หวั่นปิดกิจการ-เลิกจ้างพุ่ง หาก "ฉีดวัคซีนโควิด"ช้า

11 พฤษภาคม 2564

ม.หอการค้า ชี้ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ต่ำสุดในรอบ 39 เดือน ภาคท่องเที่ยวกระทบหนัก เสี่ยงปิดกิจการ เลิกจ้างแรงงานสูง ขณะที่เศรษฐกิจยังมั่นใจโต 3% ยังไม่ถึงทดถอยหากรัฐคุมโควิด เร่งฉีดวัคซีนได้ดี

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยประจำเดือนเม.ย. 2564 ช่วงที่สำรวจข้อมูล 26-30 เม.ย.2564 จำนวน 368 ตัวอย่าง โดยพบว่าดัชนีแทบทุกตัวที่ทำการสำรวจครั้งนี้ถือว่าลดลงต่ำที่สุดในรอบ 39 เดือนที่สำรวจมาหรือตั้งแต่  1 ม.ค. 2562 ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย อยู่ที่ระดับ  27.6 ลดต่ำลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ระดับ 30.7  

สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นปัจจุบัน อนาคตก็ลดลงต่ำกว่าเดือน ก่อนเช่นกันคือที่ระดับ 17.3 และ 37.8 จากเดือนก่อนอยู่ที่ระดับ 20.9 และ 40.5  โดยมีปัจจัยลบที่กระทบต่อความเชื่อมั่น คือความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 รอบที่ 3 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศทั้งปัจจุบันและในอนาคต หากไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้  ภาครัฐออกมาตรการควบคุมการระบาดของโรค และมาตรการควบคุมแบบบูรณาการ ทำให้มีการสั่งปิดกิจการทางธุรกิจในหลายประเภท

หวั่นปิดกิจการ-เลิกจ้างพุ่ง  หาก "ฉีดวัคซีนโควิด"ช้า

โดยเฉพาะธุรกิจกลางคืน  มาตรการการกักตัวของบางจังหวัด หากเดินทางเข้าจังหวัดนั้น ๆ ทำให้นักท่องเที่ยวชะลอการเดินทาง การชะลอการบริโภคและจับจ่ายใช้สอย จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบ 3 ธุรกิจเริ่มขาดสภาพคล่องและปิดกิจการ ส่งผลให้มีการปลดคนงานเพิ่มขึ้น หรือมีการลดเงินเดือน เป็นต้น

 

ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจของจังหวัดในปัจจุบันและอีก 6 เดือนข้างหน้าในประเด็นต่างเช่น เศรษฐกิจของจังหวัดโดยรวม การบริโภคภายในจังหวัด การลงทุนภาคเอกชนในจังหวัด การท่องเที่ยวภายในจังหวัด ก็ตอบว่าแย่ลงเป็นส่วนใหญ่โดยเฉพาะการท่องเที่ยวในปัจจุบันตอบว่าแย่ลงถึง 98.6% และในอนาคตก็ยังมองว่าไม่ได้ดีขึ้น

แนวทางที่หอการค้าต้องการให้รัฐบาลเร่งดำเนินการคือ การเร่งจัดหาวัคซีนให้เพียงพอต่อจำนวนประชากร เร่งกระจายการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ และทำให้การดำเนินชีวิตกลับเข้าสู่สภาวะปกติหลังจากสถานการณ์โควิดเริ่มมีการคลี่คลายลง เร่งการหยุดการระบาดแพร่เชื้อไวรัสโควิด- 19 ที่เป็นคลัสเตอร์และกระจายตัวอยู่ในชุมชนแออัดตามพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

 มาตรการทางการเงินช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจในการช่วยเพิ่มศักยภาพในการดำเนินกิจการรักษาการจ้างงาน พัฒนาทักษะแรงงานและปรับรูปแบบธุรกิจ ให้กลับมาสร้างรายได้เพิ่มขึ้น เร่งแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวของประเทศให้พร้อมดำเนินการทันทีเมื่อสถานการณ์ของการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ควบคุมได้และประชาชนมีภูมิคุ้นกันต่อโรคในระดับที่ไม่เป็นอันตราย

หวั่นปิดกิจการ-เลิกจ้างพุ่ง  หาก "ฉีดวัคซีนโควิด"ช้า

นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจขณะนี้มีความเสี่ยงสูงมาก เพราะจากผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างที่เป็นภาคเอกชนตอบว่าทุกอย่างแย่ลงโดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวในปัจจุบัน การจ้างงานในปัจจุบันก็ตอบว่าแย่ลงถึง 84.3% ของกลุ่มตัวอย่าง แสดงให้เห็นว่ากลุ่มตัวอย่างมีความกังวลอย่างสูงเกี่ยวกับสภาพคล่อง การประคองธุรกิจ เพราะตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ภาคการท่องเที่ยวก็ซบเซามาตลอด แม้ว่าจะมีการจ่ายชดเชยให้กับธุรกิจที่หยุดกิจการชั่วคราว

แต่ก็เริ่มมีกิจการต่าง ๆปิดกิจการเพราะแบกรับภาระไม่ไหวเพราะรายได้ไม่มี เข้าไม่ถึงซอฟท์โลน  ทำให้คนที่ตกงานกลับไปยังภูมิลำเนามากขึ้นและก็ส่งผลถึงภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นที่สะท้อนในผลการสำรวจว่าผลของการตกงานนั้นทำให้กลุ่มตัวอย่าง 78.3% ตอบว่าเศรษฐกิจปัจจุบันแย่ลงและเกินครึ่งของกลุ่มตัวอย่างคือ 45.4% ก็ตอบว่า ในอีก 6 เดือนก็ยังแย่ลง บ่งบอกว่ากำลังซื้อต่าง ๆก็จะลดลงไปตามการกินดีอยู่ดีของประชาชน

“มองว่าตัวเลขในเดือนพ.ค.น่าจะแย่กว่านี้คือต่ำกว่า 30 โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ดังนั้นกลุ่มคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจึงได้รับผลกระทบมากที่สุด มีความเสี่ยงสูงที่จะตกงาน ส่วนภาคเกษตรแม้ราคาสินค้าเกษตรจะดีแต่เกษตรกรไม่มีสินค้าในมือดังนั้นเกษตรกรก็ไม่ได้อยู่ดีกินดีตามไปด้วย ดังนั้นตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นทั้งการบริโภค การลงทุน การท่องเที่ยว ภาคเกษตร อุตสาหกรรม ภาคบริการก็ยังจะต่ำอยู่โดยสรุปคือเศรษฐกิจไม่ดี”  นายธนวรรธน์ กล่าว