ปี64 ส่งออกข้าวยังโคม่าคาดทั้งปี 5 ล้านตัน

04 พ.ย. 2563 | 23:00 น.

​​​​​​​ไทย ส้มหล่น “โควิด” ช่วย “อินเดีย” ยังสะดุดต่อ นายกกิตติมศักดิ์ข้าว เผยปี64 ส่งออกข้าวยังโคม่ากู่ไม่กลับ “จีน-อินเดีย” คัมแบ็กทั้งปีอาจจะจบ 5 ล้านตัน จีนโชว์ความสำเร็จพัฒนาพันธุ์ข้าวลูกผสม 3.6 ตัน/ไร่

วิชัย ศรีประเสริฐ

 

นายวิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สถานการณ์ราคาข้าวนึ่ง ไทยแพงกว่าของอินเดีย 100 ดอลล่าร์สหรัฐ แต่ก็ยังขายได้ สาเหตุมาจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 มาช่วย ซึ่งในประเทศอินเดียยังมีการระบาดหนักมากทำให้โลจิสติกซ์การส่งของล่าช้ามาก จึงเปิดโอกาสให้ข้าวไทยทั้งที่แพงกว่าก็มีโอกาสระบายออกไปบ้าง แต่ก็มีพ่อค้าหลายคนที่ทำหน้าที่เป็นเทรดเดอร์อาจจะมีปัญหาทางการเงินได้หายไป 2-3 ราย บทบาทลดลงไปมาก จึงทำให้วอรุ่มสั่งข้าวจึงไม่มากเมื่อเทียบกับในอดีต ที่ทุกคนแข็งแรงกันอยู่

 

“ราคาข้าวในประเทศปรับตัวสูงขึ้นเพราะจากภัยแล้ง ผลผลิตข้าวมีน้อย ต้นทุนข้าวเมืองไทยจะแพงกว่าคู่แข่ง คิดง่ายๆ ทั้งเวียดนาม และอินเดีย เมียนมาร์ จะอยู่ 6,000 บาท/ตัน แต่ของไทยจะอยู่ที่ 8,000 บาทต่อตัน แต่ปัจจุบันจะต้อง 9,000 บาท/ตันแล้ว ซึ่งเป็นอุปสรรคเพราะราคาสู้คู่แข่งทั่วโลกไม่ได้ ต้นทุนก็สูงกว่า”

 

นายวิชัย กล่าวว่า ในช่วงนี้แม้ว่าจะพอขายข้าวได้บ้างส่งออกข้าวปีนี้ก็จะน้อยกว่าปกติคาดว่าจะส่งออกได้แค่ 5 ล้านตัน จากที่เคยส่งออกสูงสุด 10 ล้านตัน ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าวประเมินแล้วปี 2564 ก็คงจะลำบากกว่าปีนี้ จากปีนี้น้ำในเขื่อนใหญ่ 35 เขื่อนน้อยกว่าปี 2562 ด้วยซ้ำไป ประเมินแล้วผลผลิตข้าวจะไม่มากเพราะน้ำน้อย แล้วอีกไม่กี่วันก็จบฤดูแล้วถึงแม้จะมีพายุเข้ามาอีกลูกหนึ่งก็ตาม

ปี64 ส่งออกข้าวยังโคม่าคาดทั้งปี 5 ล้านตัน

 

จากปัจจัยต่างๆเหล่านี้น้ำมีน้อยปลูกข้าวไม่ได้ ก็ปลูกได้น้อย ราคาข้าวในประเทศจะราคาสูง รัฐบาลก็เป็นห่วงเกษตรกรมาก อยู่ไม่ได้ก็พยายามจะช่วยเหลือกันประกันรายได้ หมายความว่าข้าว 1 ตันจะได้ 10,000 บาท พอเป็นอย่างนี้กลไกตลาดก็ทำงานไป ทั่วโลกจะเป็นอย่างไร เราแข่งไม่ได้ราคาก็จะลด แต่อีกด้านหนึ่งก็รัฐบาลจะมีเครื่องมือที่ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เท่าที่ประกันรายได้ไว้ เป็นมาตรการที่ดีมาก

 

นายวิชัย กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ส่งออกข้าวปี 2564 ไม่ดี รัฐบาลจีนก็มีสต็อกเกินกว่า 100 ล้านตัน เอาสต็อกเก่ามาระบายไปทั้งแอฟริกาในราคาถูกมาก จีนไม่มีปัญหาเป็นประเทศที่ร่ำรวยมากอยากจะขายเท่าไรก็ได้ แล้วถ้าโควิดหมด อินเดียกลับมาสาหัส เพราะมีสต็อกกว่า 30 ล้านตันอยู่ในมือ เราคงสู้ไม่ได้ ไม่มีทางสู้ คาดการณ์แล้วน่าจะอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านตัน หรือใกล้เคียงปี 2563  ไทยอาศัยบุญเก่ามานานไม่ได้พัฒนา ทั้งเรื่องการลดต้นทุนก็ไม่ได้ทำ การพัฒนาแหล่งน้ำการที่จะมีชลประทานที่ดี หมายความว่า เมื่อไรอยากใช้น้ำก็ต้องมีน้ำ เมื่อไรที่อยากจะปล่อยน้ำต้องปล่อยได้ ตรงนี้รัฐบาลไม่ได้ทำ ใครนาไกลก็ไม่มีน้ำ ส่วนชาวนารายไหนอยู่ใกล้หน่อยก็ต้องไปสูบน้ำ จากนี้ไปก็จะลำบากมากขึ้น

 

เช่นเดียวกับเรื่องพันธุ์ข้าว ตอนหลังสู้เวียดนามไม่ได้แล้ว ขายข้าวตัดหน้าไปหมด ข้าวที่นิ่มและหอมมีพัฒนาหลายพันธุ์ ของไทยแทบจะไม่มีอะไรใหม่ๆ ออกมาเลย ประกอบกับต้นทุนแรงงานก็เพิ่มขึ้น ก้าวกระโดดจากวันละ 200 บาท ปรับเป็น 300 บาท โรงงานที่ผลิตสินค้าต่างก็ย้ายฐานการผลิตไปอยู่ที่เวียดนามมาก แล้วคาดต่อไปอาจจะไปย้ายอยู่เมียนมา เพราะค่าแรงถูกกว่า ก็เข้าใจว่ารัฐบาลอยากจะช่วยคนยากจน อยากจะได้คะแนนเสียง พอช่วยก็กระทบกระเทือนกลายเป็นพิษภัยกับคนยากจนโดยไม่รู้ตัว พอย้ายฐานการผลิตไปก็ตกงาน จากที่พอจะมีงานบ้าง ก็กลายเป็นไม่มีงานเลย ก็ยิ่งทำให้มีความเหลื่อมล้ำกันมากขึ้น

 

อนึ่ง  เว็บไซต์ China Radio International มีรายงานข่าวจากประเทศจีน เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ที่อำเภอเหิงหนาน ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุ์ข้าวของจีน ซึ่งนำโดยศาสตราจารย์ หยวน หลงผิง สมาชิกสภาวิศวกรรมศาสตร์แห่งชาติจีน ประกาศผลสำเร็จในการวิจัยและผลิตข้าวพันธุ์ลูกผสมชนิด 1 ปี ปลูกได้ 2 รอบ รุ่นที่ 3 ซึ่งมีผลผลิตต่อไร่สูงถึง 3,600 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับข้าวเจ้าทั่วไปแล้ว ข้าวพันธุ์ลูกผสมดังกล่าวมีลำต้นโตกว่ารวงข้าวรวงหนึ่งมีข้าวกว่า 600 เมล็ด มากเป็น 3 เท่าของข้าว ปัจจุบันจีนปลูกข้าวพันธุ์ลูกผสมเกิน 104 ล้านไร่ หากพันธุ์ข้าวรุ่นใหม่นี้ผลิตได้มากกว่าไร่ละ 240 กิโลกรัม ก็เท่ากับว่า ทั่วประเทศจะมีผลผลิตข้าวหลายร้อยล้านกิโลกรัม หรือ คิดเป็นครึ่งหนึ่งของปริมาณการเก็บเกี่ยวข้าวสารของมณฑลหูหนานในแต่ละปี

 

อย่างไรก็ตามพื้นที่ปลูกข้าวในจีนคิดเป็น 20% ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมดทั่วโลก ปริมาณการผลิตอยู่ที่ระดับ 200 ล้านตันขึ้นไป ครองสัดส่วน 40% ของปริมาณการผลิตข้าวทั่วโลก ยิ่งไปกว่านั้น จีนใช้พื้นที่เพาะปลูกเพียง 9% ของโลก แต่กลับทำให้ประชากรโลก20% มีธัญญาหารทานอิ่มท้อง

 

อ้างอิงข่าว

thai.cri.cn/20201103/9cd7be4a-9874-5377-9f34-f6f7e44df16f.html