ผุดมอเตอร์เวย์ 600 กม. | วงเงิน 1.37 แสนล้าน เชื่อม 'อีสาน-อีอีซี'

18 มิ.ย. 2561 | 14:21 น.
180661-2112

ทล. ปลุกงานรับเหมาตื่นตัวต่อเนื่อง! พร้อมเร่งเชื่อมโยงพื้นที่ภาคตะวันออก เดินหน้าศึกษาสร้างมอเตอร์เวย์ 5 โครงการ ตั้งงบปี 62 ลุยก่อสร้างถึงปี 67 พร้อมเปิดพื้นที่ลงทุนใหม่สู่แกลง-ตราด จ่อทั้งลงทุนเองและร่วมทุนพีพีพี วงเงินลงทุนกว่า 1.37 แสนล้านบาท จับตานักลงทุนใส่เกียร์ว่าง อ้างรอรัฐบาลชุดใหม่

นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
 ว่า อยู่ระหว่างการเร่งสรุปผลการศึกษาออกแบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) เส้นทางท่าเรือแหลมฉบัง-ปราจีนบุรี ซึ่งจัดเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายชลบุรี-หนองคาย ตามแผนกลยุทธ์การพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของประเทศไทย จัดเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ตามแนวเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ ที่มีความสำคัญสูงในการรองรับการเดินทางของประชาชนและภาคการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการเร่งเปิดรับฟังความเห็นต่อโครงการลงทุนมอเตอร์เวย์สายชลบุรี-หนองคาย ตอนชลบุรี (ท่าเรือแหลมฉบัง) -ปราจีนบุรี (ทางหลวงหมายเลข 359) ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษา ตลอดจนตัวแทนภาคประชาชนในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา และ จ.ปราจีนบุรี เพื่อนำเสนอผลสรุปการศึกษาความเหมาะสมทั้งเศรษฐกิจ วิศวกรรม ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) พร้อมกับเร่งศึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการดังกล่าว โดยจัดลำดับโครงการไว้ดำเนินการในปี 2563

"หากรัฐไม่มีงบประมาณไปดำเนินการ ทล. จะเสนอดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ พีพีพี ขณะนี้ ยังไม่มีการแบ่งสัญญา ซึ่งหากเป็นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน จะต้องดำเนินการเต็มรูปแบบ โดยจะปฏิบัติตามโมเดลร่วมลงทุนเส้นนครปฐม-ชะอำ ที่อยู่ระหว่างการเพิ่มเติมอีไอเอ โดย ทล. จะออกค่าจัดกรรมสิทธิ์จึงต้องนำเสนอคณะกรรมการพีพีพีพิจารณา จะเชื่อมกับเส้นบางปะอิน-นครราชสีมา ที่บริเวณจุดสิ้นสุดโครงการเพ่ือให้โซนภาคตะวันออกเฉียงเหนือเชื่อมโยงสู่ภาคตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่อีอีซีได้อย่างสะดวกมากขึ้น ไม่กังวลกรณีเวนคืนแม้จะค่อนข้างสูง แต่มูลค่าการลงทุนยังไม่คุ้มอัตราความเสี่ยงมีสูงจึงต้องขอศึกษาในภาพรวมให้ชัดเจนก่อน"

นายธานินทร์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน เส้นพัทยา-มาบตาพุด คืบหน้ากว่า 75% เร่งลงนามสัญญางานติดตั้งระบบคาดว่าจะเปิดให้บริการปลายปี 2563 ทั้งเส้นทางให้สอดคล้องกับช่วงพัทยา-มาบตาพุด นอกจากนั้น ทล. ยังอยู่ระหว่างการตั้งงบประมาณปี 2563 เพื่อศึกษามอเตอร์เวย์อีก 4 เส้นทาง ซึ่งจัดอยู่ในแผนงานปี 2565-2567 รวมระยะทาง 614 กิโลเมตร ประมาณการลงทุนกว่า 1.37 แสนล้านบาท เพื่อให้แนวโครงข่ายเส้นทางเชื่อมได้ครอบคลุมพื้นที่จากโซนภาคตะวันออกเฉียงเหนือสู่ภาคตะวันออกมากขึ้น


3375_180618_0001

"เมกะโปรเจ็กต์โครงการนี้ พบว่า การศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจของโครงการมีอัตราส่วนผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) เท่ากับ 13.4% มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เท่ากับ 11,902 ล้านบาท และค่าอัตราส่วนระหว่างมูลค่าปัจจุบันของผลประโยชน์ต่อค่าใช้จ่าย (B/C Ratio) เท่ากับ 1.2 มีมูลค่าลงทุนโครงการ 70,854 ล้านบาท (ประมาณราคา ณ ปี 2560)"

ด้าน นายอาทิตย์ ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตภัณฑ์คอนกรีตชลบุรี จำกัด (มหาชน) (ซีพีพี) หนึ่งในผู้ประกอบการโซนภาคตะวันออก กล่าวว่า ในการหารือร่วมกับภาคเอกชนหลายรายยังเห็นว่า ส่วนใหญ่ไม่มั่นใจเรื่องการลงทุน เนื่องจากจะมีการเลือกตั้งรัฐบาลชุดใหม่ในต้นปีหน้า จึงขอดูท่าทีและนโยบายของรัฐบาลใหม่ให้ชัดเจนก่อน ส่วนมาตรการกระตุ้นการลงทุนของรัฐบาลยังไม่สร้างความมั่นใจด้านการลงทุนภาคเอกชน

"มอเตอร์เวย์เกิดใหม่ยังเห็นว่า เป็นผลดีแน่ แต่ภาคเอกชนยังเห็นว่า ไม่ได้มีความมั่นใจงานด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ดำเนินการในปัจจุบันนี้มากนัก ส่วนนักลงทุนต่างประเทศกลับมีมุมมองที่แตกต่างออกไป ส่วนซีซีพีนั้น ยังขายสินค้าได้ดีงานภาครัฐยังราคาถูกมาก ยังลุ้นงานภาคเอกชนให้มีมากขึ้น แต่ช่วง 2-3 สัปดาห์นี้ เริ่มเห็นกำลังซื้อเชิงบวกแล้ว แต่ราคายังต่ำมาก จึงยังไม่เพิ่มกำลังการผลิต หากงานโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน เกิดขึ้นน่าจะส่งผลบวกมากขึ้นได้เช่นกัน"

สำหรับแนวเส้นทางมอเตอร์เวย์แหลมฉบัง-ปราจีนบุรี มีจุดเริ่มต้นบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี และไปสิ้นสุดบริเวณทางหลวงหมายเลข 359 ในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี รวมระยะทางประมาณ 125 กม. ครอบคลุมพื้นที่ศึกษาจำนวน 3 จังหวัด 10 อำเภอ โดยแผนการก่อสร้างแบ่งเป็น 2 ตอน คือ ตอน 1 ชลบุรี (ท่าเรือแหลมฉบัง) -ทางหลวงหมายเลข 3340 ระยะทางประมาณ 63.4 กิโลเมตร ตอน 2 ทางหลวงหมายเลข 3340-ปราจีนบุรี (ทล.359) ระยะทางประมาณ 60.6 กิโลเมตร

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการวัสดุก่อสร้างรายหนึ่งในพื้นที่ภาคตะวันออก กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนด้านการเร่งออกใบสัมปทานบัตรตามที่ภาคเอกชนยื่นขอ เนื่องจากหากมีโครงการออกมาจำนวนมาก วัสดุประเภท หิน ดิน ทราย อาจจะไม่เพียงพอ ประการสำคัญราคาที่กำหนดออกมายังราคาต่ำไม่สอดคล้องกับปัจจุบันจึงจะกระทบด้านต้นทุนโครงการที่เอกชนต้องคิดหนัก หากจะเข้าร่วมประมูล อีกทั้ง ทล. ยังกำหนดสเปกวัสดุที่สูงมาก แต่ภาคตะวันออกตอนนี้ เริ่มประสบน้ำขาดแคลนไม่มีไว้ล้างทรายแล้ว


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,375 วันที่ 17-20 มิ.ย. 2561 หน้า 12

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
มอเตอร์เวย์ หมายเลข 7 กรุงเทพ-พัทยา-มาบตาพุด คืบหน้ากว่า 75%
มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา เชื่อมไทยกับกลุ่มสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดจีน


e-book-1-503x62