ลุ้น "Travel Bubble" ศบค.ชุดเล็กเคาะวันนี้ จับคู่ประเทศเที่ยวอย่างจำกัด

17 มิ.ย. 2563 | 03:48 น.

เลขาสมช.นั่ง หัวโต๊ะ ประชุมศบค.ชุดเล็ก วันนี้ หารือเกณฑ์เปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวอย่างจำกัด หรือ  Travel bubble เพื่อจับคู่ประเทศที่ปลอดโควิด

วันนี้(17 มิ.ย.63) ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ ศบค.ชุดเล็ก ที่มี  พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะประธานนัดประชุมหารือถึงแนวทางการเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวอย่างจำกัด หรือ ทราเวล บับเบิ้ล (Travel Bubble) ซึ่งเป็นการจับคู่ประเทศ ให้กลุ่มนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ เข้ามาท่องเที่ยวภายใต้มาตรการของรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ Travel Bubble นั้น หลังจากเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ที่ผ่านมาในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ยังไม่มีการเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุมครม. เนื่องจากต้องการให้ผ่านความเห็นชอบจากศบค.ชุดเล็กก่อน  แล้วจึงจะนำเสนอผ่านศบค.ชุดใหญ่อีกรอบ เพราะก่อนหน้านี้ศบค.ชุดใหญ่ เพียงแค่อนุมัติในหลักการ แต่ให้นำมาหารือในรายละเอียด แล้วจึงจะนำเสนอต่อครม.ต่อไป

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา มั่นใจในศักยภาพด้านการท่องเที่ยวและการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ของไทย จึงได้ผลักดัน travel bubble หรือ การจับคู่ประเทศ เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างประเทศที่สามารถจัดการโรคโควิด-19 ได้ดีเท่าๆ กัน ซึ่งเป็นความร่วมมือในลักษณะทวิภาคีด้านการท่องเที่ยวแบบใหม่ที่ทั่วโลกกำลังหันมาสนใจ ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ในหลายๆ ประเทศเริ่มดีขึ้น

โดยล่าสุด ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)ได้เห็นชอบในหลักการ Travel Bubble แล้ว ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นของการหารือระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และ กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อหาข้อสรุปในแนวทางการดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็น แนวทางการเจรจากับประเทศกลุ่มเป้าหมาย ข้อปฏิบัติต่างๆ รวมถึงการเฝ้าระวังโรคระบาด ก่อนเสนอ ศบค.พิจารณาอีกครั้งในวันที่ 17 มิ.ย.นี้

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า อย่างที่ทราบว่าเศรษฐกิจไทยและทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงหวังให้ travel bubble เป็นจุดเริ่มต้นในการรองรับชาวต่างชาติที่จะเข้ามาในประเทศไทย โดยไทยมีจุดแข็งในการรับมือกับโรคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ระยะแรกจะเปิดรับกลุ่มนักธุรกิจและกลุ่มที่ต้องการเข้ามารักษาพยาบาลในไทย คาดว่า จะมีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาประมาณวันละ 1,000 คน ซึ่งเมื่อดำเนินการไปสักระยะหนึ่ง แล้วพบว่า สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดี ก็จะพิจารณาให้นักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆ เข้ามาตามลำดับ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หนักใจ "Travel Bubble" ศบค.โชว์ตัวเลขทั้งโลกติดโควิดเพิ่มหลักแสน

จับตา 4 เทรนด์ใหม่ ‘ท่องเที่ยวไทย’ หวังรายได้ 1.2 ล้านล้าน

“Travel Bubble” เสี่ยง แต่(ต้อง)คุมได้

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การเปิดรับนักท่องเที่ยวตามแนวทาง travel bubble จะไม่มีการกักตัว 14 วัน แต่มีมาตรการอื่นรองรับ เพื่อสร้างความไม่มั่นใจในความปลอดภัย โดยเริ่มจากการเลือกประเทศกลุ่มเป้าหมายที่มีความปลอดภัย สามารถควบคุมโรคได้ดี ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ก่อนเดินทางออกจากประเทศต้นทาง และตรวจอีกครั้งเมื่อเดินทางถึงไทย อาจกำหนดพื้นที่ซึ่งนักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางไปได้ มีการติดตามตัวผ่านแอปพลิเคชันตลอดเวลาที่อยู่ในเมืองไทย ฯลฯ ที่สำคัญ ชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในไทยนั้น ล้วนมาจากประเทศที่มีความสามารถรับมือกับโควิด-19 ได้ดีเท่าๆ กัน

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ประเทศไทยมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวค่อนข้างสูง แม้เจอสถานการณ์โควิด-19 แต่ก็สามารถรับมือได้เป็นอย่างดี จึงเชื่อว่า ด้วยศักยภาพด้านการท่องเที่ยวและความสามารถด้านสาธารณสุขของไทย จะกระตุ้นให้ชาวต่างชาติมองเป็นจุดแข็งของประเทศไทยได้ดียิ่งขึ้น และการท่องเที่ยวจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็ว เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกเริ่มดีขึ้น