"คมนาคม" กางแผนลงทุนปี 64 บูมเมกะโปรเจคต์

04 ม.ค. 2564 | 08:57 น.

“คมนาคม” เดินหน้าสานต่อนโยบายปี 64 ลุยเมกะโปรเจคต์ หวังพัฒนาระบบคมนาคมต่อเนื่อง เร่งนำร่อง 3 เส้นทางบูมแลนด์บริดจ์ ตั้งเป้าศึกษาแล้วเสร็จปี 2564 เล็งแก้ปัญหาจราจรในภูเก็ต 2 โครงการ

นายศักดิ์สยาม  ชิดชอบ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  เปิดเผยว่า  สำหรับผลการดำเนินงานปี 2564 ของกระทรวงคมนาคม  พยายามเร่งผลักดันโครงการให้เป็นรูปธรรม เช่น .โครงการศึกษาแผนแม่บท MR-MAP ทั้ง 9 เส้นทาง เบื้องต้นจะเริ่มนำร่องจำนวน 3 เส้นทาง อาทิ เส้นทางชุมพร-ระนอง 120 กม. เส้นทางกาญจนบุรี-ตราด ระยะทาง 220 กม.  และเส้นทางหนองคาย-แหลมฉบัง ระยะทาง 490 กม.เป็นแนวเส้นทางที่คู่ขนานกับแนวเส้นทางรถไฟไทย-จีน (กรุงเทพ-หนองคาย)  โดยคาดว่าภายในไตรมาส 2 ของปี 2564 จะลงนามสัญญาเพื่อศึกษาออกแบบโครงการฯ ซึ่งจะศึกษาให้แล้วเสร็จภายในปี 2564  โดยใช้วงเงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์  ขณะเดียวกันจะต้องรอดูบริษัทผู้รับจ้างศึกษาออกแบบและลงพื้นที่สำรวจโครงการก่อนว่าเป็นอย่างไร  ทั้งนี้เพื่อให้แผนการพัฒนามอเตอร์เวย์ให้สอดคล้อง ไปกับการขยายโครงข่ายรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศ จะศึกษาแผนโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (Land Bridge)  โดยการพัฒนามอเตอร์เวย์ควบคู่กับรถไฟทางคู่ เชื่อมโยงระหว่างท่าเรือน้ำลึกที่จังหวัดชุมพรกับจังหวัดระนอง เพื่อลดเวลาและต้นทุนการขนส่งสินค้า เชื่อมต่อระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้กับการขนส่งและโลจิสติกส์

ด้านการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนทางด่วน นอกจากการผลักดันใช้ระบบ M-Flow ในการผ่านทางด่วนแล้ว ทำการเร่งรัดแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนทางด่วน โดยทำการปรับปรุงโครงข่ายทางทางพิเศษและมอเตอร์เวย์จำนวน 4 เส้นทาง ได้แก่ 1. มอเตอร์เวย์ช่วงศรีนครินทร์ – สุวรรณภูมิ  2. ถนนประเสริฐมนูกิจ-งามวงศ์วาน 3. ทางด่วนขั้นที่ 1 ต่างระดับอาจณรงค์ และ 4. ทางด่วนขั้นที่ 1  ช่วงสะพานพระราม 9 - พระราม 2 เพื่อลดความแออัด และเพิ่มทางเลือกในการเดินทางให้แก่ประชาชน

 

“สำหรับแผนฟื้นฟูองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) หากเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่ทันตามแผนที่วางไว้จะสามารถดำเนินการแยกแผนบางส่วนออกมาดำเนินการก่อนได้หรือไม่นั้น เรามองว่าสามารถดำเนินการได้ แต่ทางกระทรวงคมนาคมต้องการดำเนินการแก้ปัญหา ขสมก.ทั้งระบบเพื่อไม่ให้เกิดหนี้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันควรดำเนินการให้ครอบคลุมสมบูรณ์เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาทีหลัง เพราะที่ผ่านมาเราเสียการบินไทยไปแล้ว  หากแผนฟื้นฟูขสมก.ผ่านการพิจารณาจากครม.แล้ว  จะยึดแผนดังกล่าวนำไปใช้กับหน่วยงานอื่นๆ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)”

ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมเร่งแก้ปัญหาการจราจรในจังหวัดภูเก็ต โดยบูรณาการโครงข่ายทางพิเศษสายกะทู้- ป่าตอง ระยะทาง 3.98 กม. ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย กับโครงข่ายทางหลวงแนวใหม่ สายเมืองใหม่ – เกาะแก้ว ระยะทาง 22.4 กม. ของกรมทางหลวง เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางท่องเที่ยวจากท่าอากาศยานจังหวัดภูเก็ต จังหวัดกระบี่ จังหวัดพังงา เข้าสู่ตัวเมืองภูเก็ตได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ลดความแออัดบนทางหลวงหมายเลข 402 รวมทั้งการวางระบบติดตามโครงการขนาดใหญ่ เพื่อบูรณาการการบริหาร สั่งการติดตามผล และแก้ไขปัญหาในการดำเนินการโครงการขนาดใหญ่ เช่น ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน -นครราชสีมา ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางใหญ่ – กาญจนบุรีโครงข่ายรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ – นครราชสีมา ครอบคลุม 4 มิติ ได้แก่ มิติการประชาสัมพันธ์ มิติการเร่งรัดการก่อสร้าง มิติการบริหารจราจร และมิติการบริหารพื้นที่ร่วมกับโครงการอื่น เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และลดผลกระทบต่อประชาชน

 

อย่างไรก็ตามในส่วนของการพัฒนาระบบตั๋วรถไฟฟ้าข้ามระบบนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับสถาบันการเงินเพื่อดำเนินการใช้ตั๋วข้ามระบบ คาดว่าจะลงนามสัญญาร่วมกับสถาบันการเงินได้ภายในไตรมาส 2 ของปี 2564 โดยจะพัฒนาระบบตั๋วร่วมแล้วเสร็จภายในปี 2564