-3417-A

โดยโครงการนี้ภาครัฐจะเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างอาคารศูนย์ซ่อมบำรุงใหม่ ด้วยงบประมาณ 6,333 ล้านบาท โดยที่บริษัทร่วมทุน จะลงทุนในส่วนของอุปกรณ์และเครื่องมือ ประมาณ 4,255 ล้านบาท ซึ่งรัฐจะได้รับผลประโยชน์จากโครงการนี้ในรูป แบบของรายได้จากค่าเช่าที่ดินและอาคารศูนย์ซ่อมบำรุงคิดในอัตรา 3% ของมูลค่าทรัพย์สินต่อปี และปรับเพิ่มขึ้น 9% ในทุกๆ 3 ปี และจะมีส่วนแบ่งรายได้ในอัตรา 2.5% ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายต่อปี ขณะที่บริษัทร่วมทุน จะมีรายได้จากการให้บริการซ่อมบำรุงอากาศยาน

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางการเงิน พบว่า รัฐได้รับรายได้จากค่าเช่าและส่วนแบ่งรายได้ตลอดระยะเวลาโครงการ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 35,080 ล้านบาท เมื่อคำนวณเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ ที่อัตราคิดลดลง 3.54% จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 49 ปี จะมีค่าประมาณ 5,738 ล้านบาท ซึ่งจะมีอัตราผลตอบแทนทางการเงินของภาครัฐอยู่ที่ 6.28% ขณะที่บริษัทร่วมทุนระหว่างการบินไทยและแอร์บัส จะมีรายได้ตลอดระยะเวลาโครงการประมาณ 558,180 ล้านบาท เมื่อนำมาคำนวณเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิที่อัตราคิดลดลง 8.64% จะมีมูลค่าประมาณ 5,744 ล้านบาท มีอัตราผลตอบแทนทางการเงินอยู่ที่ 13.68% และอัตราผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 14.77%

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้รัฐได้รับผลตอบแทนทางการเงินสูงสุด จะมีการกำหนดให้บริษัทร่วมทุนต้องจ่ายให้กับรัฐในแต่ละปีไม่ตํ่ากว่า 5,738 ล้านบาท หรือสูงกว่านี้ได้ หากการบินไทยได้รับเงินปันผลมากขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้

090861-1927-9-335x503-3

“โครงการนี้จะให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อประเทศประมาณ 22,100 ล้านบาท ไม่นับรวมการจ้างงานมูลค่าประมาณ 8 หมื่นล้านบาท การถ่ายทอดเทคโนโลยีชั้นสูง และทรัพย์สินทั้งหมดตกเป็นของรัฐเมื่อสิ้นสุดโครงการ ผลประโยชน์ที่รัฐจะได้รับรวมเป็นเงินราว 36,000 ล้านบาท ได้มาจากค่าเช่าที่ดิน 1.3 หมื่นล้านบาท ส่วนแบ่งรายได้ราว 1.4 หมื่นล้านบาท และเงินภาษีประมาณ 9 พันล้านบาท”

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,417 ระหว่างวันที่ 11-14 พฤศจิกายน 2561 ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว