ชงของบ-หาแหล่งเงินกู้ 4 พันล้าน ลุยต่อขยายมอเตอร์เวย์ เชื่อม”อู่ตะเภา”

21 มิ.ย. 2564 | 07:00 น.

ทล.เดินหน้าสร้างต่อขยายมอเตอร์เวย์เชื่อมสนามบินอู่ตะเภา4พันล้านบาทเล็งขอเงินกู้จากคลังหลังโครงการถูกปัดตกปีงบ 65 คาดเปิดประมูลกลางปีหน้า เร่งก่อสร้างราว 2 ปีกว่า หวังเปิดให้บริการพร้อมสนามบินอู่ตะเภากระทรวงคมนาคมเร่งพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซีปลุกความเชื่อมั่นประเทศ

นายสราวุธ   ทรงศิวิไล   อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.)  เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับโครงการส่วนต่อขยายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์)  สาย 7 ช่วงพัทยา – มาบตาพุด (M7) เชื่อมท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา  ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร (กม.)  ปัจจุบัน ทล.อยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียดและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) คาดว่าจะดำเนินการออกแบบแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2564 เบื้องต้นทล.ได้ขอตั้งงบประมาณปี 2565 เพื่อขออนุมัติดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ วงเงินราว 4,000 ล้านบาท

 

 

“ล่าสุดหลังจากพระราชบัญญัติงบประมาณปี 2565 ที่ผ่านในรัฐสภานั้น ได้รับทราบว่าโครงการดังกล่าวไม่ได้อยู่ในการขอรับจัดสรรงบประมาณปี 2565 แต่ทล.ได้เสนอของบประมาณของโครงการนี้เพื่อขอแหล่งเงินกู้จากกระทรวงการคลังแล้ว  ซึ่งต้องรอดูการพิจารณาแหล่งเงินกู้ว่าจะดำเนินการอย่างไร ส่วนสาเหตุที่เราไม่ได้ใช้งบประมาณของโครงการฯจากเงินกองทุนมอเตอร์เวย์ เนื่องจากกระแสเงินสด (แคชโฟลว์) ในกองทุนมอเตอร์เวย์ ปัจจุบันสามารดำเนินการได้เฉพาะโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว (M82) เท่านั้น”

 

 

ส่วนการดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ ขึ้นอยู่กับการรับจัดสรรงบประมาณตามที่เสนอไปหรือไม่ หากได้รับงบประมาณจากแหล่งเงินกู้ของกระทรวงการคลัง จะเริ่มดำเนินการประกวดราคา ภายในกลางปี 2565 และเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2565 ใช้ระยะเวลาก่อสร้างราว 2 ปีกว่า ซึ่งจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2568 และพร้อมกับการเปิดให้บริการท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา หากในกรณีที่ทล.ไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณจากแหล่งเงินกู้ของกระทรวงการคลัง โดยทล.จะดำเนินการขอตั้งงบประมาณปี 2566 เพื่อขอรับจัดสรรงบประมาณและดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ ต่อไป หลังจากนั้นจะเริ่มประกวดราคาภายในเดือนพฤศจิกายน 2565 ทำให้โครงการล่าช้าออกไปราว 6 เดือน โดยทล.จะเร่งรัดการก่อสร้างได้ทันในการเปิดใช้งานของสนามบินอู่ตะเภาในปี 2568

 

 

รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) ระบุว่า  ด้านการเวนคืนที่ดินของโครงการฯ   มีลักษณะเป็นทางยกระดับ ส่งผลให้พื้นที่การเวนคืนที่ดินน้อยกว่าการใช้ทางระดับล่าง ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินน้อยที่สุด โดยใช้พื้นที่ของทหารเรือ ราว 40 เมตร

 

 

สำหรับแนวเส้นทางโครงการส่วนต่อขยายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์)  สาย 7 ช่วงพัทยา – มาบตาพุด (M7) เชื่อมท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา  เป็นทางแยกต่างระดับ เริ่มต้นจากมอเตอร์เวย์ช่วงพัทยา-มาบตาพุด บริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางอู่ตะเภา โดยมุ่งหน้าทิศใต้ข้ามรถไฟสายตะวันออก ซึ่งขนานกับแนวรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ตัดผ่านทางหลวง หมายเลข 3 เพื่อเชื่อมต่อเข้าสู่อาคารผู้โดยสารสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา โดยมีรูปแบบการก่อสร้างเป็น 4 ช่องจราจร ทิศทางละ 2 ช่องจราจร 

 

ทั้งนี้มอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยาย  สาย 7 ช่วงพัทยา – มาบตาพุด (M7) เชื่อมท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา  ถือเป็นด่านสุดท้ายของมอเตอร์เวย์ ช่วงอู่ตะเภา-มาบตาพุด ซึ่งเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อเข้าท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา  โยเป็นนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ปัจจุบันมอเตอร์เวย์  สาย 7 ช่วงพัทยา – มาบตาพุด-อู่ตะเภา (M7) ใช้ระบบการจัดเก็บค่าผ่านทางระบบเดิมโดยจ่ายเงินสด หรือ ผ่านบัตร M-Pass หรือ Easy Pass แต่ภายในปี 2564 ทล.จะเริ่มดำเนินการนำระบบการจัดเก็บค่าผ่านแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) มาดำเนินการบนเส้นทางสายนี้ หลังจากที่ทล.ได้นำร่องใช้ระบบจัดเก็บค่าผ่านทางบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 9  สายวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก 

 

อย่างไรก็ตามหากมอเตอร์เวย์สายดังกล่าวดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นเส้นทางคมนาคมใหม่ที่ช่วยร่นระยะเวลาการเดินทางเชื่อม เข้าสู่พื้นที่ของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อีกทั้งยังเป็นโครงการที่เชื่อมต่อโครงข่ายการคมนาคมขนส่งในทุกระบบ ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และทางราง ส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจไปยังภูมิภาค อื่นๆ ของประเทศ

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับ3689วันที่20-23มิถุนายน2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง