เอกชนมั่นใจ "เที่ยวปันสุข" กับ "Travel Bubble" ปลุกเศรษฐกิจคึกคัก

18 มิ.ย. 2563 | 02:50 น.

เอกชนหนุนรัฐบาลเร่งผลักดันการท่องเที่ยวทั้ง “เที่ยวปันสุข-Travel Bubble” หวังกระตุ้นกำลังซื้อทั้งในและต่างชาติฟื้น ปลุกเศรษฐกิจครึ่งหลังคึกคัก

นายชาย ศรีวิกรม์ นายกสมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ (RSTA) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงนโยบาย “เที่ยวปันสุข" กับ "Travel Bubble”  ว่า รัฐบาลต้องให้ความสำคัญด้านการท่องเที่ยว โดยกำหนดทิศทางให้ชัดเจนแบบรอบด้าน โดยเฉพาะโครงสร้างของซัพพลายเชนด้านการท่องเที่ยว ว่านักท่องเที่ยวเมื่อมาแล้วจะพักที่ไหน เที่ยวที่ไหน และมีมาตรการควบคุมหรือแก้ปัญหาได้ทันทีเมื่อเกิดการแพร่ระบาด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับทุกฝ่าย

วันนี้ประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่ปลอดภัย ดังนั้นการจะเดินหน้าโครงการ Travel Bubble หรือการเปิดประเทศด้วยการท่องเที่ยวแบบจับคู่เดินทางกับประเทศที่ควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ จีน ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น โดยรัฐบาลสามารถทำในรูปแบบ G2G (Government to Government) กำหนดขั้นตอนและรายละเอียดร่วมกัน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

"เที่ยวปันสุข" ได้ข้อสรุปแล้ว รับสิทธิ 3 เด้ง "แจกเงินเที่ยว" เช็กด่วน

“ลงทะเบียนเที่ยวปันสุข” แนะโหลด "แอปเป๋าตัง” ลงทะเบียนรับเงินเที่ยว

ลงทะเบียน “เที่ยวปันสุข” มาเป็นครอบครัว ทำไง ให้ได้รับสิทธิ์

ขณะที่การท่องเที่ยวในประเทศ "เที่ยวปันสุข" ก็จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายได้ โดยพบว่าตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงปัจจุบัน มีผู้คนเข้ามาภายในย่านนี้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 100% ในแต่ละเดือน อย่างไรก็ดี RSTA ได้วางแผนและดำเนินการในมาตรการต่างๆ ทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจแบ่งออกเป็น 3 เฟส คือ

เฟส 1 การสร้างมาตรฐานความสะอาด เป็นพื้นที่ปลอดโควิด-19 เพื่อเป็น Model Flagship ให้แก่พื้นที่สาธารณะกึ่งแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ได้ใช้เป็นกรณีศึกษา

เฟส 2 โปรเจ็กต์ Stronger Together : Arts from the Heart ในช่วงเดือนมิถุนายน -สิงหาคม 2563 เพื่อดึงนักท่องเที่ยวคนไทย มาชมงานศิลปะในย่านราชประสงค์ และเฟส 3 ในช่วงปลายปี คือการจัดแคมเปญรองรับ Travel Bubble

ด้านนายณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น กล่าวว่า เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจในประเทศคึกคักรัฐบาลต้องส่งเสริม และผลักดันทั้งด้านการช็อปปิ้งและท่องเที่ยว ซึ่งเป็นกลไลเดียวที่จะทำให้เกิดการบริโภค ทั้งไทยเที่ยวไทย และ Travel Bubble เพราะวันนี้ประเทศไทยยังต้องการนักท่องเที่ยวต่างชาติ จึงควรเริ่มดำเนินการจับคู่ เตรียมความพร้อม และวางแผนให้ดีตั้งแต่ไตรมาส 3 เพื่อกระตุ้นให้ไตรมาส 4 กลับมาคึกคัก

“การจับคู่กับต่างชาติเพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวระหว่างกัน ต้องเตรียมความพร้อม รัดกุม และเชื่อมั่นได้ว่าจะปลอดภัย ขณะที่ในประเทศเอง มาตรการต่างๆ ต้องมีพร้อมกับการส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวซึ่งเชื่อว่าทั้ง 3 มาตรการที่ออกมาจะช่วยให้คนไทยกลับมามีชีวิตชีวา และเศรษฐกิจในประเทศก็กลับมาคึกคักได้อีกครั้ง”

ทั้งนี้ที่ประชุมครม. เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 ได้เห็นชอบ 3 แพ็คเกจกระตุ้นการท่องเที่ยว ประกอบด้วย

แพ็คเกจ “กำลังใจ” เปิดให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จำนวน 1.2 ล้านคน ท่องเที่ยวและศึกษาดูงานต่างจังหวัดฟรีไม่เกิน 2,000 บาท โดยรัฐใช้งบประมาณ 2,400 ล้านบาท คาดว่าจะเกิดรายได้หมุนเวียนอย่างน้อย 6,500 ล้านบาท

แพ็คเกจ “เราไปเที่ยวกัน” เปิดให้นักท่องเที่ยว จองโรงแรม/ห้องพักผ่านเว็บไซต์และจ่ายเพียง 60% ส่วนรัฐบาลสนับสนุนจ่ายค่าห้องพักให้ 40% แต่ไม่เกิน 3,000 บาท/ห้อง/คืน และยังได้รับ อี-วอลเชอร์ ผ่านแอพเป๋าตังค์ จำนวน 600 บาทต่อคืน (สูงสุดไม่เกิน 5 คืน) โดยรัฐใช้งบ 18,000 ล้านบาท 

แพ็กเกจ “เที่ยวปันสุข” เพื่อช่วยเหลือสายการบินต้นทุนต่ำ โดยทุกสายการบินในไทย จะนำตั๋ว 2 ล้านใบ มาเสนอขายในราคาพิเศษ เบื้องต้นเสนอราคาค่าตั๋วเครื่องบินอยู่ที่ 2,500 บาท (ไป-กลับ) รัฐจะสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบิน 40% ไม่เกิน 1,000 บาท1 คน 1 สิทธิ โดยรัฐใช้งบ 2,000 ล้านบาท คาดว่าจะกระตุ้นให้เกิดการเดินทาง 2 ล้านคน-ครั้งในช่วง 4 เดือน รวมทั้ง 3 แพ็กเกจรัฐบาลจะใช้งบรวม 22,400 ล้านบาท 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,584 วันที่ 18 - 20 มิถุนายน พ.ศ. 2563