เปิดเคล็ดลับ "ปลูกกัญชง" อย่างไร ได้กำไรสูงสุด

05 เม.ย. 2564 | 09:55 น.

กรมส่งเสริมสหกรณ์จับมือกรมวิชาการเกษตร เตรียมสหกรณ์นำร่องผลิตเมล็ดพันธุ์ “กัญชง” ป้อนอุตสาหกรรม พร้อม เปิดเคล็ดปลูกอย่างไร ให้ได้กำไรสูงสุด เพียง 180 วัน

กรมส่งเสริมสหกรณ์ จับมือ กรมวิชาการเกษตร มีการประชุมหารือแนวทางการส่งเสริมการผลิตพืชเศรษฐกิจกัญชง จากปัจจุบัน มีความต้องการกัญชงเพื่อป้อนระบบอุตสาหกรรมทั้งอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม  เครื่องสำอาง และน้ำมันเมล็ดกัญชง อาหารสัตว์ ฯลฯ จึงคาดว่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ แต่เนื่องจากในประเทศไทยยังไม่มีการส่งเสริมการปลูกมาก่อนหน้านี้ เหตุติดเงื่อนไขทางกฎหมาย จนเมื่อรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขปลดล็อคประกอบกับสรรพคุณมากมาย ทำให้หลายอุตสาหกรรมเริ่มวางแผนที่จะนำชิ้นส่วนพืชกัญชงมาใช้ในระบบอุตสาหกรรม ซึ่งกรมจะได้เตรียมทำตลาดกลางกัญชา/กัญชงของสหกรณ์ เพื่อเป็นผู้กำหนดระบบการซื้อขาย ตามกลไกของตลาด โดยมีอย.และกรมวิชาการเกษตรร่วมด้วย

วิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ

 

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดี กรมส่งเสริมสหกรณ์  (กสส.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเพื่อหารือแนวทางการส่งเสริมการผลิตพืชเศรษฐกิจ “กัญชง” โดยสถาบันเกษตรกร  ภายใต้ความร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตร โดยมีนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ร่วมหารือด้วย โดยกล่าวว่า เนื่องจาก เป็นครั้งแรกที่ไทยจะส่งเสริมการปลูก กรมวิชาการเกษตรจึงได้มาหารือถึงแนวทางในการส่งเสริมให้สถาบันเกษตรกรเป็นหน่วยงานที่จะปลูกกัญชงเป็นเมล็ดหรือต้นเพื่อป้อนอุตสาหกรรมในประเทศ

 

กรมส่งเสริมสหกรณ์เห็นว่าควรจะนำร่องในสหกรณ์ที่มีความเหมาะสมทั้งเชิงพื้นที่ และบางสหกรณ์เคยอยู่ในโครงการปลูกกัญชาทางการแพทย์  โดยสหกรณ์ที่มาหารือ อาทิ สหกรณ์การเกษตรคูเมือง จำกัด จังหวัดบุรีรัมย์   สหกรณ์การเกษตรปักธงชัย จำกัด สหกรณ์การเกษตรด่านขุนทด จำกัด จังหวัดนครราชสีมา และสหกรณ์การเกษตรลานสัก จำกัด จังหวัดอุทัยธานี  ซึ่งหลังการหารือผู้จัดการสหกรณ์จะไปประชุมกับสมาชิก ที่ประสงค์จะเข้าโครงการเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่กระบวนการขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)

 

พันธุ์กัญชง

 

เพื่อให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาตามที่กฎกระทรวง การขออนุญาตและการอนุญาตการผลิต นำเข้าส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5  เฉพาะกัญชง(Hemp) พ.ศ.2563 กำหนดไว้ต่อไป  ซึ่งอนาคตหากสหกรณ์นำร่องประสบผลสำเร็จก็จะเป็นตัวอย่างให้ขยายไปสถาบันการเกษตรอื่น ๆ เพราะมีตลาดรองรับเนื่องจากเงื่อนไขของการอนุญาตกำหนดไว้ชัดเจนว่าต้องมีตลาดรองรับ มีการแสดงการนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ 

 

 

 

พิเชษฐ์ วิริยะพาหะ

ด้านนายพิเชษฐ์  วิริยะพาหะ อธิบดี กรมวิชาการเกษตร (กวก.) กล่าวว่าหลังจากกฎหมายเปิดแล้วภาคอุตสาหกรรมหลายแห่งได้แสดงความต้องการที่จะใช้เมล็ดกัญชงและชิ้นส่วนพืชไปป้อนในระบบอุตสาหกรรมในหลายด้าน แต่ในประเทศไม่เคยมีการอนุญาตให้ปลูกมาก่อน อีกทั้งเมล็ดพันธุ์ที่ขึ้นทะเบียนในไทยนั้นเป็นสายพันธุ์ที่ให้เส้นใยเท่านั้น ดังนั้นกวก.จึงต้องการให้สถาบันเกษตรกรเป็นสถาบันที่จะปลูกเมล็ดพันธุ์ในระบบจีเอพีป้อนให้กับตลาดในประเทศ จึงต้องสร้างความร่วมมือกับกสส.เพื่อให้สหกรณ์นำร่องได้กลับไปหารือกับสมาชิกที่ประสงค์เข้าโครงการและให้แจ้งความประสงค์มายังโครงการเพื่อประสานกับอย.ในการดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

 

โดยกวก.จะเป็นพี่เลี้ยงในทางวิชาการ ทั้งนี้การปลูกเกษตรกรจะต้องเริ่มดำเนินการในช่วงฤดูฝน ส่วนพื้นที่อื่น ๆ ที่ต้องการปลูกนั้นจะเป็นระยะต่อไป โดยขณะนี้กรมอยู่ระหว่างการจัดทำแผนที่แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ใดมีศักยภาพในการปลูกออกมา ซึ่งจะมาจากลักษณะดิน อากาศ ปริมาณน้ำฝน เป็นเกณฑ์พิจารณาส่วนมากเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกับพื้นที่ปลูกข้าวโพด และคาดว่าประมาณปลายปี 2564 เมื่อมีผลผลิตชุดนี้ออกมาจะนำมาสู่การขยายการส่งเสริมการปลูกเพื่อป้อนระบบอุตสาหกรรมต่อไปซึ่งเบื้องต้นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หลายแห่งได้แจ้งความประสงค์ว่าต้องการผลิตภัณฑ์เหล่านี้เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและพร้อมที่จะรองรับผลผลิตที่ออกมา  ปัจจุบันเมล็ดกัญชงราคาจำหน่ายประมาณกิโลกรัมละ 5,000 บาท มีประมาณ  40,000 – 50,000 เมล็ดต่อกก.

 

เมล็ดกัญชง

 

สำหรับในการประชุมตัวแทนสหกรณ์ทั้ง 4 แห่งที่มาร่วมหารือ แสดงความสนใจที่จะเข้าโครงการและต้องการการสนับสนุนด้านเงินทุนดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.)  หรือกองทุนพัฒนาสหกรณ์(กพส.)ของกรมส่งเสริมสหกรณ์  โดยกรมวิชาการเกษตรได้จำแนกต้นทุนการผลิตที่กรมได้มีการเก็บข้อมูลไว้เบื้องต้นพอสังเขปพบว่า ต้นทุนการผลิตต่อไร่กรณีผลิตเป็นเมล็ดจะอยู่ที่ประมาณ 8,242.18 บาท/ไร่  รายได้ประมาณ 26,250 บาท/ไร่ กำไรสุทธิประมาณ 18,007.82  บาท/ไร่  สำหรับต้นทุนต้นสดอยู่ที่ประมาณ 9,028 .82  บาท/ไร่ รายได้ต่อไร่ประมาณ 22,500 บาท กำไรสุทธิประมาณ 12,471.18  บาท/ไร่ ระยะเวลาการผลิต 180 วัน