ความต้องการเหล็กโลกสูงดันราคาพุ่ง ส.อ.ท.แนะ 2 แนวทางแก้ปัญหา

29 เม.ย. 2564 | 05:15 น.

ความต้องการเหล็กโลกสูงดันราคาพุ่ง ส.อ.ท.แนะ 2 แนวทางแก้ปัญหา ชวนผู้ใช้เหล็กเน้นความร่วมมือ Supply Chain

นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงสาเหตุที่ราคาเหล็กในตลาดโลกดีดตัวขึ้นอย่างสูงว่า ในช่วงต้นปี 2564 นี้ อุตสาหกรรมเหล็กโลกในภาพรวมปรับตัวในทิศทางบวก โดยทั้งโลกมีผลิตเหล็กปริมาณเฉลี่ยกว่า 150 ล้านตันต่อเดือน เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยคาดว่าทั้งปี 2564 ความต้องการใช้เหล็กของโลกจะเพิ่มเป็น 1,874 ล้านตัน นำโดยประเทศจีนซึ่งผลิตและใช้เหล็กมากที่สุดราว 55% ของโลก

ทั้งนี้ ในปี 2563 จีนต้องนำเข้าสินค้าเหล็กจากประเทศต่างๆ มากถึง 18.3 ล้านตัน เพิ่มเป็น 6 เท่าจากปี 2562 โดยสินค้าเหล็กที่จีนนำเข้าสูงสุด 3 ลำดับแรก คือ เหล็กแผ่นรีดร้อน 9.9 ล้านตัน  เหล็กแผ่นรีดเย็น 3.8 ล้านตัน เหล็กแผ่นเคลือบ 2.4 ล้านตัน ส่งผลให้สินค้าเหล็กดังกล่าวที่จีนแย่งซื้อในตลาดโลกขาดแคลนและราคาสูงขึ้นมาตลอด

สำหรับปี 2564 จีนยังมีความต้องการใช้เหล็กเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยความต้องการใช้เหล็กในประเทศจีนไตรมาสหนึ่งเติบโตขึ้น 52% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าทั้งปี ประเทศจีนจะมีความต้องการใช้เหล็กราว  1,025 ล้านตัน เนื่องจากการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ GDP ปี 2564 น่าจะสูงถึง 8.2% - 9.5% 

โดยการลงทุนของจีนช่วงต้นปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เติบโตขึ้นอย่างมหาศาล เช่น การผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้น 89.9% เป็นเฉลี่ยเดือนละ 1.93 ล้านคัน  การลงทุนในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเขตเมืองเติบโต 38.3%   การลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่องเติบโต 34.1%  เป็นต้น ส่งผลให้ประเทศจีนผลิตเหล็กไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ 

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยล่าสุดที่ผลักดันให้ราคาเหล็กยังขึ้นต่อเนื่อง คือ

1.โรงงานเหล็กในจีนจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนครถังซาน ซึ่งมีกำลังการผลิตเหล็กดิบมากกว่า 144 ล้านตัน ถูกรัฐบาลจีนสั่งให้ลดการผลิตลง (Production Cut) ราว 50% ระหว่างช่วงฉุกเฉินมีนาคม - มิถุนายน ตามมาตรการลดมลภาวะทางอากาศ ซึ่งจะทำให้ปัญหาปริมาณเหล็กไม่พอเพียงต่อความต้องการของประเทศจีนทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น 

2.รัฐบาลจีนประกาศจะยกเลิก Rebate Tax (การให้คืนภาษี) 13% สำหรับสินค้าเหล็กส่งออก ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 พ.ค. 2564 จะยิ่งส่งผลให้สินค้าเหล็กส่งออกจากจีนมีราคาสูงขึ้นไปอีก

ราคาสินค้าเหล็กของโลกได้ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในทุกภูมิภาคทั่วโลก เช่น ราคาเหล็กแผ่นรีดร้อน ภายในประเทศจีนเมื่อกลางปี 2563 ต่ำสุดอยู่ที่ 420 ดอลลาร์ แต่ขณะนี้ราคาเสนอขายสูงขึ้นเป็น 2.2 เท่า ระหว่าง  910 – 925 ดอลลาร์  หรือ ในสหรัฐอเมริกา ราคาขึ้นสูงสุดในโลกถึงกว่า 1,400 ดอลลาร์ เป็นต้น

สภาวการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นปัญหาระดับโลก โดยประเทศไทยซึ่งสามารถผลิตเหล็กดิบ (Crude Steel) ได้เองเป็นสัดส่วนเพียง 0.22% ของปริมาณการผลิตเหล็กดิบทั้งโลก และยังต้องพึ่งพิงวัตถุดิบที่ต้องนำเข้าไม่ว่าจะเป็นเศษเหล็ก และเหล็กขั้นต้น ได้แก่ เหล็กแท่งเล็ก (Billet) เหล็กแท่งแบน (Slab) ดังนั้น ประเทศไทยย่อมโดนผลกระทบของกระแสราคาเหล็กในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นมากด้วย

              นายนาวา กล่าวอีกว่า อุตสาหกรรมเหล็กของประเทศไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดในปี 2563 มาแล้ว ซึ่งการบริโภคสินค้า ลดเหลือ 16.5 ล้านตัน โดยการใช้เหล็กภายในประเทศไทยสำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องเมื่อเทียบสัดส่วนตามปริมาณเหล็กที่ใช้ การก่อสร้างเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เหล็กเป็นปริมาณมากสุด 57% รองลงมาตามลำดับ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ 22% อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล 9% อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า 8% และอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์โลหะ 5% ที่ผ่านมารัฐบาลไทยสามารถผลักดันเร่งรัดการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศได้ดี ส่งผลให้อุตสาหกรรมก่อสร้างยังเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แม้มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (Covid-19) ประกอบกับอุตสาหกรรมยานยนต์ เริ่มฟื้นตัว ปี 2564 ตลาดเหล็กของไทยจึงฟื้นตัวตามตลาดโลกด้วย โดยคาดว่าปริมาณความต้องการใช้เหล็กของไทย จะเพิ่มขึ้น ราว 7%  เป็น 17.7 ล้านตัน

              ปี 2564 นี้ประเทศไทยทั้งผลิตสินค้าเหล็กในประเทศเพิ่มขึ้น และนำเข้าสินค้าเหล็กเพิ่มขึ้น โดยในไตรมาสหนึ่ง มีการผลิตสินค้าเหล็กในประเทศ 2.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีการนำเข้าสินค้าเหล็กทั้งสิ้น 3.02 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าเหล็กนำเข้าจากญี่ปุ่นมากสุด 1.27 ล้านตัน เพิ่มขึ้นถึง 37% แต่สินค้าเหล็กนำเข้าจากประเทศจีนถดถอยเหลือ 0.78 ล้านตัน ลดลง 15% ดังนั้น ผู้ใช้เหล็กที่เคยพึ่งพิงสินค้าเหล็กนำเข้าจากจีน จึงน่าจะได้รับผลกระทบมาก

อน่างไรก็ดี  ต้องการเสนอแนวทางแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาผลกระทบจากราคาเหล็กทั่วโลกขึ้นสูงนี้ คือ

1. การเร่งพัฒนาความร่วมมือในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) โดยผู้ใช้เหล็กวางแผนการใช้เหล็ก แจ้งผู้ผลิตเหล็กให้ทราบล่วงหน้า เพื่อสามารถจัดซื้อวัตถุดิบและวางแผนการผลิตได้ทันเวลา ซึ่งมีตัวอย่างที่ผู้ผลิตและผู้ใช้เหล็กบางรายได้นำร่องความร่วมมือดังกล่าวจนเป็นประโยชน์ทางธุรกิจกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาแล้ว ทั้งนี้ ผู้ผลิตเหล็กส่วนใหญ่ในประเทศไทย ได้พยายามรักษาสมดุล ระหว่างต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นมาก กับ การดูแลลูกค้าผู้ใช้เหล็ก ตามกลไกตลาดอยู่แล้ว ทั้งนี้ หากจะมีมาตรการเสริมใดๆ ก็ต้องพิจารณาเฉพาะแยกตามผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมและรอบคอบ เพราะสินค้าเหล็กแต่ละผลิตภัณฑ์มีโครงสร้างการผลิต ตลาด และได้รับผลกระทบจากราคาตลาดเหล็กโลกต่างกัน  ถ้ามีการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด อาจสร้างผลกระทบจนเหล็กขาดแคลนรุนแรง

2. การสนับสนุนจากภาครัฐให้ผู้ผลิตเหล็กมีความสามารถจัดหาวัตถุดิบปริมาณเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความต้องการใช้เหล็กที่ขยายตัวของประเทศไทย เช่น การสนับสนุนสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมเพื่อการจัดหาวัตถุดิบเพิ่ม เนื่องจากปัจจุบัน สถาบันการเงินส่วนใหญ่จำกัดวงเงินสำหรับผู้ผลิตเหล็ก ทำให้เป็นข้อจำกัดสำหรับจัดซื้อวัตถุดิบที่ราคาปรับสูงขึ้นตามกลไกตลาดโลก

นายนาวา กล่าวต่ออีกว่า กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ส.อ.ท. มั่นใจว่านโยบายที่รัฐบาลได้ขับเคลื่อนมาแล้ว หากสามารถผลักดันให้หน่วยราชการปฏิบัติได้ผลจริง จะส่งผลบวกอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย ได้แก่

1.การส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กที่ผลิตในประเทศที่ได้ขึ้นทะเบียน “Made in Thailand” กับ ส.อ.ท. ในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ตามมติคณะรัฐมนตรี 1 กันยายน 2563 และกฎกระทรวงการคลัง ณ วันที่ 22 ธันวาคม 2563  เรื่องกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน พ.ศ. 2563  ให้สามารถดำเนินการได้อย่างจริงจัง จากงบประมาณรายจ่าย ปีละกว่า 3.3 ล้านล้านบาท สามารถจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่ผลิตในประเทศได้หลายแสนล้านบาท 

ผลการศึกษาวิจัยโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า อุตสาหกรรมเหล็กมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทย ทั้งในส่วนของการผลิตมูลค่า GDP มูลค่าและจำนวนการจ้างงาน โดยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอื่นๆ ในห่วงโซ่อุปทาน หากมีการส่งเสริมการใช้สินค้าเหล็กที่ผลิตในประเทศไทยมากขึ้น จะช่วยสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนทำให้ GDP ของประเทศไทยเพิ่มขึ้นได้อีก 0.66% ถึง 0.75% จากการเติบโตปกติ

2.ขอให้รัฐบาลพิจารณาขยายผลให้โครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership : PPP) ต่างๆ เช่น โครงการรถไฟฟ้า โครงการทางด่วน โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เป็นต้น ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนรวมกันอีกนับล้านล้านบาท ส่งเสริมการใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศไทยด้วยเช่นกัน เพื่อก่อให้เกิดการจ้างงานและการหมุนเวียนเศรษฐกิจภายในประเทศไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :