"ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์" เปิดจองวัคซีน "ซิโนฟาร์ม" สำหรับองค์กร-หน่วยงาน วันนี้

13 มิ.ย. 2564 | 21:05 น.

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เปิดรับจองวัคซีนซิโนฟาร์มจากองค์กรและหน่วยงานวันนี้ ยืนยันองค์กรเล็กใหญ่สิทธิ์เท่าเทียมกัน

หลังจากที่ "ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์" ประกาศนำเข้าวัคซีน "ซิโนฟาร์ม" (SINOPHARM) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริม สนับสนุน และประสานความร่วมมือเพื่อให้การกระจายวัคซีนในสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นไปอย่างทั่วถึงจำนวน 1 ล้านโดส ซึ่งจะมาถึงประเทศไทยเดือนมิถุนายนนี้ โดยในระยะที่ 1 จะเป็นการเปิดให้องค์กร-หน่วยงาน ได้รับสิทธิ์ในการจัดสรรวัคซีนทางเลือกก่อน ซึ่งจะมีการเปิดให้ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ขอรับการจัดสรรวัคซีนตัวเลือก "ซิโนฟาร์ม" ผ่านระบบออนไลน์ ตั้งแต่วันนี้ (14 มิ.ย. 64) เวลา 08.00 น. เป็นต้นไป

สำหรับขั้นตอนของการจองสิทธิ์นั้น ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 64 ศาสตราจารย์ นพ.นิธิ มหานนท์ ผอ.โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โพสต์เฟซบุ๊ก Nithi Mahanonda เกี่ยวกับขั้นตอนขอรับจัดสรรวัคซีนตัวเลือก "ซิโนฟาร์ม" ระยะที่ 1 โดนจะประกอบไปด้วย 6 ขั้นตอน ได้แก่ 

ขั้นตอนที่ 1 องค์กร/หน่วยงานลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ ขอรับการจัดสรรวัคซีนโควิดตัวเลือก "ซิโนฟาร์ม" ผ่านระบบออนไลน์ได้ที่ https://vaccine.cra.ac.th ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2564 เวลา 8.00 น. เป็นต้นไป

ขั้นตอนที่ 2 คณะกรรมการบริหารวัคชีนตัวเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติและจัดสรรโควต้าการกระจายวัคซีน โดยใช้ระยะเวลา 5 วันทำการ นับจากวันที่ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์

ขั้นตอนที่ 3 คณะกรรมการบริหารวัคซีนตัวเลือก อนุมัติแจ้งจำนวนวัคซีนที่ได้รับการจัดสรร ระบบจะส่งอีเมล์แจ้งรหัสให้องค์กร หน่วยงานเข้าล็อกอินเพื่อรับทราบจำนวนวัคชีนที่ได้รับการจัดสรร วิธีการชำระเงิน รอบการจัดส่ง และสถานพยาบาลที่ให้บริการฉีดวัคซีน

ขั้นตอนที่ 4 องค์กรและหน่วยงาน ทำสัญญา พร้อมชำระเงินตามเงื่อนไขข้อตกลง

ขั้นตอนที่ 5 องค์กรและหน่วยงานอัพโหลดรายชื่อผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนเข้าสู่ระบบ ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และรอการส่งวัคซีนไปยังสถานพยาบาลที่ได้เลือกไว้ตามรอบการจัดส่งที่กำหนด

ขั้นตอนที่ 6 ผู้ที่มีรายชื่อในระบบเข้ารับการฉีดวัคซีนกับโรงพยาบาลที่องค์กรและหน่วยงานได้เลือกประสานไว้ตามวันเวลาที่กำหนด


อย่างไรก็ดี "หมอนิธิ" ได้ออกมายืนยันผ่านทางเฟสบุ๊กของตนเอง โดยระบุว่า บริษัทเล็กบริษัทใหญ่ องค์กรเล็กองค์กรใหญ่ ทุกประเภทต้องตามขั้นตอนนี้เหมือนกันหมด และไม่ต้อง รีบแย่งกัน ไม่ใช่มาก่อนได้ก่อน หรือมามากได้มาก คณะกรรมการตามขั้นตอนที่ 2 มีหลักเกณฑ์ที่จะเดินตามนั้น(รายชื่อกรรมการและหลักเกณฑ์ดูได้ในเว็บไซต์ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และเว็บไซต์โรงพยาบาลจุฬาภรณ์)เพื่อให้ได้ตามวัตถุประสงค์ และให้วัคซีนกระจายทั่วถึง ไปจุดระบาดที่ระบาดหนัก และให้ความสำคัญในประเด็นความมั่นคงของสังคมเช่นการศึกษาและความต่อเนื่องของเศรษฐกิจที่จำเป็นในการดำรงชีวิตเช่นสาธารณูปโภคและอาหารเป็นอันดับต้นๆ

ทั้งนี้ จากการสำรวจของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นหน่วยงานที่ประกาศเจตนารมย์อย่างชัดเจนในการขอจองซื้อวัคซีน "ซิโนฟาร์ม" เพื่อนำไปฉีดให้กับพนักงานบริษัทเอกชนที่มีแจ้งความประสงค์เข้ามา โดยนายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธาน ส.อ.ท. ระบุว่า ความต้องการวัคซีนทางเลือกของสมาชิก ส.อ.ท. ที่แสดงเจตจำนงเข้ามาอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านโดส  เพื่อนำไปฉีดให้กับพนักงาน  แต่เนื่องจากการนำเข้าวัคซีนของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ล็อตแรกในเดือนมิถุนายนมีจำนวน 1 ล้านโดสเท่านั้น  โดยสามารถจัดสรรให้กับ ส.อ.ท. ได้ทั้งหมดตามความต้องการดังกล่าวแต่ขณะนี้มีความต้องการจากรายอื่นด้วย ดังนั้น ส.อ.ท. จึงขอซื้อในเบื้องต้นก่อน 3 แสนโดส  

สำหรับวัคซีนของ "ซิโนฟาร์ม" นั้น เป็นวัคซีนที่พัฒนาโดย บริษัทซิโนฟาร์ม (Sinopharm) ผู้ผลิตยาสัญชาติจีน ภายใต้ชื่อ วัคซีน BBIBP Cor-V สามารถใช้ได้แล้วในกรณีฉุกเฉิน โดยแนะนำให้ใช้กับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และเป็นวัคซีนแบบที่ต้องฉีดสองโดส  โดยที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศรับรองวัคซีนดังกล่าวเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 64 ที่ผ่านมา

ซิโนฟาร์มเป็นกลุ่มบริษัทยาที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน โดยวัคซีนของบริษัทดังกล่าวได้รับการอนุมัติให้ใช้เป็นการฉุกเฉินแล้วในหลายประเทศ ซึ่งนอกเหนือจากในประเทศจีนเองแล้ว ยังได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) บาห์เรน ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ฯลฯ 

นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO เปิดเผยว่า วัคซีนซิโนฟาร์ม ซึ่งผลิตโดยหน่วยธุรกิจของ บริษัท ไชน่า เนชั่นแนล ไบโอเทค กรุ๊ป (ซีเอ็นบีจี) ที่เป็นบริษัทในเครือของซิโนฟาร์ม มีประสิทธิภาพเฉลี่ย 79% สำหรับทุกกลุ่มอายุ และ 79% ในกลุ่มผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป แต่ว่าการทดลองกับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปยังมีจำนวนน้อย จึงไม่สามารถประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุได้

ข้อดีของวัคซีนซิโนฟาร์ม คือ สามารถจัดเก็บได้ง่าย ไม่ต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิต่ำมากเหมือนวัคซีนอื่น จึงเหมาะสมอย่างมากสำหรับสภาพแวดล้อมของประเทศกำลังพัฒนาที่อาจจะไม่มีอุปกรณ์พิเศษหรือรถแช่เย็นอุณหภูมิต่ำมาก ๆ สำหรับการลำเลียงขนส่งวัคซีน นอกจากนี้ วัคซีนของซิโนฟาร์มยังมีแถบตรวจสอบบนขวดซึ่งเปลี่ยนสีตามอุณหภูมิความร้อน จึงสังเกตได้ง่ายว่าวัคซีนปลอดภัยและใช้งานได้หรือไม่วัคซีนซิโนฟาร์มมีราคาจัดจำหน่ายที่ประมาณ 934 บาท/โดส สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 18-60 ปี ต้องฉีด 2 ครั้งโดยมีระยะห่าง 3-4 สัปดาห์ ส่วนผลข้างเคียงนั้น หลังฉีดอาจมีอาการเจ็บปวดบริเวณที่ฉีดวัคซีน ปวดหัว กล้ามเนื้อ ผื่นขึ้น และมีไข้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :