ถอดรหัสแสนล้าน เจ้าสัวคิงเพาเวอร์

22 มิ.ย. 2559 | 03:00 น.
การฮุบสายการบินไทยแอร์เอเชีย ของเจ้าสัว คิงเพาเวอร์ "วิชัย ศรีวัฒนประภา" เป็นความเคลื่อนไหวในเชิงธุรกิจก้าวสำคัญอีกครั้ง หลังก่อนหน้านั้นไม่นานทีมสโมสร เลสเตอร์ ซิตี้ ที่เขาเป็นเจ้าของได้คว้าแชมป์ พรีเมียร์ลีก เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 100 ปี เป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก สะท้อนวิสัยทัศน์ผู้บริหารที่นอกจากได้กล่องแล้ว ยังสร้างมูลค่าให้กับสโมสรเป็นหมื่นล้านในเวลา 5 ปีเศษ

[caption id="attachment_64019" align="aligncenter" width="700"] คาดการณ์รายได้กลุ่มคิงเพาวเวอร์และครอบครัว ศรีวัฒนประภา ปี 2560 คาดการณ์รายได้กลุ่มคิงเพาวเวอร์และครอบครัว ศรีวัฒนประภา ปี 2560[/caption]

ล่าสุด(14 มิ.ย.59) เจ้าสัววิชัย ใช้เม็ดเงินร่วม 2 หมื่นล้านบาทในการเข้าซื้อหุ้นของบริษัท เอเซีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน)หรือ AAV เจ้าของสายการบินไทยแอร์เอเชีย 39% คิดเป็นมูลค่า 7,945 ล้านบาท ล็อตแรกจาก ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ และครอบครัว เงินก้อนนี้ระบุว่าเป็นของครอบครัวและจะตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้นสามัญทั้งหมด (Mandatory Tender Offer) ที่เหลืออีก 60% ในราคา 4.2 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่า1.2 หมื่นล้านบาท โดยมีแบงก์ไทยพาณิชย์ให้การสนับสนุน

วางหมากกินรวบตลาดทัวร์จีน

การทุ่มเม็ดเงินจำนวนมหาศาลครั้งนี้ แน่นอนว่าต้องแลกมาด้วยผลตอบแทนที่คุ้มค่า และโดยส่วนตัวเจ้าสัววิชัย บอกว่าอยากทำธุรกิจสายการบินมานานแล้ว และคิงเพาเวอร์เคยถือหุ้น 5% ในสายการบินนกแอร์ แต่จำนวนหุ้นที่น้อยเกินไปทำให้ไม่สามารถมีสิทธิ์มีเสียงในการบริหารเขาจึงขายทิ้ง กระทั่งมาดีลกับไทยแอร์เอเชียสำเร็จ

โดยธุรกิจดั่งเดิมเมื่อ 27ปี ของครอบครัว"ศรีวัฒนประภา" หรือรักศรีอักษรเป็นเจ้าของสัมปทานดิวตี้ฟรี ที่กินรวบทั้งในเมืองและสนามบินหลัก ทั้งร้านค้าดิวตี้ฟรีและสายการบินเป็นธุรกิจที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวไทยโดยตรงและยังสามารถต่อยอดสร้างรายได้ปั้นแบรนด์ไทยสู่เวทีโลกได้ไม่ยากโดยใช้เลสเตอร์ ซิตี้เป็นหัวหอก ในเชิงของสปอร์ตมาร์เก็ตติ้ง

ดังนั้นเป้าหมายการเป็นเจ้าของสายการบิน "วิชัย" จึงมุ่งไปที่ตลาดทัวร์จีน 120 ล้านคนที่เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ ปีนี้คาดว่าตลาดทัวร์จีนจะมาเที่ยวประเทศไทยถึง 10 ล้านคน ในจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่มาเมืองไทย 6-7 ล้านคนเป็นลูกค้าของ คิงเพาเวอร์ ขณะที่ ไทยแอร์เอเชีย มีผู้โดยสาร 17 ล้านคน และ 20 % ของจำนวนผู้โดยสารก็คือตลาดทัวร์จีนเช่นกัน

"อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา" ทายาทคิงเพาเวอร์ สะท้อนมุมมองว่าธุรกิจดิวตี้ฟรีและสายการบิน เมื่อรวมกันจะทำให้เกิดกลยุทธการต่อยอดทางธุรกิจที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการขยายฐานนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งคิงเพาเวอร์และไทยแอร์เอเชีย มีฐานลูกค้าหลักกลุ่มนี้อยู่ในมือ ในอนาคตสามารถขยายช่องทางในการนำนักท่องเที่ยวจีนมาไทยและเพิ่มช่องทางในการขายสินค้าดิวตี้ฟรีได้เพิ่มขึ้นจากความร่วมมืออื่นๆ ที่จะตามมา

AAVถึงจุดสูงสุดต้องมีคอนเนกชันใหม่

สอดคล้องกับ"วิชัย ศรีวัฒนประภา" ประธานกรรมการกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ฯ ให้เหตุผลว่า ที่ตัดสินใจลงทุน เนื่องจากมองว่าจะเป็นการผนึกกำลังความเชี่ยวชาญ ของทั้ง 2 ธุรกิจที่มีพื้นฐานการเติบโตปีละ 20-25% ต่อยอดธุรกิจได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย จากการผนึกความเชี่ยวชาญในการทำงานร่วมกันหรือการซินเนอร์ยีธุรกิจที่จะเกิดขึ้น

"ที่ผ่านมาทัวร์จีนเคยขอให้เราเพิ่มไฟลต์บินจากหลายมณฑล เข้าอู่ตะเภา ภูเก็ต ซึ่งในอนาคต ไทยแอร์เอเชียรับมอบเครื่องบินมากขึ้นจากปีนี้มีอยู่ 51 ลำ มีแผนรับมอบอีก 5 ลำก็จะเอื้อให้ในการเปิดเส้นทางบินใหม่ คิงเพาเวอร์ก็จะขายสินค้าได้เพิ่มขึ้น"

ขณะเดียวกันคิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ยังมีแผนลงทุนอีก 5,000 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงใหญ่สาขาซอยรางน้ำ แบ่งพื้นที่ออกเป็นสัดส่วน รองรับตลาด คนไทย ญี่ปุ่น อาเซียน และเอฟไอที ขณะที่ลูกค้ากลุ่มทัวร์อย่างตลาดจีนจะแยกไปลงที่ สาขาซอยศรีวารี ซึ่งมีแผนลงทุนเฟส 2 ขยายพื้นที่เพิ่มอีก 1 หมื่นตารางเมตร จากเดิมที่รองรับนักท่องเที่ยวเฉลี่ยวันละหมื่นคน

ด้าน ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย ก็ยอมรับธุรกิจการบินแข่งขันสูง และวันนี้เขามาถึงจุดสูงสุดแล้ว ทั้งส่วนเส้นทางบินในประเทศ และต่างประเทศที่ครอบคลุมจุดบินในอาเซียนและจีน ที่ผ่านมาใช้คอนเนกชันต่างๆ ขยายฐานลูกค้าจนหมด เพื่อรักษาอัตราการเติบโตให้ได้ปีละ 20 % ต่อปี ต้องมองเรื่องการต่อยอดเพื่อให้ได้คอนเนกชันใหม่ ๆ

อย่างไรก็ดี ความเคลื่อนไหวของกลุ่มคิงเพาเวอร์น่าจับตา นับตั้งแต่การซื้อทีมสโมสร เลสเตอร์ ซิตี้เมื่อปี 2553 ด้วยลงทุนราว 100 ล้านปอนด์หรือราว 5,300 พันล้านบาท ขณะนี้มูลค่าเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาทและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นซึ่งขึ้นอยู่กับว่าจะติดแชมป์พรีเมียร์ลีกนานแค่ไหน ทั้งยังมีแผนการขยายที่นั่งชมจาก 3.2 หมื่นที่นั่งเป็น 4.2หมื่นที่นั่งและสร้างโรงแรมห้าดาวรองรับแฟนบอล

ประเมินรายได้ทั้ง 3 ธุรกิจหลักของกลุ่มคิงเพาเวอร์และครอบครัวเจ้าสัววิชัยน่าจะอยู่ที่ 1.45 แสนล้านบาท ในปี 2560 โดยมาจากธุรกิจดิวตี้ฟรี ปีนี้ตั้งไว้ที่ 8.5 หมื่นล้านบาท ปีหน้าตั้งเป้า 1 แสนล้านบาท รายได้จากเลสเตอร์ ซิตี้ จะอยู่ราว 1 หมื่นล้านบาทในปีนี้ และปีหน้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 หมื่นล้านบาท จากส่วนแบ่งรายได้ค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดและการขายสินค้าของที่ระลึก และรายได้ของ AAV ซึ่งอยู่ราว 3 หมื่นล้านบาท

แม้ดีลครั้งนี้จะดีงาม แต่หลายคนก็อดคิดไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งน่าเป็นแผนสำรองกรณีเพลี่ยงพล้ำเพราะอีก 4 ปีก็จะหมดสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรีก็เป็นได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,167 วันที่ 19 - 22 มิถุนายน พ.ศ. 2559