“กัญชา” ปลูกถูกกฎหมาย ก้าวสู่ปีที่2

09 พ.ย. 2563 | 06:37 น.

“เสรีกัญชา” โจทย์หินรัฐบาล”ลุงตู่”  ม้วนเดียวไม่จบ “องอาจ”  ชำแหละปัญหาปีแรก แจงละเอียดยิบ เกษตรกร/วิสาหกิจทั่วไปยากที่จะปลูกได้ กฎเข้ม ลงทุนสูง ราคากลางยังไม่มี ต้องใช้เวลาถึงจะปลดล็อก

“กัญชา” เป็นพืชที่ “สภาเกษตรกรแห่งชาติ” ต้องการผลักดันให้เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศ เพื่อให้เกษตรกรหลุดพ้นจากความยากจน ก่อนที่จะมีพรรคการเมืองนำไปชูเป็นนโยบายกัญชาเสรี (ทางการแพทย์) กวาดคะแนนเสียงเข้าสภาอย่างล้นหลาม แต่ภายใต้รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ไม่ง่ายที่จะเปิดเสรีกัญชา แม้หลายฝ่ายจะพยายามแก้ไขพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 สำเร็จ  ซึ่งได้เปิดโอกาสให้เกษตรกรที่รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชุมสามารถจดทะเบียนเป็นผู้ปลูกได้ก็จริง แต่ยังเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย ครอบครอง หรือเสพ โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดและมีโทษตามกฎหมาย ทั้งโทษจำคุกหรือโทษปรับ แต่จะมีการผ่อนปรนเพื่อใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์

 

ทั้งนี้ผู้ที่จะสามารถขออนุญาตผลิต นำเข้า และส่งออกกัญชาได้ ต้องมีคุณสมบัติ อาทิ เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัย หรือจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์ เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือเกษตรศาสตร์ หรือให้บริการทางเกษตรกรรม เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ หรือเภสัชกรรม หรือเกษตรที่รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือสหกรณ์การเกษตร ซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมาย และดำเนินการภายใต้ความร่วมมือและกำกับดูแลของผู้ขออนุญาตที่เป็นหน่วยงานรัฐ หรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (กราฟิกประกอบ)

 

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตร มี 8 วิสาหกิจชุมชนที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุขให้ผลิต (ปลูก) ได้แก่ 1. วิสาหกิจชุมชน ปลูกพืชสมุนไพรอื่น ๆ ทุกชนิดอัจฉริยะส่งออกการนำเข้า (นครสวรรค์) 2. วิสาหกิจชุมชนผักพืชสมุนไพรและพืชพลังงาน ตำบลพนมรอก (นครสวรรค์) 3. วิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกรทฤษฎีใหม่ตำบลเสมา (นครราชสีมา) 4. วิสาหกิจชุมชนรักจังฟาร์มเมล่อน วังน้ำเขียว (นครราชสีมา) 5. วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกและแปรรูปบุกเกษตรอินทรีย์บ้านทุ่งแพม (แม่ฮ่องสอน)6. วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกและแปรรูปบุกเกษตรอินทรีย์บ้านทุ่งแพม (แม่ฮ่องสอน) 7. วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรนอกกรอบเพื่อรอยยิ้มที่ยั่งยืน (บุรีรัมย์) และ 8. วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์เพชรลานนา (ลำปาง)

 

“กัญชา” ปลูกถูกกฎหมาย ก้าวสู่ปีที่2

 

ทั้งนี้หนึ่งในวิสาหกิจ ที่ได้รับไฟเขียวให้ปลูกได้เป็นที่แรกตามกฎหมายของประเทศไทย ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์เพชรลานนา” ต.แม่สุก อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง เป็นผู้ผลิตพืชสมุนไพร ได้รับใบอนุญาตครอบครองตามหนังสือที่ 36/ 2562 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 และใบอนุญาตผลิตหรือปลูกตามหนังสือที่ 12/ 2562 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 ในพื้นที่ทั้งหมด 4 ไร่ 1 งาน 95 ตารางวา ล่าสุดกำลังปลูกเป็นปีที่ 2 คาดว่าจะสามารถเก็บเกี่ยวได้ประมาณต้นปี 2564

 

องอาจ ปัญญาชาติรักษ์

 

นายองอาจ ปัญญาชาติรักษ์ ผู้บริหารวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์เพชรลานนา   เล่าว่า ตามเป้าหมายวิสาหกิจฯจะส่งผลผลิตให้กับกรมการแผนแพทย์ไทย และโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร รวม 2,000 ต้น  ตามข้อตกลงเงื่อนไขก่อนการปลูกทั้งใบ ต้น ดอก และราก เพื่อนำไปผลิตเป็นยาแจกจ่ายให้กับผู้ป่วยได้จำนวนมาก โดยครั้งแรกมีการนัดวันเก็บเกี่ยว เมื่อมีนาคม-เมษายน 2563 ที่ผ่านมา โดยตั้งแต่ปลูกและเก็บเกี่ยวได้จะใช้เวลาประมาณ 4 เดือนครึ่ง ใช้วิธีเพาะจากเมล็ด

 

สำหรับ “พืชกัญชา” จะมีลักษณะคล้ายพืชไร่ โตแล้วออกดอก แล้วก็จะตาย คล้ายกับข้าว รอบแรกที่ปลูกแล้วถือว่าประสบความสำเร็จ และได้ผลิตที่ดี โดยสัญญาการปลูกไม่เกิน 2,000 ต้น (ส่วนที่เกินต้องทำลายทิ้ง) ส่งกัญชาที่ 2,000 กิโลกรัมสด ส่วนที่เกินต้องทำลายทิ้ง เพราะต้นหนึ่งน้ำหนักอยู่ที่ 2-3 กิโลกรัม แต่ในปีที่ 2 นี้มีประสบ การณ์มากขึ้น ขณะนี้กำลังเริ่มเพาะปลูก และเพิ่งได้รับใบอนุญาตการปลูกรอบที่ 2 จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข

 

“การส่งกัญชาให้กับกรมการแพทย์แผนไทย ไม่ได้ขาย เพราะจุดเริ่มต้นคิดว่ามีความต้องการมาก และคนป่วยมีการไปซื้อจากใต้ดินกิโลกรัมละ 3 หมื่นบาท ซึ่งก็ไม่ทราบว่ามีอันตรายอย่างไร มีสารเจือปนหรือ จึงอยากจะให้มีผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานแล้วปลอดภัยสำหรับคนใช้งาน และอยากจะทำให้เห็นว่าเกษตรกรบ้านเราสามารถทำได้ไม่จำเป็นที่จะต้องไปพึ่งพาตามมหาวิทยาลัย หรือนักวิชาการอย่างเดียว และต้องการให้เห็นว่าต้นทุนการปลูกไม่แพง และไม่จำเป็นจะต้องปลูกในโรงเรือนทั้งหมด เพราะมีการปลูกนอกแปลงโรงเรือนด้วย ซึ่งได้ผลผลิตที่มากกว่าในโรงเรือนด้วยซ้ำไป ซึ่งเมล็ดกัญชาได้มาจาก ป.ป.ส. ที่รวบรวมจากของกลางในการปราบปรามยาเสพติดนำมาให้ แล้วนำมาเพาะ จึงมีความหลากหลายของสายพันธุ์มาก มีทั้งต้นเล็กต้นใหญ่ ใบเล็กใบใหญ่ ซึ่งการปลูกรอบแรกยังไม่ได้เก็บข้อมูล”

 

แต่รอบนี้จะเก็บข้อมูลให้มากขึ้นเช่น ต้นทุนการปลูก สายพันธุ์ โดยทางวิสาหกิจฯมีการทำงานวิจัยร่วมกับคณะเกษตร ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วย เมื่อปลูกแล้วจะต้องทำรั้วแผงกั้น สูง 3 เมตร มีกล้องวงจรปิด สร้างโรงเรือน มีการบันทึกการเข้า-ออก มีการสแกนลายนิ้วมือ มีการขออนุญาตก่อนเข้า ซึ่งถือว่ามีความเข้มงวดมาก ต้นทุนก็สูง ชาวบ้านธรรมดาทำได้ยาก

 

“กัญชา” ปลูกถูกกฎหมาย ก้าวสู่ปีที่2

 

ส่วนอนาคตตลาดกัญชา ยอมรับว่ายังมีความกังวล เพราะความต้องการใช้ในประเทศไม่ทราบเป็นอย่างไร รวมถึงไม่ทราบข้อมูลความต้องการของต่างประเทศและโรคใดบ้างที่ใช้กัญชาในการบำบัดหรือรักษาได้ รวมถึงนำไปผสมอาหาร เครื่องดื่ม เช่น ชา กาแฟ มีจำนวนมากที่อยากจะทำ ต่างชาติเริ่มไปแล้ว แต่ของไทยยังไม่ได้เริ่ม จึงไม่ทราบว่าหากทำออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ตลาดจะเป็นอย่างไร

 

ข้อเท็จจริงข้างต้นนี้จึงถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายของรัฐบาลในการเปิดเสรีกัญชาทางการแพทย์ รวมถึงการเปิดเสรีทั่วไปในอนาคต ที่ต้องใช้เวลาในการลองผิดลองถูก และสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้กับทุกภาคส่วน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะอีกด้านหนึ่งหากเปิดเสรีจะทำให้คนไทยบางส่วนเสพติดกัญชาเพิ่มขึ้น แต่หากมีมาตรการป้องกันที่ดี ก็จะเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจประเทศ

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,625 วันที่ 8-11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563