“คำนูณ”ชำแหละแก้รธน.สมนาคุณพรรคใหญ่ ถอดปลั๊กปราบโกง 

21 มิ.ย. 2564 | 05:56 น.

“คำนูณ”ชำแหละ 13 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ สมนาคุณพรรคใหญ่ ถอดปลั๊กรัฐธรรมนูญปราบโกง ปิดสวิตซ์ ส.ว.

วันนี้(21 มิ.ย.64) นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) โพสต์เฟซบุ๊ก Kamnoon Sidhisamarn ระบุว่า สมนาคุณพรรคใหญ่ ถอดปลั๊กรัฐธรรมนูญปราบโกง ปิดสวิทช์ส.ว. ขีดเส้นใต้ศึกแก้รัฐธรรมนูญ 13 ฉบับ 3 กลุ่ม 9 ประเด็น 

ใช้เวลาสแกนร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 13 ฉบับจาก 3 กลุ่มพรรคการเมือง คือ พรรคพลังประชารัฐ 1 ฉบับ, พรรคเพื่อไทย 4 ฉบับ และ พรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรค 8 ฉบับ 

ในมุมมองของผมขอจำแนกเป็น 9 ประเด็นกระจายอยู่ในร่างฯ ทั้ง 13 ฉบับ 

1. เปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งส.ส.เป็นระบบบัตร 2 ใบ 400 : 100 คู่ขนาน ตามแบบรัฐธรรมนูญ 2540 (พปชร., พท., พรรคร่วมรบ.) 

2. ตัดบทลงโทษรุนแรงต่อนักการเมืองและข้าราชการประจำที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการใช้งบประมาณแผ่นดิน โดยแก้ไขมาตรา 144, 185 ที่เพิ่งมีเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2560 (พปชร.) 

3. ยกเลิกอำนาจส.ว.ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี และขยายที่มาของนายกรัฐมนตรีไม่ให้จำกัดอยู่เฉพาะที่แต่ละพรรคเสนอชื่อในวันเลือกตั้งเท่านั้น โดยให้มาจากส.ส.ด้วย (พท., พรรคร่วมรบ.-ยกเว้นชพ.ที่ไม่ร่วมลงชื่อ)

4. เปลี่ยนแปลงวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยยกเลิกเงื่อนไขส.ว. 1/3 ในวาระ 1, 3 และ ส.ส.ฝ่ายค้าน 20 % ในวาระ 3 (พรรคร่วมรบ.)  

5. เปลี่ยนแปลงบทบัญญัติที่เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ (พปชร., พท., พรรคร่วมรบ.)

6. ยกระดับหมวดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและหน้าที่ของรัฐ (พปชร., พท., พรรคร่วมรบ.)  

7. ปรับแก้กระบวนการกล่าวโทษป.ป.ช. (พรรคร่วมรบ.)

8. ยกระดับหมวดการปกครองท้องถิ่น (พรรคร่วมรบ.)  

9. ป้องกันการรัฐประหาร ยกเลิกบทบัญญัตินิรโทษกรรม คสช. (พท.)

พอสรุปภาพรวมได้ดังนี้

“สมนาคุณพรรคใหญ่” (ประเด็น 1) 

“ถอดปลั๊กรัฐธรรมนูญปราบโกง” (ประเด็น 2) 

“ปิดสวิตซ์ส.ว.” (ประเด็น 3)  

เชื่อว่าเป้าหมายหวังผลเต็ม 100 คือ ประเด็น 1 และ ประเด็น 2 "สมนาคุณพรรคใหญ่" และ "ถอดปลั๊กรัฐธรรมนูญปราบโกง" โดยจะเห็นได้ว่า 2 เป้าหมายนี้อยู่ในร่างของพรรคพลังประชารัฐ พรรคแกนนำรัฐบาล ที่มัดรวมกันเข้าเป็นร่างเดียวร่วมกับประเด็นอื่นด้วย คือประเด็น 5 และ 6

เป็นร่างที่มีโอกาสผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภามากที่สุด ! 

เพราะประเด็นที่ 1 มีอยู่ในร่างของทุกกลุ่ม และแม้ประเด็นที่ 2 จะเสนอโดยพรรคพลังประชารัฐเท่านั้น แต่เชื่อว่าลึก ๆ แล้วนักการเมืองแทบทุกพรรคเห็นด้วย  

และถ้าเราเชื่อมโยงทั้ง 2 ประเด็นนี้เข้ากับสถานการณ์การเมืองที่เป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนเวลาที่เหลืออีกไม่เกิน 2 ปี รัฐบาลจะอยู่ครบเทอม การเตรียมรับมือการเลือกตั้งของทุกพรรค รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารในพรรคพลังประชารัฐ จะเข้าใจภาพรวมของการเมืองไทยในอนาคตไม่ยาก และเข้าใจได้ไม่ยากเช่นกันว่าเหตุใดพรรคพลังประชารัฐจึงผลักดันเต็มที่

ส่วนประเด็น 3, 4 "ปิดสวิตซ์ส.ว." แม้ไม่อาจหวังผลได้ เพราะยากจะได้เสียงสนับสนุนตามเกณฑ์จากส.ว. แต่ก็เป็นประเด็นที่ต้องเสนอไว้ เพื่อรักษาวาทกรรมประชาธิปไตย  

ประเด็น 6, 8 มีไว้เพื่อชี้แจงแสดงเหตุผลว่า เป้าหมายการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้คือเพื่อประชาชน ไม่ใช่เพื่อนักการเมือง 

                                         “คำนูณ”ชำแหละแก้รธน.สมนาคุณพรรคใหญ่ ถอดปลั๊กปราบโกง 

ตั้งใจจะอภิปรายตามแนวนี้ แต่จะได้มากน้อยแค่ไหนไม่แน่ใจ เพราะเวลาที่ได้รับมาจำกัดมาก 

ส่วนจะลงมติอย่างไรนั้น... 

ที่แน่นอนที่สุดคือ ประเด็นตัดอำนาจส.ว.ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ผมแสดงเจตนารมณ์ต่อสาธารณะมาตั้งแต่ปีที่แล้วว่า เห็นด้วย และเคยโหวตเห็นด้วยไปครั้งหนึ่งแล้วแม้จะไม่เป็นผล 

ณ วันนี้ไม่มีเหตุผลที่จะเห็นต่างไปจากเดิม 

ร่างฯ ใดเสนอตัดมาตรา 272 ผมลงมติเห็นชอบให้แน่นอนครับ

ประเด็นนี้ชัดเจน

นอกจากนี้ ผมยังไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 144 และ 185 ที่เป็นการถอดปลั๊กรัฐธรรมนูญปราบโกง  

แต่ไม่สามารถแยกลงมติเฉพาะประเด็นนี้ได้ เพราะเป็นประเด็นที่ถูกมัดรวมอยู่ในร่างของพรรคพลังประชารัฐ 

เรื่องระบบเลือกตั้ง โดยพื้นฐานแล้วผมไม่เห็นด้วยกับระบบบัตร 2 ใบ 400 : 100 แบบคู่ขนาน หรือ MMM : Mixed-member majoritarian ที่มี 2 กฎเอื้อพรรคใหญ่ตามแบบรัฐธรรมนูญ 2540 เพราะก่อให้เกิดวิกฤตใหญ่มาแล้ว เป็นการผูกขาดการเมืองไว้กับพรรคใหญ่ กลุ่มทุน และนักการเมืองอาชีพ ตัดหนทางพรรคทางเลือก 

แต่การจะคงระบบบัตรใบเดียวตามรัฐธรรมนูญ 2560 นับคะแนนแบบการเลือกตั้ง 2562 ก็เป็นปัญหาเช่นกัน 

ทางที่ควรจะเป็นคือการใช้บัตร 2 ใบ ในระบบสัดส่วนผสม หรือ MMP : Mixed-member proportional ตามที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เคยยกร่างไว้เมื่อปี 2558 โดยผมเป็นหนึ่งในกรรมาธิการยกร่างชุดนั้นด้วย แต่ไม่มีร่างใดของกลุ่มใดเสนอ

จะลงมติอย่างไรใน 2 ประเด็นนี้ ขอตัดสินใจอีกครั้ง 

รวมทั้งประเด็นอื่น ๆ ทั้งประเด็นยกระดับสิทธิเสรีภาพของประชาชนและหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในร่างของทั้ง 3 กลุ่ม และประเด็นปรับแก้กระบวนการกล่าวโทษป.ป.ช. ต้องขอพิจารณาลงรายละเอียดอีกครั้ง รวมทั้งฟังคำชี้แจงของผู้เสนอร่างเพื่อความชัดเจน  

วันที่ 24 มิถุนายน 2564 ได้รู้กันครับ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :