ผวาล็อกดาวน์ วิกฤติรอบใหม่ ดับฝันจีดีพี4% เหลือ 2.4 แสนล.กู้เศรษฐกิจ

09 เม.ย. 2564 | 19:30 น.

ภาคธุรกิจ กังวลโควิด-19 ระลอก 3 ทุบจีดีพีของประเทศปีนี้ไปไม่ถึงเป้า 4% ผู้บริโภค- ท่องเที่ยว ชะลอการใช้จ่าย “หมอบุญ” ชี้ฉีดวัคซีนล่าช้าฉุดการเปิดประเทศ อสังหาฯ ยันกระทบหนัก วอนรัฐอย่าล็อกดาวน์ สบน.เผย เหลือเงินกู้ 2.4 แสนล้านใช้กู้วิกฤติ

สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่หลายฝ่ายประเมินว่ากำลังเข้าสู่การระบาดระลอกที่ 3 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นเป็นรายวัน และจะมีความชัดเจนมากขึ้นหลังเทศกาลสงกรานต์ไปแล้ว จากวันที่ 9 เมษายน 2564 มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศอยู่ที่ 559 ราย ทำให้มีความกังวลว่าการระบาดรอบนี้ จะมาซํ้าเติมการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศอีกครั้ง จากที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายจะขยายตัวไว้ที่ 4% หลังจากช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจทุกตัวปรับตัวดีขึ้น

จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 นี้ กำลังจะดับฝันของรัฐบาลที่จะผลักดันให้ตัวเลขจีดีพีของประเทศไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ และอาจจะให้หลายหน่วยงานปรับเป้าการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้ลงอีก สะท้อนได้จากมุมมองของภาคธุรกิจต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้

จีดีพีส่อติดลบ

นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)หรือ THG เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การแพร่ระบาดของโควิด ระลอก 3 ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ จะเป็นปัญหาใหญ่ หากรัฐบาลไม่สามารถควบคุมได้ เพราะจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทำให้เศรษฐกิจยิ่งถอยหลัง จากเดิมที่วางเป้าหมาย GDP เติบโต 3-4% อาจจะลดลงเหลือ 1% หรือติดลบก็เป็นได้

นอกจากนี้ โครงการต่างๆ การท่องเที่ยวต่างๆหากยังไม่สามารฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมได้ 70% โอกาสในการเปิดประเทศก็ยากที่จะเกิดขึ้น การจะออกมาตรการต่างๆ มาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ กำลังซื้อในประเทศก็ลดน้อยลง เพราะเงินมีจำกัด

นายแพทย์บุญ กล่าวว่า วันนี้การระบาดระลอก 3 เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้วัคซีนเริ่มไม่เพียงพอ ขณะที่ไทยเองเพิ่งฉีดวัคซีนให้พลเมืองได้ไม่ถึง 1% กว่าจะกระจายได้ครอบคลุมต้องใช้ระยะเวลา ซึ่งการแพร่ระบาดระลอก 3 รวดเร็ว รุนแรง จาก 2 คน สามารถแพร่กระจายได้ 300-400 คน โอกาสที่จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มจึงมีมาก ขณะที่การวางแผนฉีดวัคซีนของไทยผิดพลาดมาโดยตลอด ที่ฉีดวัคซีนให้พลเมืองได้ไม่ถึง 20-30%”

ถึงตอนนี้รัฐบาลจะหันมาพิจารณาวัคซีนให้เอกชนฉีดได้ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะวัคซีนหายาก ขณะที่วัคซีนของจอนห์สันแอนด์จอห์สัน หากจะนำเข้าก็ต้องรอสิ้นปี

กระทบจีดีพีโตไม่ถึง4%

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า โควิดระลอกใหม่ หากมีความยืดเยื้อและขยายวง จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายปีนี้ จะขยายตัวที่ 4 % ความกังวลของภาคเอกชนผู้ที่จะได้รับผลกระทบคือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่กำลังจะลืมตาอ้าปากได้ หากได้รับผลกระทบอีกก็จะเป็นภาระของรัฐบาลที่ต้องไปหาเงิน หรือหามาตรการทางการคลังเพื่อช่วยเหลือในเรื่องสินเชื่อเพิ่มเติม เพื่อให้มีนํ้าเลี้ยงที่จะอยู่รอดต่อไปได้ ไม่เช่นนั้นก็ธุรกิจล้มก็จะส่งผลต่อการเลิกจ้าง คนจะตกงานตามา และกระทบเศรษฐกิจ

สงกรานต์วูบ1.5 หมื่นล.

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้ไทย กล่าวว่า คาดผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิดระลอกใหม่จะกระทบเม็ดเงินที่จะสะพัดในกรุงเทพฯช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2,000-3,000 ล้านบาท และในภาพรวมประเทศ 10,000-15,000 ล้านบาท จากคนเดินทางท่องเที่ยวและกลับภูมิลำเนาลดลง ขณะที่การหารือกับพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หากจะมีการล็อกดาวน์กรุงเทพฯ ขอให้ทางภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นก่อน เพราะภาคธุรกิจเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง

อสังหาฯผวาล็อกดาวน์

นางสาวเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเกิดขึ้นของโควิดระลอก 3 มีผู้ติดเชื้อลุกลามจำนวนมาก ซึ่งมีความน่ากังวล และจะมีผลกระทบ หากรัฐบาลตัดสินใจใช้มาตรการเข้มข้นในการควบคุมสถานการณ์ ซึ่งผู้ประกอบการไม่สามารถจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย และออกอีเว้นท์แนะนำโครงการได้ ยอดขาย และยอดการเปิดตัวโครงการใหม่ จะกลับไปสู่จุดตํ่าสุดอีกครั้ง

ดังนั้น อยากให้รัฐบาล พิจารณาใช้มาตรการควบคุมโรค ควบคู่กับการดูแลภาวะทางเศรษฐกิจด้วยอย่างถี่ถ้วนหากต้องเผชิญกับการล็อกดาวน์ครั้งใหม่ คาดว่าอาจทำให้เศรษฐกิจทรุดหนักอีกครั้ง


ผวาล็อกดาวน์ วิกฤติรอบใหม่ ดับฝันจีดีพี4% เหลือ 2.4 แสนล.กู้เศรษฐกิจ

เงินกู้เหลือ2.4แสนล้าน

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ หรือ สบน. กล่าวถึงความคืบหน้าการเบิกจ่ายเงินกู้ ตาม พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ณ วันที่ 7 เมษายน 2564 โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติวงเงินกู้ไปแล้ว 760,000 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายแล้ว 610,000 ล้านบาท คิดเป็น 61% ของวงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ทำให้ยังคงเหลือเงินกู้ที่ยังไม่ได้อนุมัติอีก 240,000 ล้านบาท

ในส่วนของวงเงินกู้ที่ยังเหลืออีก 240,000 ล้านบาทนั้น จะมีการกู้เพื่อนำไปใช้จ่ายอีกหรือไม่ ยังขึ้นอยู่กันนโยบายและความจำเป็น แต่ทั้งนี้ตามกรอบเวลาของ พ.ร.ก.เงินกู้ฉบับนี้ จะกู้ได้ถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 เท่านั้น แต่หากหลังจากนั้น ยังมีความจำเป็นในการที่ต้องกู้เงินเพิ่ม จะต้องออกเป็น พ.ร.ก.เงินกู้ฉบับใหม่ไม่สามารถขยายระเวลาจากพ.ร.ก. ฉบับเดิมได้

นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า อยากเห็นการใช้เงินงบประมาณที่คงเหลือกว่า 20%จากเงินกู้ 1ล้านล้านบาทให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ การจ้างงานและฟื้นการเติบโตของจีดีพี 

ที่มา : หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,669 วันที่ 11 - 14 เมษายน พ.ศ. 2564 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โควิด รอบ 3 ดับฝันจีดีพี 4% | EXCLUSIVE IN BRIEF | THAN TALK | 9 เม.ย.64

ลุย "คนละครึ่ง เฟส 3" นายกรัฐมนตรีตั้งเป้า GDP ไทย โต 4 %

IMF ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปีนี้ เป็นขยายตัว 6%

นายกฯให้สัญญาณ พร้อมไฟเขียว รพ.เอกชน จัดหา "วัคซีนโควิดทางเลือก"

มท.1 ยืนยัน "ไม่ล็อกดาวน์ทั้งประเทศ" มั่นใจคุมระบาดโดวิดได้