อานิสงส์โควิด ไทยลุ้นแซงเบลเยียม ผงาดท็อป 10 อาหารโลก

19 ก.ค. 2563 | 06:40 น.

เอกชนลุ้นอานิสงส์โควิด ไทยเบียดแซงเบลเยียม ผงาดท็อป10 ส่งออกอาหารโลก คาดปีนี้ส่งออกได้ 1.05-1.07 ล้านล้านบาท ชูไก่ ทูน่า ผลไม้ อาหารสัตว์เลี้ยง เครื่องปรุงรสพระเอก

 

ตัวเลขการส่งออกสินค้าอาหารภาพรวมของไทยช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 ส่งออกได้แล้ว 437,310 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.3% สินค้าอาหารส่งออกรายการสำคัญของไทยที่ยังขยายตัวได้ดีในช่วงที่โลกยังเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศ ได้แก่ ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ทูน่ากระป๋อง สับปะรดกระป๋อง ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง อาหารสัตว์เลี้ยง และเครื่องปรุงรส (กราฟิกประกอบ) และคาดหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายลงในหลายประเทศ คำสั่งซื้อสินค้าอาหารจากไทยจะมีเพิ่มขึ้นเพราะเป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน

 

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า คาดการณ์ส่งออกอาหารของไทยในปี 2563 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 3-5% หรือมีมูลค่าประมาณ 1.05-1.07 ล้านล้านบาท จากปี 2562 มีมูลค่าส่งออก 1.02 ล้านล้านบาท ผลพวงจากสินค้าอาหารส่งออกในกลุ่มหลักข้างต้นยังขยายตัวได้ เฉพาะอย่างยิ่งที่ยังขยายตัวได้ดีในช่วงโควิดได้แก่ ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้งที่ผู้บริโภคในต่างประเทศให้ความสนใจซื้อหาเพิ่มขึ้นจากมีผลดีต่อสุขภาพ รวมถึงสินค้าไก่ ทูน่ากระป๋อง เครื่องปรุงรสที่ซื้อตุนเพื่อไว้ปรุงอาหารทานเองที่บ้านมากขึ้น จากเป็นสินค้าจำเป็น และหลายพื้นที่ในหลายประเทศยังมีการล็อกดาวน์

อานิสงส์โควิด  ไทยลุ้นแซงเบลเยียม  ผงาดท็อป 10 อาหารโลก

 

อานิสงส์โควิด  ไทยลุ้นแซงเบลเยียม  ผงาดท็อป 10 อาหารโลก

 

“นอกจากนี้ยังมีอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงที่ขยายตัวได้ดีในช่วงสถานการณ์โควิดและในช่วงปกติ เพราะคนอยู่กับบ้าน และมีเวลาอยู่กับสัตว์เลี้ยงหมา แมว และอื่นๆ มากขึ้น ข้าวโพดหวานกระป๋องก็มีโอกาสโตเชิงมูลค่า แต่ด้านปริมาณอาจไม่โตจากวัตถุดิบลดลงจากภัยแล้งและหนอนกระทู้ ส่วนสินค้าที่คาดว่าจะยังติดลบในปีนี้ เช่น น้ำตาลทรายจากมีการแข่งขันสูงกับบราซิลที่เป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลกที่ก่อนหน้านี้เขาเอาอ้อยไปทำเอทานอล แต่พอราคาน้ำมันในตลาดโลกตกต่ำก็นำอ้อยมาทำน้ำตาลมากขึ้น ทำให้ซัพพลายน้ำตาลทรายโลกเพิ่มและราคาตก”

 

นายวิศิษฐ์ กล่าวอีกว่า ในปีนี้ไทยมีลุ้นแซงเบลเยียมขึ้นไปอยู่ใน 10 อันดับแรกของประเทศผู้ส่งออกอาหารของโลก (ปี 2562 เบลเยียมเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับ 10 ของโลก มูลค่า 38,335 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากปีก่อน 4.7% และมีส่วนแบ่งตลาดโลก 2.91% ส่วนไทยอยู่อันดับ 11 มูลค่าส่งออก 33,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 0.2% จากปีก่อน และมีส่วนแบ่งตลาด 2.51%) ทั้งนี้ผลจากเบลเยียมจะค้าขายและส่งออกอาหารไปยังประเทศในยุโรปเป็นหลัก ซึ่งเวลานี้ประเทศในยุโรปส่วนใหญ่เศรษฐกิจชะลอตัวจากผลกระทบโควิด-19 ทำให้มีกำลังซื้อลดลง คาดปีนี้เบลเยียมจะส่งออกอาหารได้ลดลง โดยสินค้าอาหารส่งออกรายการสำคัญของเบลเยียม ได้แก่ ของปรุงแต่งจากพืชผัก ผลไม้ ถั่ว, เครื่องดื่ม สุรา และน้ำส้มสายชู, ผลิตภัณฑ์นมเนย, ของปรุงแต่งจากัญพืช แป้งและนม และโกโก้และของปรุงแต่งจากโกโก้ เช่นช็อกโกแล็ต เป็นต้น

 

 

“สินค้าอาหารของเบลเยียมส่วนใหญ่ราคาสูง ขณะที่สินค้าอาหารของไทยโดยภาพรวมแม้จะมีราคาต่ำกว่า แต่ก็มีความหลากหลายและสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคในช่วงโควิด และในช่วงปกติได้ดีกว่า และไปได้ในทุกตลาด ไม่ว่าจะเป็น กุ้ง ไก่ น้ำตาล ทูน่า อาหารทะเลกระป๋อง ผลไม้เมืองร้อน และอื่นๆ ดังนั้นในปีนี้ไทยมีโอกาสลุ้นสูงที่จะแซงเบลเยียมขึ้นไปอยู่ 1 ใน 10 อันดับแรกของผู้ส่งออกอาหารโลก”

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,593 วันที่ 19 - 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2563