เบื้องลึก "Travel Bubble" เปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวอย่างจำกัด

24 มิ.ย. 2563 | 21:20 น.

Travel Bubble การเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวอย่างจำกัด เปิดเบื้องลึก ศบค. ถกเข้มแผนรับมือ ลุ้น 10 ประเทศติดโผกลุ่มแรก พุ่งเป้า 2 กลุ่มหลัก “นักธุรกิจ-กลุ่มผู้รับบริการตรวจรักษาทางการแพทย์”

Travel Bubble หรือ การเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวอย่างจำกัด โดยเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างสองประเทศที่สามารถจัดการเรื่องโรคโควิด-19 ได้ดีในระดับที่ใกล้เคียงกัน ความหวังของภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย กลไกสำคัญที่จะเข้ามาขับเคลื่อน พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยให้กลับมาคึกคักได้อีกครั้ง คาดหมายกันว่า ในการประชุม คณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ในวันศุกร์ที่ 26 มิถุนายนนี้จะมีการพิจารณาเรื่องนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติ   

อย่างไรก็ดี ในการประชุม ศบค.ที่ผ่านมานั้น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงการต่างประเทศ จัดทำแนวทางในการปฏิบัติซึ่งใช้ประกอบการพิจารณาอย่างรอบด้านเสนอให้กับ ศบค. ประกอบการตัดสินใจ ซึ่งได้หยิบยกตัวอย่างประเทศที่ทำ Travel Bubble  เช่น สิงคโปร์ที่ดำเนินการกับจีนในบางเมือง อิสราเอลดำเนินการกับกรีซ/ไซปรัส ประเทศในกลุ่มบอลติก 3 ประเทศ คือ เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิธัวเนีย ซึ่งดำเนินการภายในกลุ่ม และออสเตรเลียที่ได้ดำเนินการกับนิวซีแลนด์

พร้อมถอดโมเดลการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวของประเทศจอร์เจียเพื่อใช้เป็นแนวทางประกอบการพิจารณากำหนดเป็นมาตรการเพื่อขับเคลื่อนในเรื่องนี้ไว้รวม 5 ข้อ 

1.การสร้างภาพลักษณ์การท่องเที่ยวในยุคโควิด –19 / Post-โควิด-19 ชูจุดแข็งของประเทศด้านสาธารณสุขและการฟื้นความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งท่องเที่ยวหลังจากที่มีการล็อกดาวน์มาระยะหนึ่ง

2.เลือกนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมาย โดยกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศในแต่ละเดือน

3.กำหนดจำนวนเที่ยวบินและเส้นทางการบิน กำหนดพื้นที่ปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว (Safe Zone for Tourism) ซึ่งหมายถึงเมืองหลักและเมืองรองที่เต็มใจต้อนรับนักท่องเที่ยว ให้กำหนดแหล่งท่องเที่ยวภายในเมืองของตน

4.การ Check-in และ Check-out ก่อนมา ตรวจรับรองCOVID-19 free มีใบรับรองแพทย์ Fit to Fly มีการซื้อประกันสุขภาพที่รับรองว่า ปลอดเชื้อโควิด-19 และเมื่อมาถึงมีการตรวจหาเชื้อโดยวิธี Rapid Test

5.การวางมาตรการ Safe Hospitality Service โรงแรม ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว มีระบบ Digital ในการติดตามตัวโดยให้โหลดแอปพลิเคชันใช้ตลอดการเดินทาง

ส่วนแนวทางการดำเนินการ Travel Bubble ของไทยนั้นกำหนดไว้ ดังนี้

1.เลือกเป้าหมายจากประเทศที่สามารถคุมการระบาดของโควิด-19ได้ดีโดยพิจารณาจากเกณฑ์ข้อกำหนดและคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข

2.ต้องมีมาตรการตรวจหาเชื้อและป้องกันอย่างเข้มงวดโดยต้องตรวจเชื้อโควิด-19ก่อนเดินทางออกจากประเทศต้นทางและตรวจอีกครั้งเมื่อเดินทางเข้าไทยและต้องซื้อประกันโควิด-19เพื่อไม่ให้เป็นภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลหากเกิดการติดเชื้อและต้องเข้ารักษาตัวในระหว่างอยู่ในประเทศไทย

3.นักท่องเที่ยวจะไม่ถูกกักตัวแต่ต้องยินยอมให้มีการติดตามตัว (Track & Trace) ผ่านแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือชื่อ Digital Health Passport หรือหนังสือเดินทางสุขภาพ ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในประเทศไทย และต้องเข้า-ออกตามระยะเวลาที่แจ้งไว้อย่างเคร่งครัด โดยเป็นการรับผิดชอบของผู้รับประกัน (Guarantor)โดยแอปพลิเคชันดังกล่าวนั้นเป็นการบันทึกข้อมูลสุขภาพ ช่วยเฝ้าระวังและประเมินความเสี่ยง แจ้งระดับความเสี่ยง ยืนยันความปลอดภัยของ ผู้เดินทาง เสริมสร้างความมั่นใจให้ทั้งผู้ให้-ผู้รับบริการ และไม่ละเมิดสิทธิการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล

4.อาจกำหนดพื้นที่ปิด (Sealed Area) เป็น Safe Zone for Tourism โดยพิจารณาจากแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่เมืองหลักและเมืองรองที่ประชาคมเต็มใจยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยว ต่างชาติให้เข้ามาพำนักและท่องเที่ยว

5.วางมาตรการ Safe Hospitality Services ในห่วงโซ่อุปทาน เช่น แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร ต้องได้รับมาตรฐาน Safety & Health Administration (SHA) ที่รับรอง โดยกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

6.พิจารณาผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศ โดยกลุ่มแรกจะเป็นนักธุรกิจ และนักท่องเที่ยวในกลุ่มเดินทางเพื่อการแพทย์และสุขภาพ (ไม่ใช่กรณีเข้ามาเพื่อรักษาโควิด-19 ในประเทศไทย) เมื่อดำเนินการสักระยะหนึ่งและสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ดี จึงจะพิจารณาให้นักท่องเที่ยวทั่วไปที่เดินทางมาเป็นคณะเข้ามาโดยเป็นกลุ่มขนาดเล็ก หลังจากนั้น จึงจะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวอิสระ (Free Individual Traveler -FIT)

7.สำหรับประเทศเป้าหมาย Travel Bubble ในระยะแรกของไทย ประกอบด้วย จีน (รวมฮ่องกง มาเก๊า) เวียดนาม สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และ ประเทศในตะวันออกกลาง ทั้งนี้ อาจเริ่มพร้อมกันหลายประเทศในลักษณะเป็น Group Bubble

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เอกชนมั่นใจ "เที่ยวปันสุข" กับ "Travel Bubble" ปลุกเศรษฐกิจคึกคัก

ลุ้น "Travel Bubble" ศบค.ชุดเล็กเคาะวันนี้ จับคู่ประเทศเที่ยวอย่างจำกัด

สำหรับกลุ่มเป้าหมาย Travel Bubble ของไทยในระยะแรกนี้กำหนดไว้ 2 กลุ่ม คือ

1.กลุ่มนักธุรกิจ (Business Travelers) เนื่องจากเป็นผู้ที่มีศักยภาพทางการใช้จ่ายโดยเฉลี่ยสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปสามารถตัดสินใจเดินทางได้ทันทีเป็นลำดับต้นๆเป็นการสร้าง และขยายโอกาสจากนโยบายส่งเสริมการค้าการลงทุนโดยต้องมีหนังสือรับรองจากบริษัท

2.กลุ่มผู้รับบริการตรวจรักษาทางการแพทย์ (Medical Tourists) เนื่องจากเป็นผู้ที่มีศักยภาพทางการใช้จ่ายโดยเฉลี่ยสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปมีความจำเป็นในการเดินทางเป็นลำดับต้น ๆ มีฐานตลาดกลุ่มรักษาสุขภาพจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเมียนมา กัมพูชา โดยต้องมีหนังสือรับรองจากโรงพยาบาล

ทั้งนี้ สำหรับประเทศเป้าหมายในระยะแรกนั้นได้มีการหารือกับภาครัฐทั้งฝ่ายพาณิชย์และการท่องเที่ยวกับประเทศจีน (รวมฮ่องกง มาเก๊า) และเวียดนามแล้ว ขณะที่ประเทศที่อยู่ระหว่างการหารือ ได้แก่ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ตะวันออกกลาง สปป.ลาว เมียนมา และกัมพูชา

อย่างไรก็ดี มีรายงานจากกระทรวงการต่างประเทศว่า ได้รับการติดต่อจาก ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฮ่องกง ที่แสดงความสนใจเกี่ยวกับแนวทาง Travel Bubble/Fast Track เช่นเดียวกัน โดยจำกัดเฉพาะนักธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญ หรือข้าราชการ ก่อนต่อยอดสู่การท่องเที่ยวจึงขอความเห็นชอบให้กระทรวงการต่างประเทศหารือกับประเทศที่ทาบทามไทยรวมทั้งประเทศอื่นๆที่จะทาบทามในอนาคตด้วย

นอกจากนี้ที่ประชุมได้ให้ข้อสังเกตเอาไว้อีกหลายเรื่อง เช่น หนังสือเดินทางสุขภาพ (Digital Health Passport Application) มีส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการด้านมาตรฐานสาธารณสุข และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นด้านการให้บริการกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าประเทศในอนาคต

เรื่องของความเร็วของอินเทอร์เน็ตที่มีส่วนสำคัญในการดึงดูดให้นักธุรกิจและครอบครัวเดินทางเข้ามาปฏิบัติงานและท่องเที่ยวในประเทศ เห็นว่า ประเทศไทยควรสร้างความพร้อมเพื่อรองรับคนกลุ่มดังกล่าว โดยมอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในมาตรการ Travel Bubble ด้วย ทั้งในส่วนของการพัฒนาความเร็วอินเทอร์เน็ตและการใช้แอปพลิเคชันติดตามตัวเพื่อให้ได้มาตรฐานในส่วนของการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลด้วย