ฉีก! ทีโออาร์ ซ่อนเงื่อน รถไฟฟ้า "สายสีส้ม"

22 ส.ค. 2563 | 08:39 น.

ฉีกทีโออาร์ ซ่อนเงื่อน รถไฟฟ้าสายสีส้ม  มติบอร์ดคัดเลือก ม.36 รฟม. ฟังเสียง “อิตาเลียนไทย” รื้อเกณฑ์ใหม่ ดึงซองเทคนิค พิจารณาร่วมซองราคา เอกชนป่วน “บีทีเอส” ดึงจีนพร้อมสู้ด้านเทคนิค ขณะที่ “ช.การช่าง” ยันรับได้ทุกรูปแบบให้โครงการเดินหน้า

 

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พบพิรุธไอ้โม่งการเมือง มีความพยายามหาประโยชน์ โครงการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม บางขุนนนท์-มีนบุรี ช่วงตะวันตก (บางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรม) หลายครั้ง เริ่มตั้งแต่การเสนอเปลี่ยนจากรูปแบบการลงทุน เอกชนร่วมลงทุนรัฐ หรือ พีพีพี มาเป็นรูปแบบจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อ ลดงบประมาณ กระทั่งเกิดการถกเถียงในวงกว้าง ในที่สุดต้องพ่าย เนื่องจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.หรือสภาพัฒน์) ระบุว่า การลงทุนพีพีพีมีความคุ้มค่ากว่า เมื่อรถไฟฟ้าสายสีส้มใกล้งวดการประมูล ได้เกิดการล็อบบี้กระฉ่อน ให้มีการแก้ไขทีโออาร์ โดยรวมผลงานด้านเทคนิค เข้าไปในซองเดียวกับราคา ส่งผลให้มีเอกชนบางรายคัดค้าน ขณะเดียวกัน การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยประธานบอร์ดคนก่อนของ คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ ตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2562) ออกมา ดับกระแสร้อนว่า ไม่สามารถกระทำได้ ในเวลาต่อมา มีกระแสข่าวกระพืออีกระลอกว่ากลุ่มไอ้โม่งการเมือง ได้เรียกเอกชนผู้ซื้อซอง รถไฟฟ้าสายดังกล่าว ไปหารือให้เกิดการสมยอม ฮั้วประมูล ส่อไปถึงขั้นอาจขอแลกรับผลประโยชน์หากใครได้งาน

 

ชนวนฉีกทีโออาร์
 กระทั่งเกิดชนวนเปลี่ยนเงื่อนไขทีโออาร์ประมูล รถไฟฟ้าสายสีส้ม ครั้งสำคัญ เมื่อ บริษัท อิตาเลียนไทยดีเวล๊อปเม้นต์ จำกัด(มหาชน) หรือ ITD หนึ่งในเอกชนผู้ซื้อซองร่วมลงทุนฯ ทำหนังสือ ร้องไปยัง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ขอเปลี่ยนหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ โดยให้ยึดผลประโยชน์สูงสุดในภาพรวม ทั้งศักยภาพ บริษัท วิธีการทำงาน ความชำนาญการ มากกว่า การพิจารณาซองราคา หรือเรียกว่า การให้นำผลงานด้านเทคนิคมาพิจารณามากกว่าราคา ทั้งนี้ โดยอ้างความปลอดภัยของประชาชนและโครงการที่ยังคงคุณภาพ เมื่อส่งมอบโครงการให้กับรัฐ ซึ่งเรื่องนี้ สคร. ได้ส่งเรื่องให้ รฟม.โดยคณะกรรมการคัดเลือก มาตรา 36 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ล่าสุดมีมติเห็นชอบ ตามข้อเสนอ อิตาเลียนไทย ฉีกเงื่อนไขทีโออาร์เดิม โดยอ้างว่าสามารถเปลี่ยนแปลงได้ หากยังไม่ถึงกำหนดเวลายื่นซอง ทั้งนี้ ได้กำหนดนำซองเทคนิคร่วมกับซองราคา ในสัดส่วน เทคนิค 30% และราคา 70% เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไป ประเมินว่า ตามข้อเท็จจริงแล้ว การพิจารณาเรื่องราคา ยังเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากมีคะแนนมากถึง 70% สูงกว่าเทคนิค ที่เชื่อว่า บริษัทระดับยักษ์ใหญ่ หากผ่านคุณสมบัติมาได้ก็ย่อมมีผลงานด้านเทคนิคที่สูงไม่แพ้กัน ฉีก! ทีโออาร์ ซ่อนเงื่อน  รถไฟฟ้า "สายสีส้ม"

มติร่วมเปลี่ยนTOR
 นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่าคณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 39 (พ.ร.บ.) ร่วมทุนฯ พิจารณาถึงข้อซักถาม และข้อเสนอแนะของเอกชนผู้ซื้อซองรถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางขุนนนท์-มีนบุรี ) มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท รูปแบบ PPP Net Cost (งานโยธา และงานระบบ รวมสัญญา 30 ปี) หลังมีเอกชนแทบทุกรายที่เข้าซื้อซอง มีการส่งหนังสือสอบถามมายังรฟม.ถึงเงื่อนไขการพิจารณา ผู้ผ่านการคัดเลือกอย่างแน่ชัด อีกทั้งยังเกิดกรณี 1 ในเอกชน อิตาเลียนไทยทำหนังสือ เพิ่มข้อเสนอแนะในหลักเกณฑ์พิจารณาอื่นๆ ไปยังสคร.ด้วยนั้น

 

 

 

ย้ำ“เทคนิค-ราคา”คู่กัน
 ส่งผลให้ที่ประชุมบอร์ด คัดเลือกมาตรา 36 มีมติร่วมขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของทีโออาร์ในการประมูลโครงการดังกล่าว โดยจะปรับเกณฑ์พิจารณาซองข้อเสนอซองที่ 2 ด้านเทคนิค และซองข้อเสนอที่ 3 ด้านการเงินควบคู่กันไป แต่ทั้งนี้ยืนยันว่า ไม่ใช่เพื่อเอาใจเอกชนรายใดรายหนึ่งอย่างที่ถูกตั้งข้อสังเกต 
 แต่ที่จะต้องแตกต่างไปจากเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายอื่นๆ นั้น เนื่องจากในปัจจุบัน มีพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ที่เพิ่งออกมา ซึ่งมีหลักเกณฑ์ในการดำเนินการเกี่ยวกับเงื่อนไขการประกวดราคาตามประกาศของคณะกรรมการคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) เมื่อวันที่ 12 พ.ค.2563 ที่ผ่านมา จึงต้องปรับปรุงให้สอดคล้อง และเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของ
โครงการรัฐ

อ้างบทเรียนอุบัติเหตุ
 เนื่องจากสายสีส้ม โดยเฉพาะ ช่วงตะวันตก บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม เป็นระบบขนส่งใต้ดินตลอดทั้งสาย มีอุโมงค์ลอดผ่าน ทั้งช่วงที่เป็นพื้นที่สำคัญ อย่าง เกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นจุดที่อ่อนไหวหากออกแบบไม่ถูกต้อง โครงสร้างอาจได้รับความเสียหายได้ อีกทั้งที่ผ่านมา รฟม.เอง มีบทเรียนหลายแง่ จากการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าสายอื่นๆมาก่อนหน้า จึงได้หยิบยกประเด็นที่เป็นอุปสรรค ปัญหาที่เคยเกิดมาเข้ามาร่วมพิจารณา ซึ่งไม่ได้ขัดต่อ พ.ร.บ การจัดซื้อจัดจ้างอย่างที่เอกชนรายอื่นๆ ระบุ ขณะเดียวกัน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมยังขยายวันยื่นซองจากวันที่ 23 กันยายน เป็นวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 แทน

 

ข่าวเกี่ยวเนื่อง

 ระวังค่าโง่ รถไฟฟ้า ‘สายสีส้มตะวันตก’  ติดหล่มเวนคืน 

 

“บีทีเอส” ดับเครื่องชน รถไฟฟ้าสายสีส้ม

จับพิรุธ ! เปลี่ยนเงื่อนไข “TOR” ประมูล รถไฟฟ้า สายสีส้ม

“อิตาเลี่ยนไทย” ทำพิลึก ประมูล รถไฟฟ้า สายสีส้ม เลิกเน้นราคา

“ITD” อ้าง รถไฟฟ้า“สายสีส้ม” เทคนิคขั้นสูง ทีโออาร์ อย่ายึดราคาประมูล

บีทีเอสผนึกจีน
 อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกัน กลุ่มบีทีเอส ตัวเต็งชิงประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ได้เดินทางยื่นหนังสือ ที่ รฟม. และยืนยันว่า ควรยึดเกณฑ์ทีโออาร์เดิมคือ หากผ่านซองเทคนิค แล้ว ควรตัดสินที่ซองราคา เนื่องจากหลายโครงการอย่างรถไฟฟ้าสายสีชมพู สายสีเหลือง หรือแม้แต่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ต่างวัดที่เกณฑ์ แหล่งข่าวจากบีทีเอส กรุ๊ป ระบุว่า ขณะนี้ ยังหาช่องเจรจาว่าจะมีทางออกอย่างใด แต่ทั้งนี้ จะแข่งขันสู้กับคู่แข่งโดยเฉพาะ ได้ผนึกกับพันธมิตรจีน ที่มีความชำนาญด้านอุโมงค์ใต้ดินซึ่งหากชนะประมูล จะต้องตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาแต่บริษัท
แม่ยังต้องคํ้าประกันกับรฟม.เช่นเคย

ช.การช่างรับได้หมด
 แหล่งข่าวบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ระบุว่า บริษัท พร้อมที่จะยื่นประมูลสู้ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มทุกช่องทาง ไม่ว่า เงื่อนไข ทีโออาร์ ใหม่ จะยึดราคาเป็นตัวตั้งหรือใช้เทคนิคเป็นมาตรฐานในการประมูล ขึ้นอยู่กับหน่วยงานของรัฐจะกำหนดออกมาขอเพียงให้การประมูลโครงการนี้เกิดขึ้นได้จริง อย่าทำให้กระบวนการใช้วิธีร้องกันไปร้องกันมาก่อนการประมูลทำให้เกิดความล่าช้า